หมอประเวศ ชี้การเมืองไทยเปลี่ยนจาก โคตรโกง เป็น โกงทั้งโคตร!!
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 มีนาคม 2549 22:40 น.
ผู้จัดการรายวัน - หมอประเวศ สรุปการเมืองไทยเปลี่ยนจาก โคตรโกง เป็น โกงทั้งโคตร เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประการ ป้องกันทุนขนาดใหญ่ยึดอำนาจการเมือง โฆสิต ชี้ยิ่งไร้ธรรมาภิบาลยิ่งใกล้วิกฤต
วันที่ 5 มีนาคม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง ธรรมาภิบาล 3 ประสานทางออกสังคมไทย เนื่องในวันนักข่าว โดยได้เชิญ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมบริหารธนาคารกรุงเทพ และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี คงต้องย้อนถึงปฐมพระบรมราชโองการเมื่อขึ้นครองราชย์ ที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นี่คือการตั้งหลักของแผ่นดิน
ราษฎรอาวุโส กล่าวอีกว่า สุขของประชาชนต้องมีธรรม หรือความถูกต้องครองทั้งแผ่นดิน เป็นการวางเสาหลักของบ้านเมือง คนโบราณเรียนรู้กันมานานนับพันปี มีคำพูดกล่าวกันมาว่าหากผู้ปกครองขาดทศพิธราชธรรม บ้านเมืองจะมิคสัญญี ศีลธรรมจึงต้องเป็นหลักของบ้านเมือง
แต่ขณะนี้แทนที่จะพูดถึงศีลธรรม กลับตั้งคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะรวย รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังตั้งคำถามผิดว่าทำอย่างไรจึงจะรวย ชักนำให้เกิดมิจฉาทิฐิ เอาเปรียบ ค้ากำไรเกินควร ทำลายสิ่งแวดล้อม คอร์รัปชัน เพื่อเป็นหนทางสู่ความรวย แต่ความดีคือความซื่อสัตย์ ขยัน อดออม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากตั้งคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะรวย จะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ และจะทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น แต่ความดีจะแก้ได้ด้วยการอดออม ความขยันหมั่นเพียร พัฒนาจิตใจ หากตัวนายกฯ ขาดศีลธรรม บ้านเมืองก็จะเร่าร้อน ขัดแย้ง ถูกกล่าวหาทั่วแผ่นดินว่าขาดศีลธรรม จริยธรรม ทุกมุมของประเทศคนคุยกันถึงการคอร์รัปชันของนายกฯ และขณะนี้สังคมกำลังพูดถึงศีลธรรม จริยธรรมสูงสุด นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า เราได้ยินคำว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ซึ่งทำให้รัฐเสียรายได้ไปกว่า 2 แสนล้าน ตนเองได้พูดคุยกับบอร์ดการบินไทย เรื่องซื้อเครื่องบินซึ่งไม่ถูกต้องไป 4 ลำ เสียเงินไปถึง 4 หมื่นล้าน ยังมีเรื่องที่คนใกล้ชิด เครือญาติผู้มีอำนาจไปซื้อที่ดินแถวสุวรรณภูมิ เก็บเอาไว้กว่า 6,000 ไร่ หากขายก็จะได้กำไรไร่ละ 12 ล้านบาท นอกจากนี้ยังไปกว้านซื้อที่ดินทั่วประเทศ นี่เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศ ทุกมุม เขาคุยกันแล้วเล่าให้ตนฟังนอกเหนือจากเรื่อง CTX อารมณ์สังคมมันแตกตอนขายหุ้นชินวัตร 7 หมื่น 3 พันล้านแล้วไม่ยอมเสียภาษี
เมื่อครึ่งปีก่อนมีข้าราชการมาเล่าให้ผมฟังว่า มีญาติผู้มีอำนาจเข้าไปในทุกกระทรวง ไปดูว่ามีงบประมาณอะไรเท่าไหร่ ดูว่าจะกินอะไรได้บ้าง ก่อนนี้คุยกันว่าโคตรโกง แต่เดี๋ยวนี้ต้องบอกว่าโกงทั้งโคตร ราษฎรอาวุโส กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นโอกาส เราละเลยปฐมพระบรมราชโองการ พระเจ้าอยู่หัวเตือนแล้วเตือนอีก ตนเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ได้ยินรับสั่งอยู่เสมอๆ ไม่นานนี้ทรงมีรับสั่งว่าเราควรถอยหลังเข้าคลอง ฟังแล้วก็ตกใจ แต่พระองค์ท่านอธิบายว่า ในคลองคลื่นลมสงบ เรือไม่ล่ม หากออกทะเลไปคลื่นลมมันแรง เรืออาจจะล่มได้ ไม่นานหลังรับสั่งก็มีพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกออกมา ซึ่งในนั้นมีอะไรแฝงอยู่มากมาย มีพ่อค้า 700 คนอยากรวยพากันลงเรือกันไปจะแสวงหาโชคลาภ คงเหมือนๆ กับนครสุวรรณภูมิในขณะนี้ พอเรือล่มพ่อค้าเหล่านี้ก็พากันอ้อนวอนเทวดาให้ช่วย เลยจมน้ำตายหมด แต่พระมหาชนกไม่อ้อนวอน พยายามช่วยตัวเองทุกทาง พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเรื่องดีๆ ไว้เยอะ การฉลองครองราชย์ 60 ปี จึงน่าจะศึกษาถึงหลักสำคัญของประเทศคือศีลธรรม นายกฯ พูดแต่ GDP ซึ่งไม่ใช่หลัก คนโกงมากขึ้น GDP ก็ขึ้นได้ เราควรจะใช้ GDM คือ Gross Domestic Morallity
นพ.ประเวศ ระบุต่อว่า ถึงวันนี้เราต้องมาคิดต่อกันว่าหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงจากตำแหน่งแล้ว สังคมไทยจะต้องฟื้นฟูอะไรบ้าง เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้ 20 ปี ก็ยากที่จะฟื้นฟูได้ ในกรณีของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีมาร์กอสได้วางโครงสร้างของการคอร์รัปชัน รวมทั้งฝังแนวความคิดเอาไว้ แม้ว่าจะมีคนดีเข้ามาเป็นผู้นำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จนเป็นปัญหาของฟิลิปปินส์อยู่จนถึงทุกวันนี้
นพ.ประเวศ กล่าวถึงเหตุที่ทำให้ธรรมาภิบาลไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังในสังคมไทยว่า เป็นเพราะภาครัฐใหญ่ หรือรัฐฐานุภาพ เงินใหญ่ หรือธนานุภาพ ขณะที่อำนาจสังคมเล็กนิดเดียวแก้ไม่ได้ ต่อให้ภาครัฐภาคเงินมีคนดีมากเท่าไหร่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องทำให้ภาคสังคมใหญ่หรือสังคมานุภาพ คือ อานุภาพของสังคมต้องไม่ให้เสียสมดุล สังคมจะเข้มแข็งได้ก็ด้วยการที่ภาคประชาชน สื่อมวลชน และภาควิชาการร่วมกัน ขณะนี้การเมืองภาคประชาชนกำลังเดิน ซึ่งถือว่าจำเป็นมาก เพราะการเมืองของนักการเมืองให้ดีอย่างไรก็ยากที่จะให้มีศีลธรรม จึงต้องสร้างการเมืองภาคประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ นี่คือจุดที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาล
ถ้าทักษิณไป ต้องปฏิรูปการเมืองจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ผมขอเสนอรัฐธรรมนูญธรรมาภิบาล ซึ่งมีหลักสำคัญ 6 ประการ 1.หาทางป้องกันเงินขนาดใหญ่ ภาคธุรกิจเข้ามายึดอำนาจการเมือง คนที่รู้ดีที่สุดก็คือทักษิณ ดังนั้น บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทักษิณหารือให้ไปคิดประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ควรไปถามเรื่องนี้กับทักษิณ 2.องค์กรอิสระต้องเข้มแข็ง ซึ่งไม่ใช่องค์กรที่เรารู้จักเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระ เพราะถือว่าเป็นองค์กรที่ทำงานด้านวิชาการ อีกทั้งองค์กรสื่อมวลชน รัฐธรรมนูญก็ยังไปไม่ถึงความเข้มแข็งขององค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งงบประมาณต่างๆ จะต้องผ่านจากฝ่ายการเมือง 3.การสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ไม่มีประชาธิปไตยในประเทศใดๆ สำเร็จได้ หากชุมชนท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง
ประการที่ 4 คือการสร้างระบบราชการที่เป็นอิสระ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและราชการ มิให้การเมืองครอบและบังคับให้คอร์รัปชัน การสรรหาปลัดกระทรวง อธิบดี ต้องมีกระบวนการให้ได้คนดีขึ้นมา รวมทั้งมีระยะเวลากำหนด ไม่ใช่การเมืองอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน 5.การสร้างสังคมเข้มแข็ง ตามมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมบทบาทในการกำหนดนโยบายตรวจสอบอำนาจรัฐ การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง
