หลังที่ประชุมวุฒิฯ ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม เชื่อจะไม่ส่งผลกระทบถึงการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ชี้เป็นสิทธิ์ของ ส.ว.ในการพิจารณาตัดสินใจ..
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภา มีมติคว่ำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ว่า
จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือในวันนี้ (23 มิ.ย.) แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของ ส.ว.ในการพิจารณาตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะพิจารณาถึงผลกระทบในเรื่องนี้อีกครั้ง
ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
แนวทางที่เป็นไปได้คือ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน ส่วนจะกระทบถึงรายได้รัฐบาลมากน้อยเพียงใดนั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะยังมีทางออกอีกหลายทางที่จะดำเนินการได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟู และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขอโอกาส ส.ว. ผ่านความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว เพราะเกรงว่าหากไม่เห็นชอบ จะเกิดผลกระทบต่อทิศทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภาได้เห็นชอบ พ.ร.ก. ดังกล่าว ด้วยคะแนน 69 ต่อ 48 เสียง งดออกเสียง 11 จากนั้น รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา วันที่ 23 มิ.ย. 2552 ทันที โดยไม่หยิบยกวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 4 แสนล้านบาทขึ้นพิจารณา
หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า
การที่ที่ประชุมวุฒิสภา ไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ในสมัยประชุมวิสามัญ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่เร่งรีบ สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยสามัญนิติบัญญัติในเดือน ส.ค. ขณะที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า ไม่มีการต่อรอง หรือมีเงื่อนไขใด ๆ เพื่อแลกระหว่างการเห็นชอบ พ.ร.ก. กู้เงินกับการไม่พิจารณา ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน แต่ที่ต้องปิดการประชุมนั้น กังวลเรื่องกรอบเวลาที่จำกัด