กรุงเทพธุรกิจ
17 สิงหาคม 2549 18:41 น.
เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 10 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ คนละ 15 นาที
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * รายงาน
---------------
เริ่มที่ นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา แสดงวิสัยทัศน์ว่า การทำงานของกกต.ต้องไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงกับระบบเลือกตั้ง เพราะจะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย
ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น กกต.จะต้องสร้างความเที่ยงธรรม ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และสังคมทุกภาคส่วน การหาข่าวของกกต.จะต้องมีความละเอียดอ่อน ได้ข้อมูลจากประชาชนให้มากที่สุด และกกต.จำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย ออมสิน หรือไม่ก็ไปรษณีย์ โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย มีข้อมูลของประชาชนที่ดี แต่กกต.กลับไม่นำมาใช้
"...สิ่งที่นำปัญหามาสู่ กกต.คือการแบ่งให้ กกต.ดูและรับผิดชอบกันเป็นภาค ซึ่งเป็นการให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนกับระบบซีอีโอ ซึ่งไม่ถูกต้อง ส่วนการให้ใบเหลือง ใบแดง จะต้องมีข้อมูลที่แน่นหนาเพียงพอ และต้องแจกทันที เพื่อจะให้เกิดความรู้สึกเกรงกลัว ขอยกคำพูดของเช็คสเปียร์ที่ว่า จะใช้มันเป็นยักษ์ใหญ่ หรือเป็นยักษ์มาร
มาถึง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีแรงงานฯ ในศาลฎีกา กล่าวว่า กกต.มีแต่สิ่งเหม็นเน่า สำนวนสอบสวนต่างๆ ก็ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ พฤติกรรมก็ส่อไปในทางเรียกค่าไถ่ แต่ กกต.ชุดนี้คงเข้าไปแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีวาระอยู่แค่ 2 ปี สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำความเข้าใจกับประชาชนในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะระดับรากหญ้า
"สิ่งที่เบื่อหน่ายคือ ดับเบิ้ลสแตนดาร์ดในองค์กรของวุฒิสภา รวมถึงการหาเสียงของคณะนักการเมือง ที่บอกว่าผมจะดูและหมู่บ้านนี้ บ้านนั้น ผมรู้จักบริษัทโน้นมาลง และสามารถช่วยประชาชนได้ ถือเป็นเรืองที่ผิดเหมือนกัน หากท่านบอกจะซ่อมแซม ก็ต้องซ่อมแซมทั้งหมด เช่น โรงพยาบาล ทั่วประเทศ ส่วนกรณีที่ท่านจะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผม ผมไม่ให้ตรวจ"
นายอภิชาติ สุขัคคานันท์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา กล่าวว่า หลังจากทราบผลการคัดเลือกเข้ามาติด 1 ใน 10 จากศาลฎีกา ตนถึงกับน้ำตาไหลพรากออกมา
"ที่มีปัญหามากคือ การปฏิบัติงานของ กกต.จังหวัด ที่ผมเห็นส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีเครื่องแบบ มียศ แต่ปัญหาที่เห็นคือ ท่านที่มียศไม่ใช่คนใหญ่ที่สุด และยังเป็นข้าราชการอยู่ แต่มาเป็นประธานกกต.จังหวัด จึงยังต้องรับฟังคนที่อยู่เหนือขึ้นไป อาจจะทำให้ไม่เป็นกลางจริงๆ ดังนั้นต้องไม่อยู่ในอาณัติของใคร"
