วันนี้ (13 ก.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเล็งเห็นถึงความสนใจการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของผู้สูงอายุ ที่มีค่อนข้างสูง
จึงเพิ่มสัดส่วนให้ผู้สูงอายุอีก 15,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดที่ตัดมาจากวงเงินจำหน่ายในรอบสุดท้าย ที่จะเหลือให้จองซื้อเพียง 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารทั้ง 7 แห่งรับทราบและรับไปดำเนินการ คาดว่า ผู้สูงอายุจะมีโอกาสในการจองซื้อมากขึ้น หลังจากต้องมายืนรอเข้าคิวกันตั้งแต่เช้ามืด อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายเพิ่มวงเงิน ยังคงที่ 50,000 ล้านเช่นเดิม ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุธนาคารกักตุนไว้สำหรับลูกค้านั้น ยังไม่ได้รับรายงาน แต่หากมีการกักตุนจริง เชื่อว่า คงมีการจำหน่ายหมดไปตั้งแต่ก่อนเปิดให้จองซื้อ
นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังกล่าวถึงเงิน 50,000 ล้านจากขายพันธบัตร โดยระบุจะนำเงินส่วนไปใช้หนี้เงินคงคลัง และสำรองเผื่อไว้สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเปิดจำหน่ายหรือเปิดให้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลัง วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี โดยจะเปิดจำหน่ายทั้งหมด 3 รอบ รอบแรกจำหน่ายวันที่ 13-14 ก.ค. วงเงิน 15,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจองซื้อได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท รอบที่ 2 เปิดขายวันที่ 15-16 ก.ค. วงเงิน 15,000 ล้านบาท ไม่จำกัดอายุผู้จองซื้อ โดยซื้อได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท รอบสุดท้ายระหว่างวันที่ 17, 21-22 ก.ค. วงเงิน 20,000 ล้านบาท เปิดกว้างให้แก่ประชาชนทั่วไปและไม่จำกัดวงเงินการซื้อ โดยประชาชนสามารถไปจองซื้อพันธบัตรได้ทุกสาขาของธนาคารที่เป็นผู้แทนจำหน่าย 7 แห่ง
คือธนาคารกรุงเทพ ได้รับวงเงินจำหน่ายพันธบัตร 11,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 10,100 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 8,700 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 7,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 4,500 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย 3,800 ล้านบาทและธนาคารนครหลวงไทย 3,200 ล้านบาท