กฟน.ฉุนกรณ์กลับลำขู่ไม่เอาปชป. กมธ.รุมซักกก.รัฐวิสาหกิจชี้ขาดทุนเพียบ ตั้งบอร์ดไม่มีระบบคุณธรรม


สหภาพกฟน.ซัด "กรณ์" กลับลำเรื่องนโยบายค่าครองชีพ ขู่ขึ้นป้ายไม่เอาปชป. ส่วนกมธ.งบประมาณรุมถล่มคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ ชี้ขาดทุนมหาศาล ไม่ใช่ระบบคุณธรรมตั้งบอร์ด การรถไฟเร่งตั้งแอร์พอร์ตลิงค์ วอนสหภาพฯต้องการอะไรพร้อมจะยอมรับ


ปธ.สหภาพกฟน.ซัด"กรณ์"กลับลำ
 
นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) กล่าวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ถึงกรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์( ปชป.) คัดค้านการจ่ายค่าครองชีพช่วยคราว คนละ 2,000 บาท ให้พนักงาน ว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเมือง มีการดิสเครดิตกันเอง ระหว่างพรรคปชป. กับพรรคภูมิใจไทย(ภท.) โดยเอาสหภาพฯเป็นตัวประกัน ทั้งที่เรื่องนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องมาแล้ว ก่อนหน้านี้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพูดกับตนพร้อมทั้งชมว่ากฟน. ทำกำไรได้มาก ถือเป็นเรื่องที่ดี เรื่องเงิน 2,000 บาท ไม่มีปัญหา จะดำเนินการให้เรียบร้อย แต่ทำไมตอนนี้กลับพูดอีกอย่าง จึงขอเตือนรัฐบาลว่าอย่าหูเบา เพราะกระทรวงการคลังทำรัฐบาลพังมาหลายรัฐบาลแล้ว บอร์ดของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็มีแต่พักพวกนักการเมืองมานั่งกินเงินเดือนสูงๆ ทำไมงานนี้จึงเอาพนักงานกฟน.เป็นตัวประกัน และทำให้สังคมเกลียดชัง
 
"พวกเราก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ทำไมไม่ได้รับการดูแล เศรษฐกิจแย่เราก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่องค์กรมีกำไรมหาศาล และที่ผ่านมาเราช่วยตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานหลายๆเรื่อง เราสามารถรักษาเงินให้กับองค์กรนับ 1,000 ล้านบาท แล้วทำไมแค่เดือนละ 12 ล้านบาทที่พวกเราขอ กลายเป็นเรื่องที่ผิดมาก จึงร้องขอความเป็นธรรมบ้าง " ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวงกล่าว

ขู่ขึ้นป้ายไม่เอา"ประชาธิปัตย์"
 
นายเพียรกล่าวว่า ทุกปี กฟน.จะนำผลกำไรส่งคลังปีละ 30 % แต่ปีนี้รัฐบาลเห็นว่ากฟน. มีกำไรมาก จึงขอเพิ่มเป็น 45% เราก็ไม่ว่า แต่พอเราขอบ้างก็มาบอกว่าขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน เมื่อ ส.ส.พรรค ปชป.ออกมาระบุว่า กฟน.เป็นของประชาชน จึงขอท้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายกรณ์ ให้มาทำสัญญากับ กฟน. ว่ากระทรวงการคลังจะไม่เอาเงินจากผลกำไรของกฟน. และนำไปคืนให้ประชาชน 2.7 ล้านครัวเรือน โดยให้โบนัสทุกสิ้นปีด้วยการไม่เก็บค่าไฟ รัฐบาลจะยอมหรือไม่ หากรัฐบาลที่บอกว่ารักประชาชนจริงต้องกล้าที่จะทำให้ประชาชน เพราะกฟน.ไม่ใช่ของนายกฯ อีกทั้งนโยบายค่าไฟฟรี 80 หน่วยต่อเดือนนั้น เป็นนโยบายที่หลอกลวงประชาชน เพราะมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ไม่ต้องจ่าย เพราะตัวเลขที่ตั้งนั้นต่ำไป รัฐบาลที่แล้วตั้งไว้ 150 หน่วยต่อเดือน ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่รัฐบาลนี้ไม่ใช่ของจริง เอาแต่หน้า
 