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำคือ ให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าความเห็นทางการเมืองต่างกันได้ เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน รู้แพ้ รู้ชนะ ไม่ใช่กีฬาแพ้ แต่คนไม่แพ้ เพื่อป้องกันความร้าวฉานในชาติ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
"...การพิจารณาของกกต.มีปัญหา เพราะต้องใช้มติเป็นเอกฉันท์ กกต.ทุกคนจะต้องวางกรอบของตัวเอง ในการรับผิดชอบ ทุกคนต้องมีเหตุผล และมีมติเป็นของตัวเอง โดยการกระทำที่เปิดเผย ประชาชนตรวจสอบได้"
นายสมชัย จึงประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่า มีคนเรียกร้องให้ล้างไพ่ แต่เวลาไม่พอ ดังนั้น กกต.จังหวัด ยังมีคนดีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขเฉพาะบางจุดที่ไม่ดี เชื่อว่า กกต.จังหวัดไม่น่ามีปัญหา แต่กกต.เขต ประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่เข้ามาทำงานชั่วคราว ตาม พ.ร.ฎ.โดยมีการสรรหาเข้ามา
ส่วนปัญหาในการให้ใบเหลืองใบแดงนั้น เราจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งใบเหลืองแดงโดยเร็ว แต่อย่ามั่ว ซึ่งการวินิจฉัยของเรา ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในชั้นของการหาพยานหลักฐาน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อาจจะไม่ชำนาญพอ เราก็แก้ไขได้ โดยขอความร่วมมือจากศาลจังหวัด และอัยการ ขอให้ศาลช่วยไต่สวนข้อเท็จจริงให้ก่อนส่งให้กกต.กลาง โดยมีการกระทำที่เปิดเผย คู่กรณีมีโอกาสหาพยานหลักฐาน มาโต้แยงกันได้
สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น น่าจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนน่าจะให้ความร่วม"
นายประพันธ์ นัยโกวิทย์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องแรกที่ต้องจัดการคือ คนใน กกต.กว่า 2,000 คน ผมเชื่อว่าคนกกต.ส่วนมาก มีวินัยเป็นข้าราชการที่ดี แต่อาจะมีบางพวกเท่านั้นที่สมคบกับพวกนักการเมือง กกต.จังหวัด 5 คน เทอมละ 4 ปี หลายจังหวัดเป็นกลาง แต่ยอมรับบางจังหวัดมีปัญหา ที่จะต้องเข้าไปจัดการ
ที่ยากที่สุดคือเรื่องเวลา ที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถ้าดูตามผังเวลาการเลือกตั้ง ตามที่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ในวันที 24 ส.ค.นี้ การจัดการเลือกตั้งตามกฎหมาย มาตรา 7 (1) จะต้องรับสมัครไม่เกิน 20 วัน วันสุดท้ายคือ วันที่ 12 ก.ย.นี้ ถ้าการสรรหา กกต.เสร็จต้นเดือนกันยายน พอมีโอกาสที่จัดการเลือกตั้งได้ แต่ถ้าเสร็จหลัง 12 กันยายนนี้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และจะถูกฟ้องร้องมากมาย ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งต้องยึดหลัก CRAT คือสร้างความร่วมมือ เชื่อถือศรัทธา มีทัศนะคติที่ดี เพื่อนำความเชื่อถือศรัทธากลับมาสู่กกต.
