นักวิชาการติงนายกฯให้"โรงแรม"ขายเหล้าวันพระใหญ่
เชื่อมีสายสัมพันธ์กัน ตอกข้ออ้างกระทบท่องเที่ยวใช้ไม่ได้ ถาม"เสธ.หนั่น"ทำเพื่อปชช.หรือประโยชน์ภาคธุรกิจ จี้"มาร์ค"จัดการด่วน ก่อนรบ.ไม่เหลือภาพลักษณ์ โพลหนุนงดเหล้าวันเข้าพรรษานโยบายดี
ยังไม่มีคำชี้แจงจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ภายหลังเครือข่ายองค์กรงดเหล้าเรียกร้องให้นายกฯ
แจงเหตุผลกรณีลงนามปรับปรุงแก้ไขลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 4 วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา แต่ยกเว้นให้ขายในโรงแรมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงแรมที่มีการจดทะเบียนที่ถูกต้องเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นักวิชาการถามสนั่นให้โรงแรมขายเหล้าวันพระใหญ่ ทำเพื่อปชช.หรือภาคธุรกิจ จี้มาร์คเร่งสางปมด่วน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจและนักการเมือง เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้รับแทบมองไม่เห็นว่าคนไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ที่สำคัญเหตุผลที่อ้างว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ ขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาก็มีการอ้างเหตุผลนี้เช่นกัน อันนั้นยังพอฟังได้ แต่การมาอ้างเหตุผลนี้กับวันสำคัญทางศาสนาดูจะไม่เหมาะสม ส่วนการที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พยายามชูเหตุผลนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่า จริงๆ แล้วมีความจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชนคนไทย หรือเพื่อประโยชน์ของภาคธุรกิจใดกันแน่
"พล.ต.สนั่น ควรเปลี่ยนแนวทางการทำงานเสียใหม่ เพราะการทำงานแบบนี้เป็นรูปแบบการทำงานของนักการเมืองแบบเก่า จับทางง่าย สังคมดูออก และหาก พล.ต.สนั่นไม่ดำเนินการใดๆ ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคม นายกรัฐมนตรีควรลงมาจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้นานๆ สุดท้ายรัฐบาลจะไม่เหลือภาพลักษณ์อีกเลย" นพ.บัณฑิตกล่าว โพลหนุน"งดเหล้าเข้าพรรษา"นโยบายดี
วันเดียวกัน "สวนดุสิตโพลล์" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายรัฐบาลที่มีมติให้ "วันเข้าพรรษา" เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จำนวน 864 คน ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2552 พบว่า ร้อยละ 33.41 ระบุว่านโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายที่ดีแต่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย ร้อยละ 23.98 ระบุว่าช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 17.55 เห็นว่าเป็นการกระทำที่ดี ได้บุญ และไม่ผิดศีล ร้อยละ 13.76 ระบุว่าขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน รวมทั้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล และร้อยละ 11.30 ระบุว่าตำรวจเองก็ควรมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นกัน
ส่วนความเห็นในช่วงวันสำคัญทางศาสนานี้ส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มเปลี่ยนไปหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 60.29 คิดว่าเปลี่ยนไป คือ ตั้งใจงดดื่มเหล้าในช่วงวันเข้าพรรษานี้ ไม่อยากผิดศีล คนในครอบครัวขอร้อง และมีการรณรงค์มากขึ้น ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 39.71 คิดว่าเหมือนเดิม เพราะดื่มอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เมาอาละวาดหรือทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ดื่มเป็นประจำ คนดื่มเหล้าไม่ใช่คนเลว ฯลฯ
สำหรับการที่รัฐบาลจะขึ้นราคาเหล้าหรือสุรามีส่วนทำให้การดื่มลดลงหรือไม่ ร้อยละ 52.69 ระบุว่า
ไม่มี เพราะไม่ได้ดื่มเป็นประจำ เป็นเงินเก็บส่วนตัวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เปลี่ยนเป็นยี่ห้ออื่นที่ถูกกว่า ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 47.31 ระบุว่า มี เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น ต้องลดปริมาณในการดื่มให้น้อยลง และดื่มในโอกาสสำคัญๆ เท่านั้น ฯลฯ
สวนดุสิตโพลล์ยังถามถึง การที่รัฐบาลห้ามขายเหล้าหรือสุราในวันสำคัญทางศาสนา ส่งผลกระทบหรือไม่ ร้อยละ 63.18 เห็นว่าไม่มีผล เพราะปกติจะงดดื่มเหล้าในช่วงวันสำคัญทางศาสนาอยู่แล้ว ไม่ได้ดื่มเป็นประจำ ฯลฯ ร้อยละ 36.82 เห็นว่าส่งผล เพราะบางร้านไม่กล้าขาย ทำให้ซื้อไม่สะดวก ถูกคนรอบข้างมองและต่อว่า ไม่มีคนดื่มด้วยเพราะกลัวบาป ฯลฯ ส่วนวิธีใดที่จะสามารถทำให้ผู้ดื่มสุราเลิกดื่มได้ ร้อยละ 57.61 ระบุขึ้นอยู่กับตัวผู้ดื่มเองมากกว่าว่าอยากจะเลิกหรือไม่ ร้อยละ 20.44 ระบุว่า คนในครอบครัวขอร้อง โดยเฉพาะลูกๆ ร้อยละ 14.09 ระบุไม่สบาย มีโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งแพทย์สั่งให้เลิกดื่ม และร้อยละ 7.86 ระบุว่าสุรามีราคาแพงมากจนซื้อไม่ได้