"พรรคประชาธิปัตย์กลัวว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้หน้า จะได้ฐานเสียงในกรุงเทพฯ ตอนที่สหภาพองค์การรถไฟฟ้ามหานคร(รฟม.) ขอขึ้นมากกว่านี้ทำไมไม่มีใครว่า ทำไมเล่นการเมืองแล้วเอาพนักงานมาเป็นเครื่องต่อรอง ขอเตือนว่าอย่าเล่นกับ สหภาพฯกฟน. ขอให้พรรคประชาธิปัตย์คิดให้ดี อย่าคิดว่าตัวเองฉลาดอยู่คนเดียว ขอให้ทบทวนใหม่ ถ้ามีการขึ้นป้ายไม่เอาประชาธิปัตย์ รับรองสะเทือนแน่ ระวังรัฐบาลจะอยู่ยาก เคยมีคนบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เผด็จการ แต่ตอนนี้นายอภิสิทธิ์ เผด็จการมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณเสียอีก " นายเพียรกล่าว

มท.ปูด"ถาวร"ชงกปน.ก่อน
 
รายงานข่าวจากกะรทรวงมหาดไทยแจ้งว่า การเสนอขอค่าครองชีพชั่วคราวของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยนั้น เริ่มจากนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลการประปานครหลวง(กปน.)  เป็นผู้เสนอในส่วนของ กปน. ให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาก่อนที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกฟน.จะเสนอในส่วนของ กฟน.ตาม  และก่อนที่จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทางกระทรวงหมาดไทยก็สั่งให้ทบทวนแล้วหลายรอบ เพราะเรื่องนี้มีการเสนอมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่เมื่อนายชวรัตน์ นำทั้ง 2 เรื่องเสนอที่ประชุม ครม. และสังคมวิพากษ์วิจารณ์ นายถาวรกลับนิ่งเงียบ ทั้งที่ตัวเองเป็นคนเริ่ม

มูลนิธิผู้บริโภคแนะรื้อค่าไฟฐาน
 
ด้านนายอิฐบูลย์ อ้นวงศา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเสนอจ่ายค่าครองชีพแก่พนักงาน กฟน.และกปน. เดือนละ 2 พันบาท ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีเงินสวัสดิการที่เป็นเงินช่วยเหลือสำหรับค่าไฟและค่าน้ำตามอัตราเงินเดือน ซึ่งได้รับอยู่ก่อนที่รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเสียอีก กฟน.มีกำไรมหาศาลถึง 4 พันล้าน ซึ่งมากจนเกินไป และเกิดจากเอารัดเอาเปรียบประชาชน
 
นายอิฐบูลย์กล่าวอีกว่า สัดส่วนจากค่าไฟนั้นมาจากค่าไฟฐาน 2.3 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฐานนี้ไม่ได้ปรับให้สะท้อนกับความเป็นจริงมานานแล้ว ทั้งที่ความจริงสามารถปรับลดได้ แต่กฟน.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ไม่เคยปรับรื้อโครงสร้างราคา เรื่องนี้กระทรวงการคลังสามารถเข้าไปจัดการสัดส่วนของบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชนได้ ตอนนี้สัดส่วนของบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีนักการเมืองและนักเทคนิคอยู่จำนวนมากจนทำให้ทิศทางของการบริหารไม่สอดคล้องกับการดูแลผลประโยชน์ของประชาชน เพราะบุคคลเหล่านั้นบริหารเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด โดยไม่ได้สร้างสมดุลย์ให้กับผู้บริโภค จึงขอให้รื้อบอร์ดรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเสียใหม่
 
กมธ.งบประมาณรุมซัดกก.นโยบายรัฐวิสาหกิจ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณางบฯของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จำนวน 113 ล้านบาท ปรากฏว่า กมธ.จากทุกพรรคผลัดกันซักถามถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)รัฐวิสาหกิจ จำนวน 350 คน เพราะไม่ได้มาจากระบบคุณธรรม บางคนทำธุรกิจตัวเองยังขาดทุน นอกจากนี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีอำนาจสูงกว่าสคร. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการเหล่านั้น จะมีการควบคุมดูแลการบริหารงานอย่างไร
 
นอกจากนี้ กมธ.ยังซักถามถึงบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) ที่อ้างว่าขาดทุนเพราะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ค่าโดยสารของการบินไทยยังค่อนข้างแพง รวมทั้งกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีหนี้สินจำนวนมาก ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งนำระบบรางคู่มาใช้

นายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กมธ. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ กฟน.และกปน. ขอค่าครองชีพเดือนละ 2 พัน โดยอ้างว่ามีกำไร เพราะรัฐวิสาหกิจผูกขาดการจัดทำบริการสาธารณะ และขอให้ปรับลดงบโครงการจ้างที่ปรึกษาในการบริหารหลักทรัพย์ และงบประชาสัมพันธ์รวม 22 ล้าน ลงไปเพราะไม่จำเป็น ส่วนการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ก็เห็นใจที่ขาดทุน เพราะมีการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร   
 
ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กมธ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ของรัฐวิสาหกิจเช่น การรถไฟ รัฐบาลต้องคิดกลไกหรือเครื่องมือเช่น อาจการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แยกรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ออกเป็นขนาดย่อยๆหลายๆแห่ง  ไม่ใช่ใครมาประท้วง รัฐบาลก็ตั้งท่าจะแก้ทั้งหมด แบบนี้ก็เจ๊ง และจะเอาเงินที่ไหนไปแจก 
 
อ้างโครงการเอ็นจีวี 4 พันคันช่วยแก้ปัญหาหนี้ขสมก.ได้
 
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสคร. ชี้แจงว่า ที่มาที่ไปของคณะกรรมการบริหาร ตามระเบียบกำหนดไว้ 3 วิธี คือ มาจากเปิดประกาศสรรหา การเสนอรายชื่อ และการคัดเลือกบุคคล โดยทุกวิธีการมีการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด เช่น ต้องไม่มีคดีทุจริต ไม่มีสภาพล้มละลาย นอกจากนี้ เมื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ก็จะมีการติดตามตลอด ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ สคร.มีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและมีการกำหนดตัวชี้วัด อย่างไรก็ดี ที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งยังขาดทุนมีเพียง การรถไฟ การเคหะแห่งชาติ เอสเอ็มอีแบงก์ และขสมก.ซึ่งขาดทุนมาตั้งแต่อดีต โดยพยายามแก้ไขมาตลอด เช่น ขสมก. แต่เรื่องนี้ก็ต้องทำควบคู่กับกระทรวงต้นสังกัดคือกระทรวงคมนาคม ซึ่งตอนนี้มีแผนฟื้นฟูโดยโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันอยู่ หากทำสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องให้กระทรวงไปพิจารณาเส้นทางที่ไม่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน ส่วนการรถไฟ ที่ขาดทุนต่อเนื่องเพราะกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขององค์กรประเภทรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องไม่แสวงหากำไร และบริการประชาชน ขณะที่การเคหะฯ ในส่วนบ้านเอื้ออาทร ขาดทุนเพราะวางแผนผิดพลาด 
 
ขณะที่นางดนุชา ยินดีพิธ รองผู้อำนวยการสคร. ชี้แจงว่า เรื่องเพิ่มค่าครองชีพ 2 พันบาท ให้กับพนักงานการไฟฟ้า และการประปา ต้องรอครม.พิจารณา และต้องคุยกับรัฐมนตรีที่กำกับทั้งสองหน่วยงาน แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า การจ่ายทุกคนทุกรัฐวิสาหกิจ ณ เพดานเงินเดือนต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ที่มีพนักงานรวมกัน 2 แสนกว่าคน ต้องจ่าย 6.6 พันล้านบาทต่อปี แต่พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีโครงสร้างสูงกว่าข้าราชการอยู่แล้ว มีโบนัสประจำปี มีสวัสดิการ กรณีนี้จึงเป็นภาระที่สูงมาก
 
บี้กรมสรรพากร แจงรายได้ ยึด-ขายทรัพย์สินทอดตลาด 

ต่อมาเวลา 14.30 น. นางนฤมล ธารดำรง ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 แถลงความคืบหน้าในการประชุมว่า กมธ.ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงการคลังในส่วน สคร. ซึ่งแม้จะมีงบประมาณแค่ 100 กว่าล้าน แต่เป็นหน่วยงานที่กำกับรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศกว่า 58 แห่ง และมีบางแห่งขาดทุนและแบกหนี้สินกว่า 1 แสนล้าน โดยกมธ.ไม่รู้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสคร.มากน้อยแค่ไหน และมีมาตรการเร่งด่วนแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งกมธ.ได้ขอรายละเอียดแผนปรับปรุงประสิทธิภาพบรรดารัฐวิสาหกิจต่างๆเพิ่มเติม ก่อนจะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ การประชุมตลอดวันที่ 25 มิถุนายน ได้พิจารณางบฯ ของกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กรม  ได้แก่ กรมบัญชีกลาง  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร ในส่วนกรมศุลกากร ที่ตั้งงบไว้กว่า 2,480 ล้าน ไม่ได้มีการปรับลดลง แต่มีการตั้งข้อสังเกตให้หน่วยงานนี้เข้มงวดในการจัดเก็บภาษีสินค้าผ่านแดน เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่และน้ำมัน มาขายในประเทศไทยโดยไม่เสียภาษี ส่วนงบฯกรมสรรพสามิต และกรรมสรรพากร ที่ตั้งงบฯเท่ากันคือ 1,982 ล้านบาท ไม่มีการปรับลด แต่กมธ.ได้ส่งเรื่องไปยังอนุกมธ. ให้พิจารณากรณีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด โดยขอให้กรมสรรพากรชี้แจงรายละเอียดของทรัพย์สินที่ยึดและทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด รวมถึงกรณีที่มีผู้ไม่เสียภาษี โดยให้กรมสรรพากร ชี้แจงด้วยว่า นำรายได้ที่ได้จากการขายทรัพย์สิน เข้าสู่กระทรวงการคลังแล้วหรือไม่ รวมถึงมีการจัดการอย่างไร