นายแก้วสรร อติโพธิ รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ถ้าวุฒิสมาชิกไว้วางใจ ตนทำอะไรก็จะนึกถึงพวกท่าน ถามว่าเมื่อได้รับทาบทามแล้วไม่ปฏิเสธเพราะอะไร คำตอบก็คือตนอยากทำ ตนไม่ได้อยากมีตำแหน่ง กกต.แต่อยากทำงาน กกต. กลไกนี้เป็นกลไกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ เพราะความบกพร่องของกลไกนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้แน่นอน
"ปัญหาตอนนี้คือวิกฤติที่มีต่อการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งต้องมีขึ้นมา เพื่อให้บ้านเมืองสงบมีทิศทาง เป้าหมาย และว่ากันด้วยเหตุด้วยผล ของพวกนี้คนทั้งสังคมต้องช่วยกันคิดอ่าน ถ้ามัวแตกแยกอยู่ว่า เอาทักษิณไม่เอาทักษิณ เป็นแบบนี้การเลือกตั้งทำให้บ้านเมืองพังไปอีก เพราะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องทำให้ดีขึ้น"
เราต้องช่วยกันให้การเลือกตั้งครั้งนี้ชอบธรรมที่สุด เริ่มจากความเสมอภาค การใช้อำนาจรัฐ เพื่อเอาเปรียบการเลือกตั้งต้องจะต้องเลิกสปอร์ตการเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมาใช้เงินหลวงของธนาคารออมสิน ธกส. สำนักงานประกันสังคม 300 ล้านบาท
"...กกต.จังหวัด ต้องวางแผนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดการบัตรเลือกตั้ง การนับคะแนน สถานที่ ต้องใช้คนเท่าไหร่ ด้วยการสนธิกำลัง โดยให้ กกต.กลางทำหน้าที่เสนาธิการ มอบให้คนในพื้นที่ทำตามแผน ซึ่งจะทำให้เราสามารถระดมอัยการ ทนายความ มาเป็นกองกำลังในเรื่องการสืบสวน ใบเหลือง ต้องใช้เมื่อมีโกงคะแนน สั่งเลือกตั้งใหม่ ถ้าเป็นความผิดเลือกตั้งต้อง"ใบแดง"อย่างเดียว"
นายสุเมธ อุปนิสากร ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวว่า กกต. 5 คนนั้นก็มีส่วนสำคัญในการจัดการบริหารจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ให้รู้คุณค่า หน้าที่ รู้ที่จะตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ว่าจะต้องทำอย่างไร
โดยเฉพาะการเป็น กกต. ตราบใดไม่เป็นกลาง วิกฤตศรัทธาจะเกิดขึ้นเหมือนชุดที่แล้ว ใบเหลืองใบแดง ไม่เหมือนกับการตัดสินของศาล เพราะศาลต้องพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำผิด แต่ในกฎหมายเลือกตั้งใช้คำว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า และมีพฤติการเชื่อได้ว่า หรือรู้เห็นเป็นใจ รู้แล้วไม่ห้ามก็ถือว่าเป็นใบแดง ส่วนใบเหลืองคือจะทำอย่างไร ว่าส่อให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต เป็นการกระทำของบุคคลอื่น ไม่เกี่ยวกับผู้สมัคร หากเกี่ยวกับผู้สมัครแล้วต้องให้ใบแดง
นางสดศรี สัตยธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยทำคดีการเลือกตั้ง ปัญหาทีเกิดขึ้นคือการกรอกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะต้องดูว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นจริงหรือไม่ การนับคะแนนที่เหมาะสมต้องนับที่หน่วยเลือกตั้ง และดีกว่าการนับคะแนนกลาง การทุจริตจะลดน้อยลงโดยไม่ต้องการย้ายหีบบัตร นับคะแนนจะต้องมีทีวีวงจรปิด การขานคะแนนถูกต้องหรือไม่ การพิมพ์ลายนิ้วมือน่าจะมีการพิมพ์ทั้งบนและล่าง เพื่อเปรียบเทียบกันว่ามีไพ่ผีหรือไม่
นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประธานอนุกรรมการสอบสวนของ กกต.ในคดีจ้างพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง กล่าวว่า ถือว่าไม่ได้เป็นกกต.ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ กกต.ต้องระลึกอยู่เสมอว่า เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
"รัฐธรรมนูญมาตรา 144 มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งทุกระดับ ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจประชาธิปไตย เพราะถ้าทำได้จะได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง การจัดเลือกตั้งให้เที่ยงธรรม ต้องยึดหลักไม่มีอคติ และปราศจากความลำเอียง 4 ประการ คือ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะกลัว และลำเอียงเพราะเขลา รวมทั้งต้องมีหลักธรรมอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งถ้าทำได้และถ่ายทอดให้บุคลากรได้รับมากที่สุด มั่นใจว่ากาปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ต้องเป็นที่ยกย่องและเป็นที่ยอมรับของประชาชน"