ตรวจการบ้าน6เดือนรบ.มาร์ค


แล้วรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บริหารประเทศมาครบ 6 เดือน

เป็น 6 เดือนที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา ทั้งวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาสังคม หลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะวิกฤตไฟใต้ที่กลับมาปะทุหนักอีกรอบ

โพลจึงให้คะแนนรัฐบาลสอบตก ประชาชนไม่ปลื้มการแก้ปัญหาปากท้อง การทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่ได้รับการสะสาง

นักวิชาการที่ติดตามการบริหารประเทศตั้งแต่ต้น มีความเห็นและมุมมองต่อรัฐบาลดังนี้

สมพงษ์ จิตระดับ

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

งานตามนโยบายในภาคสังคมยังไม่โดดเด่น เต็ม 10 ได้แค่ 5 พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศเคยประกาศชัดจะให้ความสำคัญกับนโยบายภาคสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายกฯลงไปจับเองทุกเรื่อง ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนี้

ผ่านมา 6 เดือน ผลในภาคปฏิบัติหรือผู้เกี่ยวข้องกระทรวงต่างๆ ที่จะนำนโยบายของนายกฯไปสานต่อ เกิดขึ้นน้อยมาก จนทำให้หลักการดีๆ ที่นายกฯแสดงวิสัยทัศน์ไว้ยังล่องลอยอยู่

ทางที่ดีควรมีคณะทำงานฝ่ายการเมืองทำหน้าที่รวบรวม และจัดกลุ่มนโยบาย โดยเรียงตามลำดับความสำคัญ เพื่อติดตามการดำเนินงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

การทำงานของกระทรวงด้านสังคม ไม่ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ วัฒนธรรม ศึกษาธิการ และมหาดไทย มีปัญหาการเมืองแทรกแซงนโยบายอย่างมาก

รัฐมนตรีก็ไม่ใช่คนที่ได้รับความสนใจจากภาคสังคมอย่างแท้จริง มีประสบการณ์ด้านนี้น้อยไป

การเข้าใจองค์รวมของภาคสังคมและรู้จักเชื่อมโยงบูรณาการอยู่ในระดับต่ำ ต่างคนต่างทำงาน กระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่ค่อยมีไฮไลต์ให้เห็น

อาจมีบ้าง เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมของกระทรวงวัฒนธรรม

แต่หากเปรียบเทียบกับเวลาที่ผ่านมา 6 เดือน ควรมีผลงานชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างกว่านี้ ให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของนายกฯและรัฐบาล ไม่ใช่ประเมินแล้วอยู่ในระดับเฉียดฉิว

โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ สร้างความผิดหวังให้กับสังคมมาก นโยบายแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำควรดีกว่านี้ ในฐานะคนในพื้นที่และรู้ปัญหาดี

ปัญหายาเสพติด แม้นโยบาย 5 รั้วของรัฐบาลเดินมาถูกทาง แต่การทำงานยังไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงาน ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ทำงานตัวใครตัวมัน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันกับจำนวนยาเสพติดที่แนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

นโยบายภาคสังคมควรชัดเจนกว่านี้ อาจตั้งกรอ.ภาคสังคมขึ้นมาเพื่อดูนโยบายว่ามีอะไรบ้าง แล้วบูรณาการระหว่างกัน ติดตามประเมินผลว่าทำไปแล้วเกิดผลอย่างไร ให้เกิดความก้าวหน้าและเข้าใจตรงกัน

พร้อมสรุปด้วยว่าไฮไลต์งานด้านสังคมที่ควรทำอย่างต่อเนื่องมีเรื่องใดบ้าง จะได้โฟกัสให้ชัดเจน

เพราะประชาชนอยากเห็นนโยบายด้านสังคมที่โดนใจ แก้ปัญหาได้ตรงจุด

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

รัฐบาลอยู่รอดมาได้ 6 เดือนนับว่าเกินความคาดหมาย เนื่องจากต้องผ่านสงกรานต์เลือด ความขัดแย้งเหลืองแดง และรัฐบาลก็ขึ้นสู่อำนาจบนเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ไม่ธรรมดา

แต่จากการทำงาน 6 เดือน เรื่องการสร้างสมานฉันท์เยียวยาความแตกแยกสอบตก

แม้หลังสงกรานต์จะตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดูจริงๆ แล้วไม่คืบหน้า ตอกย้ำความขัดแย้งเผชิญหน้าว่ายังมีอยู่และจะกลับมาอีก

ภาวะผู้นำในการบริหารจัดการให้บ้านเมืองมีประสิทธิภาพปราศจากเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ยังงั้นๆ มีโครงการที่ล่อแหลมทุจริตอยู่ แต่รัฐบาลยังสามารถควบคุมเพื่อดำรงพรรคร่วมไว้ได้ ซีกรัฐบาลยังไม่แตกไม่ล้ม

การจัดการบริหารประเทศ ทหารมีบทบาทสูงทางการเมือง หลังสงกรานต์ทหารยังมีบทบาทใหญ่ ภาพลักษณ์รัฐบาลยังสลัดทิ้งไม่ได้

การต่างประเทศถือว่าล้มเหลว ไทยอยู่ในจุดต่ำสุดทางการทูตในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ต้องเลื่อนไปจัดเดือนต.ค.

ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านก็มีนิมิตหมายไม่ดี การมีปัญหากับเขมรสืบเนื่องจากการเมืองภายใน ข้อจำกัดรัฐบาล แต่ต้องให้เครดิตนายกฯที่เดินทางไปพูดคุยกับเขมรเอง แต่ไม่ได้บอกเรื่องจดทะเบียนเขาพระวิหารร่วม มาพูดทีหลังจะเป็นปัญหาบานปลายได้

ภารกิจกอบกู้เศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและรับมือเศรษฐกิจโลก ยังเร็วไปที่จะประเมิน

รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกู้เงิน 1.43 ล้านล้านบาท นอกจากพ.ร.บ. และพ.ร.ก.เงินกู้ 8 แสนล้านบาท ยังมีอีกหลายส่วนเป็นการกู้เงินอนาคตมาใช้แต่ยังไม่ชัดเจน

รัฐบาลพยายามทำให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติ แต่บ้านเมืองตอนนี้ยังไม่นิ่ง สิ่งที่ต้องเร่งทำอีก 6 เดือนข้างหน้าคือ สร้างมาตรการให้ประเทศที่ยังมีความรุนแรง แตกแยก กลับมาสู่สภาวะปกติ

ต้องให้น้ำหนักและโอกาสในการปฏิรูปการเมือง กำจัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่บ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล เช่น การเช่าซื้อรถเมล์ที่โจ๋งครึ่มว่าหลายฝ่ายรับไม่ได้ พรรคร่วมแบ่งเค้กกันลำบาก ความชอบธรรมจะโดนกัดกร่อน

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากกู้เงิน รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าพยายามสร้างรายได้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะเงินที่กู้มามีเรื่องค่าคอมมิสชั่น จะเอาเงินอนาคตมาใช้ผลาญกินด้วยไม่ได้

มิฉะนั้นจะสร้างบาปให้กับลูกหลาน

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

ผลโพลสอบตกอาจเป็นเพราะชาวบ้านเห็นว่าปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหาว่างงานและการส่งออก รัฐบาลแก้ไขไม่ตรงจุด ไม่คลี่คลาย ไม่ได้สัมผัสปัญหาที่เป็นเรื่องใหญ่

ผมมองว่ารัฐบาลสอบผ่าน พยายามแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจ บริหารงานต่อเนื่องตั้งแต่มาตรการกระตุ้นระยะแรกจนถึงรอบสอง ที่เคยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งให้ชาวบ้านจ่ายเงินผ่านเช็คสองพัน

แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าแก้ไม่ตรงเป้าก็ลงมาเล่นที่โครงการโดยตรง ให้น้ำหนักกับการลงทุน จี้ลงไปถึงการใช้เงินจริง เน้นที่เศรษฐกิจจริง เป็นการปรับปรุงนโยบาย ที่ทันท่วงที

แต่ในแง่การลงมือปฏิบัติหรือผลักดันให้เห็นผลยังล่าช้า อาจเพราะเป็นรัฐบาลผสม หรือไม่จี้ให้ถึงแก่นของส่วนราชการ หรืออาจเพราะอุปสรรคระเบียบ กฎหมายภาครัฐที่ล่าช้า ล้าสมัย ซับซ้อน ยุ่งยาก

ต่อจากนี้รัฐบาลต้องเน้นแก้ปัญหานี้ไปพร้อมกับเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดีอย่างไรแต่เมื่อถึงขั้นตอนขับเคลื่อนไม่ทำงานก็เป็นปัญหา

ปัญหาของไทยขณะนี้คือว่างงาน แต่ 3 เดือนแรกไม่มีนโยบายลงไปแตะเลย เพิ่งจะมาระยะหลังที่รัฐบาลหาเงินทุ่มลงไปให้เกิดการจ้างงาน ถ้าเน้นมาตั้งแต่ต้น ปัญหาคงเบาบางกว่านี้

แผนกู้เงิน 8 แสนล้านบาท อาจเป็นข้อหนึ่งที่ชาวบ้านให้สอบตก หลายคนมองในแง่ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายเงินเพิ่มในระบบเงินจากคลังหลวงก็ไม่มีแล้ว ต้องหันมากู้ เพิ่มภาระให้กับชาวบ้าน หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นก็คือหนี้ในอนาคตของคนไทย

แต่อีกมุมหนึ่ง การกู้เท่ากับสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ว่าโครงการที่รัฐบาลเตรียมไว้จะผลักดันอย่างจริงจังแน่นอน หากเศรษฐกิจโลกแย่ต่อเนื่อง บ้านเราก็ยังมีโครงการเหล่านี้รองรับคนตกงาน เลี้ยงปากท้องต่อไป

6 เดือนต่อจากนี้ จุดสำคัญของรัฐบาลไม่อยู่ที่นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่ได้กระตุ้นให้เอกชนลงทุน ไม่มีแรงพอจะผลักตัวเองไปข้างหน้า ต้องหันมาที่นโยบายการคลังซึ่งทำต่อเนื่องมา เร่งการใช้จ่ายไม่ให้รั่วไหลหรือกินหัวคิวคอร์รัปชั่นกันอีก

อาจต้องพิจารณาปรับลดภาษีเพื่อสร้างกำลังซื้อกำลังการผลิตให้เอกชน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์