ครม.ไฟเขียวรองนายกฯสั่งจ่ายงบฯกลางเพิ่มได้900ล. สำนักงบฯติงควรมีหลักเกณฑ์ชัดเจน

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล

มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอต่อ ครม. ตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย


สาระสำคัญของร่างอยู่ที่การกำหนดให้รองนายกฯสามารถอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน

หรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานของรัฐวงเงินไม่เกิน 900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มเติมจากระเบียบฉบับเดิม ที่อนุมัติวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น นอกจากนี้ยังกำหนดให้รองนายกฯแต่ละคนเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสม และความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินด้วย
การดำเนินงานดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่มีมติให้แก้ไขระเบียบเพื่อเป็นการสนับสนุนงบประมาณตามอำนาจของรองนายกฯ ให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และเพื่อประโยชน์ในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เป็นไปด้วยความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ระเบียบฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 แต่ขณะนี้สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากขึ้น จะมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มวงเงินให้มากขึ้น ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอเรื่องเข้ามา แต่ยืนยันว่าการอนุมัติเงินจะทำได้แค่ 900 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนำเสนอเรื่องดังกล่าว สำนักงานปลัดสำนักนายกฯอ้างเหตุผลการขยายกรอบวงเงินครั้งนี้ว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกฯและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค โดยแบ่งพื้นที่ตามเขตตรวจราชการ ซึ่งแต่ละคนอาจมีจำนวนเขตและจังหวัดมากน้อยแตกต่างกัน

ทั้งนี้ กรอบวงเงินในการสนับสนุนงบประมาณจะอ้างอิงจากจำนวน รองนายกฯทำให้การจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีอาจไม่สัมพันธ์และสอดคล้องกับจำนวนรองนายกอย่างแท้จริง

ประกอบกับคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ได้มีมติเห็นควรให้มีการพิจารณากำหนดกรอบวงเงินในการอนุมัติจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และเกิดประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เหมาะสมสอดคล้องกับคำสั่งของนายกฯ ประกอบกับคำสั่ง แต่งตั้งคณะทำงานที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีการดำเนินงานเป็นคณะสำหรับรองนายกฯแต่ละคนด้วย


อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอเรื่องครั้งนี้สำนักงบประมาณได้ให้ความเห็นว่า การแก้ไขระเบียบขยายวงเงินการอนุมัติของรองนายกฯดังกล่าว

ควรพิจารณาความสามารถในการเบิกจ่ายเงิน เนื่องจากการบริหารงบประมาณในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ยังมีงบปกติของจังหวัด และกลุ่มจัดสรรให้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพิ่มกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น งบประมาณที่ใช้ในภารกิจกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของรองนายกฯ ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ใช่งบประมาณซ้ำซ้อนกัน และสามารถจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


นอกจากนี้ ครม...เห็นชอบหลักการระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามโครงการไทยเข้มแข็งด้วย

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ครม.เห็นชอบหลักการระเบียบสำนัก เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งโดยสาระแล้วคือ การกำหนดแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นกรองและการใช้จ่ายเงินตามโครงการไทยเข้มแข็ง จะมีขั้นตอน กระบวนการ วิธีการที่รัดกุมเหมือนกับที่ได้เคยชี้แจงต่อสภาและประชาชน ฉะนั้น ก็จะเป็นหลักประกัน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆ หรือในกรณีที่มีเงินเหลือจ่าย ก็จะต้องคืนกระทรวงการคลัง หมายความว่าการคุมเรื่องการใช้จ่ายตามโครงการไทยเข้มแข็ง จะมีความเข้มไม่แพ้กระบวนการงบประมาณ


นายกฯกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป ในเรื่องการเปิดจองพันธบัตร จะเริ่มต้นในสัปดาห์หน้าและในวันที่ 14 กรกฎาคม

กระทรวงการคลังจะสรุปโครงการทั้งหมดที่จะดำเนินการในรอบแรกตาม พ.ร.ก.กู้เงิน บวกกับขั้นตอน ระเบียบ วิธีการ ในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วให้เป็นไปตามเป้าหมายของการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ ในส่วนของการหยุดยาว 5 วันที่ผ่านมา รายงานเบื้องต้นที่ส่งผลต่อการเดินทางโดยเฉพาะการเข้าพักในโรงแรม สายการบินในประเทศก็เป็นไปในทางบวก ซึ่งจะมีการนำตัวเลขที่ได้มาประเมินอีกครั้ง


ทางด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงที่พรรคว่า 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ตรงกันข้ามกลับสร้างหนี้จำนวนมหาศาลเฉลี่ยราย 5.6 หมื่นบาทต่อหัว

โดยรัฐบาลใช้นโยบายการคลังที่แปลกประหลาด เช่น การกู้หนี้ยืมสินมากมายถึง 8 แสนล้านบาท การขึ้นภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน โดยมองแบบง่ายๆว่าเมื่อเงินไม่พอก็บวกภาษีเข้าไป แต่ในระยะยาวจะกัดกร่อนเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งในความเห็นของพรรค รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ต้องช่วยให้ประชาชนมีรายได้ สร้างผู้ประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น ต้องเลือกโครงการที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริงๆ ในระยะยาวเพื่อจะทำผลกำไรและนำไปใช้หนี้ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับไปเลือกโครงการประเภทประชานิยมเพื่อหวังผลการเมือง


นายปลอดประสพกล่าวว่า พท.จัดสัมมนาทางออกประเทศไทยหัวข้อ "ล้างหนี้ประเทศ สร้างรายได้ประชาชน" ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม

นำโดยคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรค รวมถึงนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จะร่วมบรรยายในหัวข้อเหลียวหลัง แลหน้า จับชีพจรเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน จ.ลำพูน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอท็อปใน จ.ลำปาง ก่อนจะจัดสัมมนาทางเศรษฐกิจ พบปะผู้ประกอบการเพื่อรับทราบปัญหาทุก 3-4 กลุ่มจังหวัด ทุกสัปดาห์ ถือเป็นการคิกออฟเพื่อเตรียมเลือกตั้งภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนำการเมือง 1 นโยบาย 1 ยุทธศาสตร์ 1 กิจกรรรม ซึ่งหลังการสัมมนาทุกครั้งจะรวบรวมเป็นประเด็นเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบาย จากนั้นจะส่งไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์