คมชัดลึก :"อภิสิทธิ์" เตรียมเคลียร์ใจ “ฮุนเซน” ปมปราสาทเขาพระวิหาร ยันไทยค้านกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว "สุวิทย์" ยันประท้วงกก.มรดกโลกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย โฆษกฝ่ายการเมืองบัวแก้วโต้ฮุนเซนยันท้วงยูเนสโกไม่ใช่กัมพูชา
(19มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ระบุว่าเสียใจต่อคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีของไทยที่ต้องการให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นเรื่องที่ทราบภายหลังจากกัมพูชาทำรายงานถึงคณะกรรมการมรดกโลก และกำลังจะมีการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายไทยได้เสนอท่าที อีกทั้งสิ่งที่เป็นจุดยืนของเรานั้น
ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา และเป็นเรื่องที่เรามองปัญหาการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลกและให้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งมีธรรมนูญและระเบียบปฏิบัติของเขา ที่เรามองว่ายังไม่มีการดำเนินการตามนั้น ดังนั้น เราจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับกัมพูชาตามกระบวนการที่มีอยู่ ซึ่งตนเชื่อว่าฝ่ายกัมพูชาจะเข้าใจ เพราะเราเป็นห่วงในเรื่องนี้ เนื่องจากก่อนจะมีปัญหาดังกล่าว ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี มีคนเข้าไปท่องเที่ยว แต่ตั้งแต่มีเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งและการสูญเสีย เพราะฉะนั้นมากระทบต่อความสัมพันธ์ได้ แต่ในเมื่อตนและสมเด็จฮุนเซ็นยืนยันว่าไม่ต้องการเห็นความรุนแรงและการปะทะกัน ต้องทบทวนกระบวนการตรงนี้ว่าเป็นอย่างไร
“ผมไม่ได้มีอะไรที่ไปกระทบกระทั่งต่อฝ่ายกัมพูชาเลย ผมไม่อยากให้ท่านเสียใจและยังยืนยันแนวทางแก้ปัญหาตามที่ได้คุยกันเช่นเดิม และปรารถนาที่จะเห็นความร่วมมือกันในด้านต่างๆเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ สิ่งที่ทำทั้งหมดเพื่อให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกทราบว่าสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือความสงบสุขและสันติในพื้นที่สำหรับประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าท่านทราบเจตนาของผมวันนี้ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำให้ท่านเสียใจ และผมระมัดระวังทุกคำพูดเวลาให้สัมภาษณ์อยู่แล้ว นอกจากนี้ เราจะพยายามไม่ให้เป็นการเผชิญหน้ากัน”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในการเยือนประเทศกัมพูชาครั้งที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เพราะในตอนนั้นยังไม่ทราบถึงรายงานที่กัมพูชาส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก แต่คุยเพียงว่าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการกระทบกันอีก และยืนยันว่าไม่อยากให้ปัญหาความขัดข้องตรงนั้นมากระทบต่อความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งเราก็ผลักดันเต็มที่ต่อไป และตนยังยืนยันในการผลักดันความร่วมมือร่วมกับกัมพูชาต่อไปเช่นกัน ที่สำคัญ เราพูดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขด้วยกลไกตามข้อตกลงเดิม ไม่ว่าจะเป็นบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างไทย-กัมพูชา หรือเรื่องของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชาที่ต้องมีการประชุมเจรจาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกคนไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แต่ต้องรักษาสิ่งที่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเรา
เมื่อถามว่ากัมพูชามีจุดยืนในการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวโดยฝ่ายเดียว จะทำให้ไทยรู้สึกลำบากใจหรือไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งกันยังมีอยู่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราได้แสดงจุดยืนคัดค้านการขอขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว แต่เมื่อจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อ รวมถึงเราเห็นว่าแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่เขาพระวิหาร ค่อนข้างจะกระทบกระเทือนกับการแก้ปัญหาเขตแดนตามข้อตกลง เราจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเท่านั้น
