ธปท.ปรับจีดีพีหดตัวแรงลบ3-4.5% หวังปีหน้าพุ่ง3-5 %พท.ตั้งฉายารบ.หนี้ล้น จนทั่ว เติมหวัด ตัดงาน


ธปท.ปรับ"จีดีพี"ปีนี้หดตัวแรง ติดลบ 3-4.5% เหตุท่องเที่ยวทรุด หวังแผนกระตุ้นศก.รอบ 2 ดันปีหน้าขยายตัว 3-5% เชื่อส่งออกหดตัวลดลง แต่ปีหน้าจะขยายตัว เพื่อไทยจัดสัมมนาตั้งฉายารัฐบาล "หนี้ล้น จนทั่ว เติมหวัด ตัดงาน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2552 และคาดการณ์จีดีพีของปี 2553 โดยนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า จากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกหดตัวแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้  ธปท.จึงปรับประมาณการณ์จีดีพีปีนี้ โดยคาดว่าจะติดลบ 3-4.5% จากเดิม ที่คาดว่าจะติดลบ 1.5-3.5% โดยภาคที่ยังมีปัญหาคือการท่องเที่ยว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่ 2009  ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีผลทางจิตวิทยาต่อการท่องเที่ยว ในไตรมาส 2 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะหดตัวมากกว่าในไตรมาส 1

นางอัจนา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเศรษฐกิจที่น่าจะเริ่มทรงตัวในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เริ่มมีการผลิตเพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังขยายตัวได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงจากไตรมาสก่อน  เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนเริ่มทรงตัวช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 แต่ยังเป็นการทรงตัวในระดับต่ำ 

นางอัจนา กล่าวว่า สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน รวมถึงผลจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการตามมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล และผลจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เป็นสำคัญ ทำให้เงินเฟ้อหลุดจากกรอบเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่กำหนดไว้ที่ 0-3.5% ต่อปี แต่หากหักผลจากมาตรการรัฐบาลจะทำให้เงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรก อยู่ที่ 3.6% และไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.9% เงินเฟ้อพื้นฐานไตรมาสแรก อยู่ที่ 3.2% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.8%  อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปีจะ ติดลบ 1.5-0% เงินเฟ้อพื้นฐาน ติดลบ 0.5-บวก 0.5%

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน มากกว่านโยบายการคลังที่เชื่อว่าน่าจะใช้ได้ผลมากกว่า และการไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งต่อเนื่องของ กนง. ไม่ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคมากนัก โดยอัตราดอกเบี้ยไทยขณะนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

นางอัจนา กล่าวว่า ธปท.มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนภาคการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่จีดีพีของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ โดยช่วง 5 เดือนของปีนี้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่หดตัวมากตามอุปสงค์ของตลาดโลก คาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะหดตัวลดลงจากที่ประเมินไว้ที่คาดว่าจะหดตัว 24.5-27.5%  เป็นหดตัว 19.5-22.5% ส่วนปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 14.5-17.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 6.5-9.5%

"การใช้จ่ายภาครัฐในปีนี้ยังน้อยกว่าที่คาด แต่ยังเชื่อว่าว่าปี 2553 แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จะส่งผลได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และส่งผลต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย  ทำให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ 3-5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.5-3.5% อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวต่ำ การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด รวมถึงปัญหาเสถียรภาพรัฐบาลอาจจะกระทบต่อความสามารถในการเบิกจ่ายของภาครัฐต่ำกว่าที่คาดได้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ ธปท. ประเมินว่ามีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป" รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ว่า ที่ผ่านมาได้ใช้นโยบายการเงินเข้าไปรองรับแรงกระแทกจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ย การใช้เงินออมในประเทศมาลงทุน ซึ่งสามารถรองรับผลกระทบได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นนับจากนี้เป็นต้นไปคงต้องใช้นโยบายการคลังอย่างเต็มที่

"เรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เราได้ทำทุกอย่างแล้ว พูดง่ายๆ ว่าไม่มีอะไรจะทำอีกแล้ว จึงต้องไปแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งนโยบายการคลังต้องทำ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าไปได้ทันที" นางธาริษากล่าว

นางธาริษา กล่าวว่า การทำงานของธปท.คือการวางมาตรการล่วงหน้า เพื่อรองรับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทั้งเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยและการดูแลหนี้สินภาคครัวเรือน เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องของภาคเอกชนนั้น สำหรับรายใหญ่เชื่อว่ายังมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งจากสถาบันการเงินและช่องทางอื่นๆ เช่น การออกหุ้นกู้ แต่สำหรับรายกลางและรายย่อย อาจต้องมีมาตการช่วยเหลือ

ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า กรณีรัฐบาลมอบนโยบายให้แบงก์รับ หาทางปล่อยเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้เอกชน ก็มีข้อพึงระวัง เนื่องจากธนาคารจำเป็นต้องรักษาวินัยทางการเงินเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ซึ่งทางออกหนึ่งคือการใช้มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้และได้ผล

"ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามใช้วิธีดังกล่าว ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)แต่ที่ยังไม่เห็นความคืบหน้า เพราะธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่าเริ่มมีการค้ำประกันเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจแล้ว" นางธาริษากล่าว

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่การปล่อยกู้ตามโครงการรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดสภาพคล่อง แต่หลายโครงการไม่สามารถปล่อยกู้ได้ตามเป้าหมาย โดยธนาคารมักจะอ้างว่า หากปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐแล้ว ทำให้เกิดหนี้เสีย จะกระทบต่อการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรและผู้บริหารนั้น เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ให้แยกโครงการรัฐเป็นบัญชีพิเศษ ออกจากบัญชีปกติ จะไม่มีการนำไปประเมินร่วมกัน

ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จ.ภูเก็ต ว่า มีผลต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย ทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง และจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาเป็นบวกได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่อาจมี 2 ปัจจัยที่จะกระทบคือความตื่นตระหนกเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานเศรษฐกิจ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาเรื่อง "นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ…ช่วยชาติหรือช่วยใคร ???" ว่า ขณะนี้เงินที่กู้มายังเป็นเช็คเปล่า ไม่มีโครงการอะไรเป็นเรื่องเป็นราวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นไตรมาสที่4 ประเทศไทยเจ๊งแน่ สิ่งที่จะต้องเจอในอนาคตคือภาวะเงินฝืด เกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง คนตกงานจำนวนมาก และยังจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากไข้หวัด 2009 อีกด้วย ขอตั้งฉายารัฐบาลนี้ว่า "หนี้ล้น จนทั่ว เติมหวัด ตัดงาน"

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์