กมธ.ฝ่ายค้านแนะตั้งกก.ติดตามการใช้กู้เงิน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ในช่วงเย็น มีการพิจารณางบฯของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งได้รับการจัดสรร 1.98 แสนล้านบาท โดยเป็นงบฯรายจ่ายอื่น จำนวน 1.97 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การชำระคืนต้นเงินกู้ 3.94 หมื่นล้านบาท ชำระค่าธรรมเนียมจัดการและค่าผูกพันเงินกู้ 763 ล้านบาท ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 1.57 แสนล้านบาท  ซึ่งกมธ.หลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องพ.ร.ก.และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท ที่สำนักงานฯเป็นผู้จัดทำแผนและเสนอต่อรัฐบาล โดยนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้เสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยที่สำนักงานมีข้าราชการเพียง 100 กว่าคน จึงสงสัยว่าจะบริหารหนี้สาธารณะทั้ง 8 แสนล้านบาทอย่างไร จึงขอให้สำนักงานฯ นำรายละเอียดของโครงการมาให้กมธ.พิจารณาด้วยในสัปดาห์หน้า เพราะตอนร่างพ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีเอกสารเพียง 3 แผ่น และใช้ผ่านสภา 3 วาระรวด จำนวน 13 มาตรา ด้วยเวลา 13 นาทีเท่านั้น โดยกมธ.ต้องการทราบว่า แต่ละกระทรวงที่ใช้ช่องพ.ร.ก. และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ในการสนับสนุนการดำเนินการในโครงการต่างๆเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณของกมธ. เมื่อถึงการพิจารณางบประมาณของกระทรวงต่างๆ และกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาติดตามการใช้งบประมาณในส่วนพ.ร.ก.และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ด้วยหรือไม่
 
ร.ฟ.ท.เร่งตั้งบริษัทแอร์พอร์ตลิงค์ วอนสหภาพฯต้องการอะไร
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.จะหารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. (สร.ร.ฟ.ท.) โดยจะพยายามชี้ให้เห็นความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ก่อน ส่วนสร.รฟท.ต้องการอะไรก็ขอให้บอกมาและพร้อมจะยอมรับ  เพราะมีความล่าช้า ไม่ทันเปิดเดินรถในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ จะสร้างความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากได้ว่าจ้างให้สถาบันศศินทร์ไปหาบุคลากรเข้ามาทำงานในบริษัทแล้ว และจำเป็นต้องมีคนเข้ามารับการฝึกอบรมในการเดินรถ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการทดสอบเดินรถ
 
"จำเป็นต้องขอให้สร.ร.ฟ.ท.เห็นชอบกับเรื่องนี้ก่อน ส่วนบริษัทเดินรถหรือส่วนอื่นนั้นค่อยตั้งทีหลังก็ได้ โดยให้ สร.รฟท.ดูบริษัทแอร์พอร์ตลิงค์เป็นตัวอย่างก่อน”
 
แหล่งข่าวยันว่า แผนปฏิบัติการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูฐานะทางการเงินของร.ฟ.ท.ที่ผ่านมาครม. ไม่ใช่เป็นการแปรรรูปและไม่มีแนวคิดที่จะขายหุ้นในเอกชน เพราะบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมาดำเนินการจัดตั้งโดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีสิทธิพิเศษคือสามารถบริหารงานแบบเอกชนได้
 
“หากจะมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อนำไปสู่การแปรรูปตามที่ สร.รฟท.กล่าวหา วิธีการคือจะต้องแก้ไขพ.ร.บ.การรถไฟฯก่อน แต่บริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวเลย  แต่จัดตั้งบริษัทเพราะต้องการให้บริหารกิจการรถไฟได้โดยไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยาก”

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์