ต่อข้อถามว่าปัญหานี้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และกัมพูชาพยายามผลักดันการขึ้นทะเบียนเพื่อหวังผลประโยชน์ จะทำให้การแก้ปัญหานี้ไม่ง่าย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเราจะมีวิธีทำความเข้าใจและไม่ให้เหตุการณ์ลุกลาม แต่ขอย้ำว่าท่าทีของเราเป็นท่าทีต่อการปฏิบัติของคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องนี้ ซึ่งเขาจะต้องพิจารณาถึงการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเราเข้าใจว่าหน้าที่ของเขาคือต้องทำให้เกิดสันติภาพ และทำให้มรดกโลกทั้งหลายเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ว่าจะในประเทศที่ใกล้เคียงหรือชาวโลกสามารถได้รับประโยชน์ คือ สามารถเข้าไปเยี่ยมชม ซึมซับวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งต้องมีสันติภาพ แต่ถ้าแนวทางของคณะกรรมการมรดกโลกเดินไปสู่ความขัดแย้ง ก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
"สุวิทย์"ยันประท้วงกก.มรดกโลกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองเซบีญ่า ประเทศสเปนว่า ยืนยันว่า จะเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก และจะประท้วงคณะกรรมการมรดกโลกที่ให้พิจารณาการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอของกัมพูชา ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสียหาย
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า กระนั้น ตนก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลาย จนเกิดการต่อต้านกัมพูชา แต่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกลับมาสู่ขบวนการทำความเข้าใจกัน ส่วนกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวโจมตีนายอภิสิทธิ์ว่า ในช่วงการเดินทางไปเยือนกัมพูชาและนายอภิสิทธิ์ไม่ได้นำเรื่องนี้มาหารือนั้น ขอเรียนว่า นายอภิสิทธิ์ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ในช่วงการไปเยือนกัมพูชา
หนุนอภิสิสิทธิ์ค้านเขมรขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยจะมีการเสนอคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา ต่อคณะกรรมการยูเนสโก ว่า ตนเห็นด้วยกับการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการคัดค้าน แต่การเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมทั้ง 2 ประเทศ จะต้องมีการดำเนินงานอย่างรัดกุม ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ไทยต้องไกล่เกลี่ยเรื่องของเขตแดนกับกัมพูชาให้ชัดเจน 2.จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ประเทศ อย่างเท่าเทียมกัน ศึกษาข้อดีข้อเสีย และนำข้อมูลมาทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้รับรู้ เพราะหากทำไม่รัดกุมแล้ว การขึ้นทะเบียนร่วมอาจจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนที่เป็นพื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบปราสาทได้ ไม่ว่าจะเป็น สระตราว สถูปคู่ ผามออีแดง และพื้นที่กันชน 4.6 ตารางกิโลเมตร
นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีแผนงานแนวทางการดำเนินการในด้านนำเสนอแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ จำนวน 5 แห่ง โดยเฉพาะการเสนอ แหล่งโบราณ คดีเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย ร่วมกับแหล่งโบราณคดีสุวรรณโคมคำ แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ชื่อ The Trans-boundary of Archaeological Urban Complex of ChiangSean and Suvannakhomkham ร่วมเป็นมรดกโลกแห่งแรกของ 2 ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สมบูรณ์อายุราว 500 - 600 ปี และที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในภูมิภาคนี้ เสมือนเป็นช่องประตูแม่น้ำโขงตอนเหนือของ 2 ประเทศนั้น
"จะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อย่างเป็นทางการ ในการเจรจาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลาว ถึงความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเสนอแหล่งโบราณสถานเป็นแหล่งมรดกโลก ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้" นายธีระกล่าว
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า คิดว่าการเจรจาในการจะเสนอแหล่งโบราณคดีเป็นมรดกโลกของทั้ง 2 ประเทศในครั้งนี้ น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ไม่น่ามีปัญหาเรื่องเขตแดนเหมือนกับการเสนอเมืองมรดกโลกกับประเทศกัมพูชา เนื่องจากอารยธรรมไทยกับลาวมีความคล้ายคลึงกัน อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานของทั้ง 2 ประเทศได้มีการประสานงานในด้านข้อมูลเบื้องต้นมาโดยตลอด ซึ่งในการที่ตนจะเดินทางไปหารือครั้งนี้ จะเป็นการหารือในความก้าวหน้าของกรอบนโยบายการดำเนินงาน ของทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมของทั้ง 2 ประเทศ ในการพัฒนาข้อมูลของสภาพภูมิทัศน์ ร่วมกัน จากนั้นจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
อนุพงษ์ยันไทย-กัมพูชาไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชานแดนไทย - กัมพูชาบริเวณเขาพระวิหารว่า สถานการณ์และความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ถือว่า ปกติ เขามีโอกาสหารือกับผู้บังคับบัญชาของกัมพูชาแล้ว สรุปว่า ทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายพยายามหาช่องทาง ปรับกำลังให้เหมาะสมเพื่อเลี่ยงเหตุความรุนแรง
เมื่อถามว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาไม่พอใจ กรณีที่ไทยจะไปประท้วงคณะกรรมการมรดกโลก ในการคัดค้านกัมพูชา ไปยื่นจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะมีมาตรการใดรองรับ ผบ.ทบ.กล่าวว่า เขาไม่มีความเห็น และไม่พูดในส่วนนี้
โฆษกฝ่ายการเมืองบัวแก้วโต้ฮุนเซนยันท้วงยูเนสโกไม่ใช่กัมพูชา
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกฝ่ายการเมือง ของกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการ ให้มีการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่เป็นเรื่องของมติคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ที่ได้แจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ซึ่งในครั้งแรก คณะกรรมการมรดกโลกของไทย อยากให้คณะรัฐมนตรี มีมติคัดค้านยูเนสโก แต่นายกรัฐมนตรีและนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้คัดค้านไป
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ ไม่ใช่การประท้วงกัมพูชา แต่เป็นการประท้วงยูเนสโก ที่ไม่ได้ทำตามกฎข้อบังคับของตัวเอง เพราะหลังขึ้นทะเบียนไปแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
"เราไม่ได้ให้กัมพูชายกเลิกการขึ้นทะเบียน แต่ทำอย่างไรให้การขึ้นทะเบียนนั้นสมบูรณ์ สิ่งที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชาก็ยังเป็นไปตามนั้น แต่เมื่อมีแผนที่แนบท้ายซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับไทย ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่ ทำให้ฝ่ายกัมพูชา ไม่สามารถส่งแผนที่ให้คณะกรรมการมรดกโลกได้ ตามกำหนดเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นการขึ้นทะเบียรมรดกโลกที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การขอขึ้นทะเบียนร่วม จะทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกสมบูรณ์ขึ้น"นายชวนนท์กล่าว
เขาบอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ได้บอกกับคณะกรรมการมรดกโลกของไทยว่า ให้แจ้งไปทางยูเนสโกเองว่า ต้องการให้มรดกโลกสมบูรณ์ ถ้ามีการข้ามขั้นตอน ก็ผิดกระบวนการ เพราะต้องดูพื้นที่ให้ชัดเจน และทำแผนที่แนบท้ายประกอบ
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ที่เมืองเซวิลญา ประเทศสเปน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไปยื่นจดหมายต่อคณะกรรมการมรดกโลก และจะไปกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงการคัดค้านของไทย
อย่างไรก็ดี คาดว่า ประเด็นการยื่นขอคัดค้านการทำหน้าที่ของยูเนสโกของไทย อาจไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระในการพิจารณาครั้งนี้ แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมย์ที่ชัดเจนของไทย