ที่สำคัญควรจะมี ป.ป.ช.ภาคประชาชน ซึ่งอาจมีคนอย่างกล้านรงค์ จันทิก หรือคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา มาทำหน้าที่ในการตรวจสอบภาคการเมือง นอกจากนี้ ควรมีการตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่องคอร์รัปชัน หรือทุนสนับสนุนสื่อมวลชนในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และ 6.หามาตรการป้องกันภาคธุรุกิจการเงินที่แอบให้เงินภาคการเมือง จะต้องโปร่งใส โดยให้มี พ.ร.บ.เรื่องข้อมูลทางการเงิน ให้เห็นการไหลเวียนทางการเงินของประเทศ ให้คนรู้ว่าเงินไหลไปทางไหน
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมมีเป้าหมาย 4 ด้าน 1.เศรษฐกิจต้องโต โดยจะเห็นได้จากตัวเลขจีดีพี 2.คือต้องมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 3.คือความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และสุดท้าย (4.) คือต้องมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในกรอบของเศรษฐกิจทุนนิยม จำเป็นต้องมีเป้าหมายทั้ง 4 จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคมจะให้น้ำหนัก
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมยังขึ้นอยู่กับระดับชั้นในการพัฒนาประเทศ ในกรณีของประเทศหัวขบวนทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องใหญ่ หากไม่มีจะถือว่าเป็นสิ่งที่เขาให้อภัยไม่ได้ ในขณะที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนในสังคมอเมริกันเองก็เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่ในประเทศต่างๆ เป้าหมายทั้งสี่ เป็นนามธรรมที่สังคมนั้นๆ ควรจะต้องใคร่ครวญว่าจะให้น้ำหนักมากน้อยเพียงใด
นายโฆสิต กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์การได้ทำงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในอดีต อย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยเข้าใจว่าต้องไปรับใช้เพียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนนี้ให้น้ำหนัก
หากเราจะยึดแนวทางทุนนิยม ยิ่งเราโตขึ้น เรายิ่งต้องยึดมั่นในความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เขากล่าวอีกว่า กระทั่งสังคมก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งในทางหนึ่งเป็นผลสะท้อนของความบกพร่องของธรรมมาภิบาล มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า เมื่อไม่มีธรรมาภิบาลถึงระดับหนึ่งแล้ว อาจเกิดวิกฤตขึ้นได้ ที่สำคัญการไม่มีธรรมาภิบาลยังก่อให้เกิดความไม่สมานฉันท์ในประเทศ ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก
ถ้าจีดีพีโตขึ้นเป็นเงื่อนไขหลัก ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูก เท่าที่ผมเรียนมา และที่ทำงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในอดีต ผมว่าแนวทางแบบนี้น่าจะไม่ถูกต้อง
เขากล่าวอีกว่า ถึงวันนี้ธรรมาภิบาลในระดับจุลภาคก็มีวิถีปฏิบัติมากขึ้น เช่น ในกรณีของบริษัทก็ต้องพิจาณาว่าการครอบงำกิจการอาจมีหลายรูปแบบ ในขณะที่ผู้ที่เกี่ยข้องกับบริษัทเองควรจะเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม วิถีปฏิบัติในข้อนี้ยังไม่ใช่แก่นหลัก เพราะในธรรมาภิบาลในระดับที่สูงขึ้นกว่านั้นยังจำเป็นต้องมีการตระหนักด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงซักถามผู้ดำเนินรายการได้ถามความคิดเห็นต่อนโยบายประชานิยม นายโฆษิต ระบุต่อว่า น่าแปลกมากที่ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลไม่ได้มีการประเมินผลที่เป็นกลาง ตนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทำให้เกิดขึ้น ทั้งที่การตรวจสอบในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะที่ตอนนี้เกิดความเห็นเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ว่าดีกับกลุ่มที่ว่าไม่ดี การประเมินผลจึงควรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่บอกว่าที่ผ่านมาดี ต่อไปอีก 10 ปีก็จะดี กรณีอาจสามารถโมเดลเองก็ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ยิ่งทำให้แย่ยิ่งกว่าเดิม
ในขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวว่า มองไม่เห็นทางออกธรรมาภิบาลของสังคมมากเท่าไร เพราะสังคมไทยอ่อนแอ ไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะเลือกวิถีชีวิตเราเอง เหลียวรอบๆ ตัวมีแต่วิถีชีวิตฝรั่ง
พระเจ้าอยู่หัวทรงประกาศธรรมาภิบาลตั้งแต่วันแรก แต่ยังมีคนไม่เข้าใจ ในหลวงทรงประกาศสั้นๆ เป็นธรรมะ คือความดี ผมคิดว่าที่สังคมเป็นอยู่ในขณะนี้เพราะลืมประโยคที่ 2 ของพระเจ้าอยู่หัว คือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ที่กำหนดเป็นเป้าหมายในการปกครองประเทศ
ดร.สุเมธ ยังกล่าวอีกว่า ฝรั่งสอนให้รวย ทำกำไร แต่พระเจ้าอยู่หัวสอนว่ารวยแล้วต้องมีความสุข รวยแบบพอเหมาะพอสม ซึ่งมีบางครอบครัวที่รวยแล้วแต่ก็มีความทุกข์ที่สุด
โตแล้วแตก ผมยังสงสัยหนังสือพิมพ์บางฉบับที่แย่งกันออกมาบอกว่าตัวเลขโตเท่าไร ยิ่งโตก็ยิ่งแตก หรือแม้แต่คำพูดที่ว่ากลัวจะตามโลกไม่ทัน หรือไม่ทันรถไฟขบวนสุดท้ายของโลก รู้ไหมว่าขบวนรถไฟโลกจะไปไหน กำลังไปสู่หายนะ สังคมกินโลกมากขนาดนี้ มนุษย์เวลานี้กำลังกินกัน 3 ส่วน ธรรมชาติชดเชย 1 ส่วน เป็นอัตรา 3 ต่อ 1 ซึ่งโลกไปหายนะแน่นอนที่สุด เลยแปลกใจว่าทำไมไม่รู้ว่าขบวนรถไฟตกเหว โลกของเรากำลังจะเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แต่ทุกวันนี้สังคมหลง
นอกจากนี้ ประธานมูลนิประเทศไทยใสสะอาด ยังยกคำเทศน์ของพระอาจารย์ประยุตมากล่าวอ้างว่า สังคมไทยในยุคนี้ มองแคบ-คิดสั้น-ใฝ่ต่ำ
มันปนกันยุ่งไปหมดกับคำว่าความสุข ความสุขนั้นผมเกือบมั่นใจว่าคนในสังคมไม่เข้าใจคำว่าความสุข และเอาไปปนกับสนุก ว่ามีรถแพงๆ มีบ้านใหญ่เป็นความสุข ดร.สุเมธ กล่าว และว่า
พระเจ้าอยู่หัวให้พอเพียงได้ไหม ทรงเน้นให้ทำอะไรด้วยเหตุด้วยผลอย่าหลงตามกระแส ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆก็จะเป็นนิกส์ ไปๆมาๆ เป็นคนอยู่ดีๆอยากเป็นสัตว์ อยากเป็นเสือตัวที่ 5ทั้งๆที่ไม่พร้อม เงินก็ไปยืมเขามา คนบริหารก็ไปเอาฝรั่งมา ตกลงบ้านนี้โตขึ้นมาโดยเสาไม่เป็นของเรา วันใดที่เสาเงินทุน เสาคนไป บ้านนี้ก็คว่ำ
พอประมาณได้ไหม ตรวจดูศักยภาพเรา พัฒนาด้วยเหตุผล พยายามขยับตัวเองไม่ใช่ยืมเงินคนอื่น เราอาจรวยช้าแต่รวยยั่งยืน ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกัน เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจ็บป่วยหรือเปล่า คนในสังคมต้องตั้งอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม ทรงให้ค่อยๆ รวยขึ้นไปแล้วยั่งยืน ประโยชน์สุข รวยแล้วมีความสุข รวยไม่แตกกระจาย
สำหรับการฝากความหวังต่อการสร้างธรรมาภิบาลซึ่งไม่สามารถพึ่งฝ่ายการเมืองได้นั้น นายสุเมธ กล่าวว่า เหลือความหวังอยู่ 2 ส่วน คือ การตรวจสอบภาคประชาชน และการตรวจสอบของสื่อมวลชน ซึ่งดูจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ดูจะมีความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่มีองค์กรใดเข้าไปร่วม หากองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการร่วมกันในเรื่องนี้ก็จะเป็นผลดี