เมื่อเวลา 19.30 น.วันนี้ (2 ก.ค.) ที่หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานเปิดสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และมอบรางวัลให้ศิษย์เก่าดีเด่น มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักการเมือง ศิษย์เก่า ร่วมคับคั่งท่ามกลางการรักษาความปลอยภัยเข้มงวดจากตำรวจหลายร้อยนาย โดยมีการกันพื้นที่รอบหอประชุมรัศมีกว่า 200 เมตร ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รหัส 26103922 เข้าเรียนในปี 2526 โดยในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี 2552 และอ่านคำประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่นให้กับนายอภิสิทธิ์และรองศาสตราจารย์คิม ชัยแสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การเมืองไทย ไปทางไหนดี” ว่า เรื่องการเมืองไทยไปทางไหนดี
การตั้งหัวข้อบ่งบอกว่าความสับสนและผิดหวังของประชาขนต่อการเมืองยังมีอยู่ เพราะตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา 18 ปี นักการเมืองอาชีพน้อยคนที่มองในทางที่ดี ขึ้นชื่อว่าการเมือง คิดถึงเรื่องไม่ค่อยดี ทั้งเรื่องผลประโยชน์ นักการเมืองติดอับดับต้นๆที่ประชาชนไม่ไว้ใจตลอด เป็นความเจ็บปวดหนึ่งของนักการเมือง แต่นักการเมืองไปโทษสังคมไม่ได้ ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง และวงการว่าปัญหาคืออะไร เราต้องยืนยันว่า อยากเห็นการเมืองเป็นไปตามอุดมคติ เป็นการเมืองที่มีความโปร่งใส เคารพเสรีภาพประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่อุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเดินไปยังที่หมายได้ เราผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง
เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่อยู่ในใจคนไทยทุกคน ทั้ง 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ผลพวงการต่อสู้ดังกล่าว ได้ทำให้เราฝังรากลึกลงไปเรื่อยๆ แต่จะทำอย่างไรที่จะก้าวไปอีกขั้น คือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจ ส.ส.ต้องมาจากประชาชน ทิศทางนี้ต้องเดินต่อ แต่ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น วันนี้พรรคการเมืองและนโยบายระดับชาติ เป็นส่วนตัดสินใจของประชาชนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า การเมืองในระบบบพรรคการเมืองในวีถีประชาธิปไตย ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ทำให้การเมืองไม่เป็นไปตามต้องการคือ เราต้องเผชิญกับภาวะไม่แน่นอน และความถดถอยเรื่องการใช้อำนาจของผู้ได้รับเลือกตั้ง
มาร์คยันไปอีสานได้แม้มีส.ส.น้อย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า พอการเมืองสะดุด เราบอกว่า สะดุดเพราะมีผู้ไม่มีประชาธิปไตยมารัฐประหาร อันนั้นไม่ปฏิเสธ
แต่ส่วนใหญ่การที่คนมักเพิกเฉยเวลาเกิดรัฐประหารไม่ได้เพราะคนฝักใฝ่ในระบอบอื่น แต่เพราะบ้านเมืองเกิดทางตัน ดังนั้นทุกคนต้องทบทวนว่า อะไรเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหาร ประกาศคณะปฏิวัติแทบทุกสมัยสามารถใช้ฉบับเดียวกันได้เลย คือเหตุผลเรื่อง ทุจริตคอร์รัปชัน ความแตกแยกในสังคมใช้อำนาจเกินขอบเขต แทรกแซงระบบราชการ หรือไปทำอะไรที่กระทบสภาบันหลักของชาติ ดังนั้นเราต้องทบทวน การใช้อำนาจที่ผิด ตั้งแต่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน สังคมเราบ่อยครั้งยังมีความเชื่อว่า การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องปกติทำได้ ขอยืนยันว่า ตราบใดที่ค่านิยมนี้ยังอยู่ การเมืองไทย บ้านเมืองเรา จะตกอยู่ในภาวะอันตราย เพราะเชื่อว่าในที่สุดสังคมจะไม่ยอมให้คนใช้อำนาจที่มีเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และพวกค่านิยมว่าโกงไม่เป็นไรอย่างน้อยเอามาแบ่งให้ประชาชนได้ ไม่ใช่
