ปธ.วิปรัฐ ระบุ รบ.จะอภิปรายยึดแนวทางศาลรัฐธรรมนูญโดยย้ำกับสมาชิกไม่ให้อภิปรายนอกประเด็น รวมทั้งฝ่ายค้านด้วย และจะพยายามอภิปราย-ลงมติ พ.ร.ก.เงินกู้ให้เสร็จภายในวันนี้ ...
วันนี้ (15 มิ.ย.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงแนวทางในการอภิปราย พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ว่า
จากการประสานกับประธานวิปฝ่ายค้านที่ประชุมจะแยกกันพิจารณา โดยหลังจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเสนอ พ.ร.ก.แล้ว ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะอภิปรายสลับกันไป ในส่วนของฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมผู้อภิปรายหลักไว้ 13 คน อาทิ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ,นายอรรถวิทย์ สุวรณภักดี ส.ส.กรุงเทพฯ ,นายสุวโรช พะลัง ส.ส.กระบี่ ฯลฯ ส่วนแนวทางในการอภิปรายของฝ่ายรัฐบาลจะยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยความชอบธรรมของการออก พ.ร.ก. โดยวิปได้ย้ำกับสมาชิกไม่ให้อภิปรายนอกประเด็น ทั้งนี้ในการพิจารณาจะพยายามให้อภิปรายและลงมติ พ.ร.ก.เสร็จสิ้นภายในวันนี้ โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ จะดำเนินการต่อในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ (16มิ.ย.)
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการประชุมวิปรัฐบาล
ในที่ประชุมประธานวิปรัฐบาลได้ย้ำกับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านโดยขอให้อภิปราย อยู่ในประเด็นและคอยสกัดไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายออกนอกประเด็น โดยเฉพาะหากมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการวินิจฉัยพ.ร.ก.ฯของศาลรัฐธรรมนูญ ,เรื่องเกี่ยวกับการทุจริต และโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน มาอภิปรายให้ช่วยกันสกัดกั้นเนื่องจากโครงการเช่ารถเมล์ไม่เกี่ยวกับวงเงิน กู้ในพ.รก.และร่างพ.ร.บ.ฯ
ส่วนบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา ประธานวิปฝ่ายค้านเป็นประธานการประชุมได้แจ้งกับสมาชิกถึงการประสานนอกรอบ เพื่อตกลงแนวทงการพิจารณาที่ได้ซักซ้อนความเข้าใจให้แยกพิจารณาระหว่างพ.ร. ก.กับร่างพ.ร.บ.ฯ จากนั้นประธานวิปรัฐบาลได้แจ้งที่ประชุมให้ทราบถึงกรณีที่นายไพจิต ศรีวรขาน ได้เสนอขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพ.ร.ก.ก่อนจะลงมติซึ่งตนพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควรโดยได้แจงความเห็นกับนายไพจิตให้เข้าใจแล้ว
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้แจ้งว่า
ตามที่ได้รับทราบกรอบเวลาในการอภิปรายของฝ่ายค้าน 12 ชั่วโมง จะแบ่งออกเป็นการอภิปราย พ.ร.ก.ฯ 9 ชั่วโมง และร่างพ.ร.บ. 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.สามารถอภิปรายในภาพรวมได้