ซ่อมเขต3สกลฯพท.-ภท.ลุ้นกันหืดจับ


ปรากฏการณ์คนแห่ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 3 สกลนคร ระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ไม่ธรรมดา เพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าสูงถึง 21,060 คน เทียบกับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 3 สกลนคร ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ระหว่าง 15-16 ธ.ค. มีผู้มาใช้สิทธิบางตาเพียง 3,407 คน

สูงกว่าหนที่แล้วเกือบ 7 เท่า


และมากกว่าการใช้สิทธิล่วงหน้าระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2550 ของสกลนครทั้งจังหวัด ที่มีผู้มาใช้สิทธิรวม 12,318 คน

นอกจากนี้ กรณีรถปิกอัพขับเวียนมาขนคนออกจากหมู่บ้านไปใช้สิทธิ์ยังหน่วยเลือกตั้งกลาง ก็ไม่ธรรมดา

กรณีผู้ใช้สิทธิ์กรอกแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิล่วงหน้า มาจากที่บ้าน

หรือการกำหนดให้บ้านหมู่คู่และหมู่คี่ แยกใช้สิทธิ์กันคนละวัน นั่นก็ไม่ธรรมดา

เหตุของความไม่ธรรมดานี้ส่งผลให้การเลือกตั้งวันที่ 21 มิ.ย. ในเขต 3 สกลนคร ที่ถูกจับตามองอยู่แล้วได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

แม้จะเป็นการเลือกตั้งซ่อมแต่การต่อสู้กลับดุเดือด เพราะทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยต่างประกาศชัด ศึกครั้งนี้จะแพ้ไม่ได้

พรรคเพื่อไทยนั้น คำพูดที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฝากถึงสมาชิกพรรคชัดเจนว่าต้องชนะสถานเดียว

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ระดับแกนนำไม่ได้พูดตรงๆ แต่การลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียง ระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย. โดยการนำของนายเนวิน ชิดชอบ และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ร่วมด้วยรัฐมนตรีของพรรค โดยไม่สนว่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนว่ากระทำขัดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

ชัดยิ่งกว่าชัดว่าพรรคภูมิใจไทย ก็เทหมดหน้าตักเหมือนกัน

สกลนคร แบ่งออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีส.ส. 7 คน ล้วนเป็นส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ยกทีมมาจากพรรคพลังประชาชนเดิม

เขต 3 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งซ่อม ประกอบด้วย 5 อำเภอ คือ สว่างแดนดิน ส่องดาว เจริญศิลป์ คำตากล้า และบ้านม่วง

หลังนายพงษ์ศักดิ์ บุญศล ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) พรรคเพื่อไทยส่ง นางอนุรักษ์ บุญศล ภรรยานายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตครูและผอ.โรงเรียนเทคโนโลยีสว่างแดนดิน อาสาลงทำหน้าที่ชิงเก้าอี้คืน

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส. เป็นครั้งแรก ส่งนายพิทักษ์ จันทศรี อดีตส.จ. 2 สมัย และรองประธานสภาอบจ. ลงสู้ศึก


นายพิทักษ์ พื้นเพเดิมเป็นคนบ้านหัน อ.สว่างแดนดิน เข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นด้วยการลงสมัครส.จ. เมื่อปี 2547 เป็นครั้งแรกและสอบได้ หันไปสมัครส.ส. ในนามพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ในการเลือกตั้งปี 2550 แต่สอบตกเพราะสู้นายพงษ์ศักดิ์ บุญศล ไม่ได้ ปี 2551 จึงกลับมาลงสนามเล็กสมัครส.อบจ.ได้รับเลือกและได้รับการโหวตให้เป็นรองประธานสภาอบจ.

หากเอกซเรย์รายอำเภอ ชัยชนะของ "นักรบตัวแทน" ยากจะฟันธงว่าใครจะเข้าเส้นชัย

อ.สว่างแดนดิน มี 14 ตำบล จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 107,464 คน

ทั้งนายพิทักษ์ และนางอนุรักษ์ ต่างมีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ นายพิทักษ์ ได้จากฐานเสียงเดิมเมื่อครั้งลงสมัครส.จ. และอาศัยฐานเสียงของนายชัยมงคล ไชยรบ นายกอบจ.คนปัจจุบัน

แต่เทียบแล้วยังถือว่าน้อยกว่าฐานเสียงของนายพงษ์ศักดิ์ เจ้าของพื้นที่ ที่จะเทให้กับนางอนุรักษ์

อีกทั้ง อำเภอนี้เป็นฐานเสียงใหญ่ของนายพงษ์ศักดิ์ ที่สามารถกวาดเก็บคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ ทิ้งห่างคู่แข่งมาเป็นที่ 1 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยมีส.จ.อดีตส.จ. ในสังกัดเป็นหัวคะแนนสำคัญ โดยเฉพาะนายสุพลชัย บุญชัย อดีต ส.อบจ. ที่เป็นกำลังหลัก

ที่สำคัญกว่านั้น เขตนี้ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง เท่ากับพรรคเพื่อไทยมีคะแนนตุนอยู่ในมือแล้ว

อ.เจริญศิลป์ มี 5 ตำบล จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 30,311 คน

เป็นอีกเขตที่กลุ่มเสื้อแดงกระจายเต็มพื้นที่ และนางอนุรักษ์ ยังได้เสียงจากนักศึกษาซึ่งเป็นลูกศิษย์

ขณะที่ นายพิทักษ์ แม้จะเคยลงสมัครส.ส.ในปี 2550 แต่ยังไม่ชำนาญในการทำการเมืองพื้นที่กว้าง ฐานเสียงจัดตั้งก็ยังไม่มั่นคงและทับซ้อนกับหัวคะแนนของพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังประกาศวันเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทยเรียกประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านบ่อยครั้งกว่าปกติ แม้จะระบุเป็นการประชุมแก้ปัญหายาเสพติด แต่ในที่ประชุมมีการแจกแบบฟอร์มขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า หรือ ทก.1 เพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นนำไปแจกชาวบ้าน พร้อมแนะนำว่าต้องการอย่างไร

สอดรับกับกระแสข่าวที่ระบุ เลือกตั้งหนนี้ใครทำดี คะแนนมาอันดับ 1 นายอำเภอจะได้เลื่อนชั้น

ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงการเลือกตั้ง

อ.ส่องดาว มี 5 ตำบล จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 23,311 คน

แม้สีแดงจะไม่เต็มพรืดทั่วพื้นที่ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเพราะมีเขตติดต่อกับจ.อุดรธานี

และเป็นอีกเขตที่นายพงษ์ศักดิ์ จะได้คะแนนมาเป็นอันดับต้นๆ ทุกครั้ง

ที่ผ่านมา มีการเรียกประชุมผู้นำท้องถิ่นเข้าประชุมถี่ไม่แพ้ที่อ.เจริญศิลป์ และมีการแจกวัว-ควาย ให้ด้วย

อ.บ้านม่วง มี 5 ตำบล จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 48,194 คน

เป็นพื้นที่ชายแดนติด จ.หนองคาย ส่วนใหญ่ข้าราชการเป็นคนนอกพื้นที่ที่รอย้ายไปประจำที่อื่น จึงไม่ขึ้นกับนักการเมือง จึงเป็นพื้นที่ชิงดำที่ผู้สมัครสามารถเจาะเข้าไปได้

นางอนุรักษ์ อาจได้เปรียบที่สามีเคยเป็นส.ส.มาแล้วหลายสมัย การติดต่อประสานจึงน่าจะคล่องตัวกว่า และยังเป็นพื้นที่ของนายเกษม อุประ ส.ส.เพื่อไทย ที่ตอนนี้มีข่าวปล่อยว่าเตรียมย้ายไปอยู่กับภูมิใจไทย แต่เจ้าตัวยืนยันหนักแน่นยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย

อ.คำตากล้า มี 4 ตำบล จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,370 คน

อีกพื้นที่ที่มีเขตชายแดนติด จ.หนองคาย ข้าราชการจึงไม่ขึ้นกับนักการเมืองเช่นกัน นักการเมืองทั้งสนามเล็ก-สนามใหญ่ จึงเปลี่ยนหน้ากันไปเรื่อย

มีการประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แจกแบบฟอร์ม ทก.1 จนนายอำเภอถูกร้องเรียนจากกลุ่มเสื้อแดงว่าไม่เป็นกลาง

วิเคราะห์สถานการณ์จาก 5 อำเภอแล้ว การต่อสู้ยังเข้มข้นและเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้วันเลือกตั้ง

ช่วงโค้งท้าย มีการส่งคนจากบุรีรัมย์เข้ามาประจำหมู่บ้านละ 2 คน เพื่อคอยสอดส่องพฤติกรรมของผู้นำท้องถิ่น

ขณะที่ในเขตพื้นที่อ.สว่างแดนดิน เจริญศิลป์ ส่องดาว ซึ่งมีพื้นเขตติดต่อกับจ.อุดรฯ ก็พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง

สภาพการต่อสู้ใน 5 อำเภอ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งเขต 3 สกลนคร ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจรัฐ กับกระแสเสื้อแดงที่ยังยึดมั่นกับพ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงจำนวนกระสุนที่ใช้

ไม่รู้ก่อนวันเลือกตั้ง "หมาจะหอน" จนนอนไม่หลับรึเปล่า ??

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์