ที่รัฐสภา วันนี้ (24 มิ.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กล่าวถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตว่า เมื่อมีการเพิ่มภาษีสรรพสามิตก็จะปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งจะเท่ากับพิกัดอัตราภาษี ยืนยันการปรับภาษีไม่ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นขณะนี้เป็นไปตามราคาน้ำมันตลาดโลก เมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อราคาหน้าปั้มที่ต้องสูงตาม ทั้งนี้ ยังคงยืนยันตามมติเดิมของสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่ของสภาฯที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง รัฐบาลจะนำเข้าสู่การพิจารณาทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุม เมื่อถามว่าในอนาคตถ้ามีการเพิ่มค่าครองชีพ จะนำเรื่องภาษีน้ำมันมาช่วยด้วยหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาทบทวนให้รอบคอบ เพราะการตัดเรื่องดังกล่าวออกจากโครงการ 6 เดือน 6 มาตรการช่วยประชาชน ขณะนั้นราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเหมาะสมอย่างไร
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือด้วยการลดภาษี เราก็ต้องพิจารณา ไม่ได้ดื้อรั้น
แต่ก็ไม่อยากให้ราคาน้ำมันถูกเกินไปจนทำให้ประชาชนใช้จ่ายพลังงานอย่างฟุ่มเฟือย เมื่อถามว่ารัฐวิสาหกิจจะขอเพิ่มค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท รัฐบาลมีกรอบพิจารณาอย่างไร นายกรณ์กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาโดยเห็นใจทุกฝ่าย แต่เราต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม ข้อเท็จจริงมี 2 หน่วยงานที่ขอให้ปรับคือ การประปานครหลวง (กปน.) และการไฟฟานครหลวง (กฟน.) ซึ่ง ครม.เห็นว่าการให้ขึ้นเป็นบางหน่วยไม่ยุติธรรมกับอีก 55 รัฐวิสาหกิจ ดังนั้นถ้าจะพิจารณาก็ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนทั้งหมด รวมถึงพิจารณารัฐวิสาหกิจที่มีกำไรและขาดทุน รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรอาจไม่มีเหตุผลที่ดีพอ จึงมอบให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณา ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณมากเกินไป และยุติธรรมกับทุกองค์กร
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ได้พูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน
มีข้อเสนอว่าการปรับโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ ตนแม้จะเป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่ก็ไม่สามารถตัดสินใจได้เพียงผู้เดียว ต้องไปดูผลได้ผลเสีย ที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่าผลประโยชน์ที่จะได้ มีมากกว่าผลเสีย รัฐบาลมีจุดยืนและเงื่อนไขสำคัญคือ เราไม่อยากโอนสถานการณ์มีอำนาจผูกขาดทางตลาดจากรัฐไปสู่ภาคเอกชน เหมือนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะกรรมการจะมีการประชุมหารือในเรื่องนี้ ไม่เกิน 2 เดือนคงจะได้ข้อสรุป นอกจากเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีเรื่องตารางการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในส่วนของการซื้อขายหุ้นโดยโบรกเกอร์ และข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปตลาดทุนครั้งสำคัญ
เข็นเข้าสภาฯอีก ภาษีน้ำมัน กรณ์ลั่นไม่ถอย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง เข็นเข้าสภาฯอีก ภาษีน้ำมัน กรณ์ลั่นไม่ถอย
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!