วันนี้พิสูจน์แล้ว เรื่องฆ่าตัดตอน ภาคใต้ การไปละเมิดสิทธิ์ โดยเฉพาะภาคใต้ กลายไปเป็นการสร้างวงจรที่เลวร้ายให้ปัญหาลุกลามขึ้น เราพยายามสกัดกั้นการทุจริตมาตลอด มีองค์กรติดตามตรวจสอบซับซ้อนที่สุดประเทศหนึ่ง คือองค์กรอิสระ แต่เราเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อนการรัฐประหารคือ ไม่หยุดการใช้อำนาจแค่ของตัวเอง แต่ก้าวไปแทรกแซงองค์กรอื่น เกิดปัญหาขัดแย้งออกมาตามท้องถนน สุดท้ายเกิดโกลาหลทางการเมือง จนเกิดรัฐประหาร ดังนั้นการแก้ปัญหาคือระบบการคานอำนาจตรงนี้ต้องคงอยู่และสามารถทำงานได้ตรงไปตรงมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องเสียงส่วนใหญ่ การจะเอาจำนวนเสียงข้างมากมากำหนดว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิดกฎหมาย แล้วละเมิดสิทธิคนอื่น ต้องระมัดรัง
ต้องไม่สนับสนุนให้เสียงข้างมาก ให้นำไปสู่การใช้อำนาจโดยไม่มีขอบเขต แล้วใครอย่าไปคิดว่า สรรหาหรือแต่งตั้งแล้วไม่มีซื้อเสียงหรือซื้อตำแหน่ง เพราะซื้อในการสรรหาและแต่งตั้ง ง่ายกว่าต้องไปซื้อประชาชนทั้งหมด แต่เชื่อว่าประชาชนเรียนรู้และฉลาด ดีไม่ดีนักการเมือง พรรคการเมืองที่ตามประชาชนไม่ทัน และเรื่องซื้อเสียง ไม่แน่ใจว่าใครเป็นเหยื่อใคร การประท้วงการแสดงออกคัดค้านนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องมีขอบเขต การใช้สิทธิ์ แต่ข่มขู่ใช้ความรุนแรง ปิดถนน ใช้อำนาจหน้าที่ตัวเอง มาต่อรอง ตนว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย รูปแบบการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่จิตใจของคนที่มีประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าการชุมนุมก่อนสงกรานต์สามารถทำได้ แต่เหตุที่เกิดในช่วงสงกรานต์ ไม่ใช่ประชาธิปไตย
“ผมถูกผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถเดินทางไปภาคเหนือ อีสาน หรือพื้นที่ที่พรรคผมมี ส.ส.น้อยได้หรือไม่ ผมอยากบอกว่า ผมไปได้ และกล้าพูดด้วยว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหา ในการที่ผมหรือรัฐมนตรีในคณะจะไป แต่มีคนกลุ่มหนึ่งแสดงจุดยืนจะขัดขวาง ไม่ให้ผมไป ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ วันที่ผมเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลในขณะนั้นเจอปัญหานี้ ผมให้สัมภาษณ์เลยว่าไม่เห็นด้วยกับการขัดขวางการทำหน้าที่ของนักการเมือง เราต้องให้โอกาสเขาแก้ปัญหาประชาชน ก็เปิดโอกาสให้ผมไปสิครับ แล้วคนที่นั่นจะตัดสินเอง แต่ทำแบบนี้ขัดหลักประชาธิปไตย ผมเองไม่อยากเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่ผมว่าสังคมไทย ต้องชัดเจนว่าเราจะปล่อยให้ค่านิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของคนกลุ่มหนึ่ง มาขัดขวางประชาธิปไตยของประเทศที่จะก้าวไปอีกขั้นหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว