ทรท.ประเมินสถานการณ์วิกฤติส่อยุบ ตั้งวอร์รูมเช็ครายวัน
"ทักษิณ" แบ่งรับแบ่งสู้ข่าว "ยุบสภา" ผ่าทางตัน "หมอมิ้ง" ยอมรับเป็นทางออก ทรท.หวั่นสถานการณ์บานปลาย ตั้งทีมประเมินรายวัน ย้ำป่วนเป็นยุบ พ่อมดดำเชื่อยุบแน่ ฝ่ายค้านตีเหล็กร้อน หอบร่างซักฟอกบุกทำเนียบของเสียง นายกฯ
กระแสข่าวการยุบสภาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุขึ้นทุกขณะ แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่เคยพูดถึง แต่แกนนำพรรคไทยรักไทย กลับวิเคราะห์ว่า สถานการณ์บีบให้การเมืองเดินไปสู่เส้นทางดังกล่าว
ในการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์นั้น นายกรัฐมนตรี ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม โดยยืนยันว่า ข่าวเลือกตั้งใหม่เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นสิ่งที่ตนยังไม่เคยพูด
"พวกคุณคิดกันเอง พูดกันเอง ผมยังไม่พูดสักคำ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำประโยคเดียวกันนี้อีกครั้งภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า จะใช้วิธียุบสภาหากว่าถูกแรงกดดันจากภายในพรรคมากๆ
นอกจากนี้ การเรียกประชุมแกนนำพรรคไทยรักไทยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อค่ำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็มีรายงานข่าวด้วยเช่นกันว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำอีกครั้งว่า หากวุ่นวายมากๆ ก็จะใช้วิธียุบสภา
ส่วนการจัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภานั้น นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สภาสมัยสามัญจะเปิดในวันที่ 4 มีนาคม และวันพุธที่ 8 มีนาคม จะมีการประชุมนัดแรก ซึ่ง ครม.จะนำเข้าหารืออย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ เพื่อขอเป็นมติและทำเรื่องแจ้งต่อประธานรัฐสภา ส่วนจะกำหนดเป็นวันไหน ใช้เวลากี่วันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกของรัฐบาลครั้งนี้ จะช่วยลดปัจจัยรุมเร้าที่มีต่อรัฐบาลได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ รัฐบาลทำหน้าที่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลและรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อปฏิญาณตน จะกล่าวคำปฏิญาณตนตลอดเวลาว่า จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ
"พรหมินทร์"รับยุบสภาเป็นทางออกหนึ่ง
อย่างไรก็ดี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวที่นายกฯ พูดกับ ครม.ในงานเลี้ยงที่บ้านจันทร์ส่องหล้าว่าอาจจะเลือกแนวทางยุบสภา หากถึงจุดวุ่นวายว่า ไม่ทราบ แนวทางตามระบอบประชาธิปไตยมีหลายวิธี แต่จะต้องยึดถือหลักการที่ถูกต้องและจริงจัง ทางออกทางหนึ่ง คืออำนาจที่มาจากประชาชน ก็ต้องคืนสู่ประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวันนี้
ต่อข้อถามว่า หากเปิดให้อภิปรายในสภา และความเห็นของสมาชิกรัฐสภา บอกว่าให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออกจะทำตามหรือไม่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็แล้วแต่รัฐสภาจะเสนอมา
ส่วน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในที่ประชุมระหว่างร่วมรับประทานอาหารที่บ้านจันทร์ส่องหล้านั้น ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมือง แต่ไม่มีการวิเคราะห์อะไรมาก ถึงการยุบสภาหรือลาออก เป็นเพียงการมองการเมืองทั่วๆ ไป และมองว่าขณะนี้ยังไม่ถึงทางตัน ที่นายกฯ จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่นายกฯ จะตัดสินใจลาออกหรือยุบสภานั้น ต้องอยู่ในภาวะที่นายกฯ ครม. รัฐบาล ไม่สามารถจะบริหารประเทศต่อไปได้ หรือมีความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล ที่จำเป็นจะต้องโยนกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านขอเสียงจากรัฐบาล ตามคำพูดของนายกฯ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า นายกฯ เคยระบุว่า หากมีข้อมูลชัดเจน ที่บ่งบอกว่ามีปัญหาในการทุจริตคอรัปชั่น ก็พร้อมเปิดให้มีการตรวจสอบ แต่จนถึงขณะนี้ฝ่ายค้านยังไม่มีประเด็นสรุป ข้อที่จะยื่นต่อสภา
ทรท.ยันทักษิณพร้อมยุบหากเพลี่ยงพล้ำ
แหล่งข่าวจากพรรคไทยรักไทยแจ้งว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้มีการเปิดประชุมร่วม 2 สภา เพื่ออภิปรายทั่วไปเนื่องจากต้องการลดกระแสสังคมที่ขับไล่นายกฯ ภายนอกสภา โดยเป็นการดึงการเมืองนอกระบบให้กลับมาสู่ระบบ คือการอภิปรายในสภาแทน เพราะคาดกันว่าการชุมนุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่สนามหลวง น่าจะยืดเยื้อ หลังจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศเข้าร่วมและไม่ยอมยุติ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ลาออก
ซึ่งเรื่องนี้คาดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะประเมินออกว่า ฝ่ายค้าน ส.ว.และ ส.ส.กลุ่มต่างๆ ในพรรคที่ไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ จะอภิปรายในเรื่องใดบ้าง และควรเตรียมข้อมูลใดไปชี้แจง และกลบกระแสการขออภิปรายนายกฯ ไปด้วย
"หากสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำจริงๆ นายกรัฐมนตรีก็จะประกาศยุบสภา โดยอ้างว่าเมื่อประชาชนไม่ไว้วางใจ ก็ขอคืนอำนาจให้ประชาชน นำกลับไปตัดสินเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และโพลล์ของพรรค รวมทั้งสำนักต่างๆ ก็ยังให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ต่อไป แม้คะแนนนิยมจะลดลงไปพอสมควรก็ตาม แต่คะแนนนิยมก็ยังห่างจากคนอื่นๆ เยอะมาก" แหล่งข่าว ระบุ
อย่างไรก็ดี พรรคไทยรักไทยได้มีการตั้งทีมประเมินสถานการณ์การเมืองแบบรายวัน โดยทีมของนายวีระ มุสิกพงศ์ นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ นายสุธรรม แสงประทุม จะประชุมกันในช่วงบ่ายของทุกวัน และรายงานให้แกนนำพรรคทราบตลอด
พ่อมดดำทวงสัญญาบอกล่วงหน้าวันยุบ
ขณะที่ น.พ.สุทธิชัย จันทร์อารักษ์ ส.ส.ยโสธร กลุ่มพ่อมดดำ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการออกมาของ พล.ต.จำลอง ที่ถือได้ว่ามีต้นทุนทางการเมืองสูง การชุมนุมก็ส่อเค้าว่าจะมีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน บรรดาครูอาจารย์ที่นายกฯ เรียกไปประชุมนั้น หลายคนก็ยืนยันว่า เป็นการเรียกไปเพื่อจัดฉากซื้อเวลา ทำให้เขาเชื่อว่า จะมีการยุบสภาจริงในเร็ววันนี้
"การที่นายกฯ ออกมาขู่ในที่ประชุมพรรคจนเป็นที่พูดถึงกันตลอดสัปดาห์ เป็นเพราะนายกฯ รู้สึกโกรธและกดดันที่ไม่มี ส.ส.ในพรรคออกมาปกป้องในภาวะที่ถูกโจมตี แต่เรื่องนี้ก็ต้องถามกลับว่า ส.ส.จะออกไปปกป้องได้อย่างไร เพราะกรณีแอมเพิล ริช ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่เคยมีการชี้แจงให้ ส.ส.ในพรรคเข้าใจ เชื่อว่าคงเป็นการประเมินของแกนนำที่ได้ให้คำปรึกษากับนายกฯ แล้วว่า สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้คงจะถึงทางตัน" น.พ.สุทธิชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี น.พ.สุทธิชัย กล่าวว่า หากจะมีการยุบสภาจริงๆ ส.ส.ที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับพรรค เช่น วังน้ำเย็น ก็คงจะได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีการปลดล็อก 90 วัน ดังนั้น ในฐานะ ส.ส.หากนายกฯ จะยุบสภาจริงก็ควรบอกกันล่วงหน้าก่อน เพราะอย่างน้อยก็เคยสัญญาไว้ว่าจะให้ความยุติธรรมกับ ส.ส.
ส่วนความเคลื่อนไหวของนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้นำกลุ่มวังน้ำเย็น พรรคไทยรักไทย กล่าวกับแกนนำกลุ่มว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เรียกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สะดุดขาตัวเอง หากแต่มันถึงจุดของมันแล้ว เพราะเรื่องสำคัญทุกเรื่องนั้น ก่อนทำ พ.ต.ท.ทักษิณได้ไตร่ตรองไว้ก่อนทุกเรื่อง จึงเรียกว่าสะดุดขาตัวเองไม่ได้ ส่วนที่จะแก้ปัญหาด้วยการเปิดประชุมร่วม 2 สภานั้น แม้จะเปิดก็ไม่มีความหมาย เพราะการอภิปรายข้างนอกของครู อาจารย์ และนักวิชาการนั้น เวลานี้รุนแรงและตรงประเด็นทั้งหมดแล้ว
ฝ่ายค้านบุกทำเนียบทวงเสียงส.ส.รัฐ
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00 น. ก่อนประชุม ครม.พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นร่างญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมกับยื่นจดหมายทวงสัญญาจากนายกรัฐมนตรี ให้ ส.ส.พรรคไทยรักไทยมาร่วมลงชื่อในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ครบ 200 ชื่อด้วย
ซึ่งเนื้อหาในจดหมายทวงสัญญา ได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ในรายการถึงลูกถึงคน ที่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ที่นายกฯ พยายามหาเสียงให้ได้ 400 เสียง ซึ่งผู้ดำเนินรายการได้สอบถามว่า หากมีถึง 400 เสียง จะทำให้กลไกการตรวจสอบไม่เป็นผลได้ ซึ่งนายกฯ ได้บอกว่า ถ้าอยากอภิปรายนายกฯ ให้บอก จะไปเซ็นให้ และย้ำด้วยว่า นี่พูดเรื่องจริง
เผยร่างญัตติตั้งข้อหาทักษิณฉกรรจ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว มีเนื้อหา 3 หน้ากระดาษ โดยชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมอันร้ายแรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ การสะสมอำนาจในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยวิธีการที่ถือเป็นการทำลายล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตลอด 5 ปีได้ลุแก่อำนาจไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจไม่ยั้งคิด เมื่อมีผู้ทักท้วงก็ใช้พฤติกรรมอำนาจบาตรใหญ่ในแบบนักเลงโตข่มขู่ กรรโชกตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย และอาศัยอำนาจการกุมเสียงข้างมากในระบบรัฐสภา กระทำการอันมิบังควรผ่านกระบวนการทางกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ และยังบังอาจจาบจ้วงกล่าวกระทบพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่พสกนิกรเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังใช้อำนาจรัฐออกนโยบายผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนตนกับต่างชาติ ใช้เงื่อนไขกฎหมายสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง และยังมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 209 กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ มีพฤติกรรมปกปิดทรัพย์สิน สร้างภาพว่าเป็นผู้นำที่รักชาติแต่พฤติกรรมกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่สนองประโยชน์ทางธุรกิจจนเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ได้จำนวนมหาศาล ทำลายหลักคุณธรรมจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลทางธุรกิจอย่างสิ้นเชิง และชัดเจนในกรณีการขายหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท แต่ทำให้ประเทศต้องเสียประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมหาศาล เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือครองทรัพยากรของชาติสร้างความคับข้องใจอย่างรุนแรงให้ประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งยังบริหารประเทศผิดพลาดอย่างร้ายแรง จนประเทศตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียบูรณภาพเหนือดินแดน
พฤติกรรมทั้งปวงชี้ให้เห็นชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่ขาดจิตสำนึกประชาธิปไตยอย่างรุนแรง มองประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจจึงทำทุกอย่างให้ได้อำนาจและดำรงอยู่ในอำนาจเพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนตัว ในการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าของครอบครัวและวงศ์ตระกูล การตัดสินใจขายหุ้นของธุรกิจครอบครัวให้กลุ่มธุรกิจต่างชาติ ได้รับผลกำไรมูลค่ามหาศาล โดยใช้วิธีการอันสลับซับซ้อน ยอกย้อน เพื่อหาช่องทางกฎหมายมารองรับการซื้อขายให้ชอบธรรมโดยไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ นับเป็นแบบอย่างที่เลวร้าย สร้างบรรทัดฐานที่เห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อย่างที่สังคมไทยไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ดังนั้น ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสภาจึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่ใช้กระบวนการนี้แล้ว เกรงว่าการดำรงตำแหน่งต่อไปของนายกฯ จะกลายเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การต่อต้าน การเผชิญหน้าทางสังคมอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนได้ เพราะที่มาของปัญหาทั้งหมดล้วนแต่เกิดจากพฤติกรรมอันไม่น่าไว้วางใจที่สะสมต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในท้ายญัตติได้มีการเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกฯ คนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 201 วรรค 2 ด้วย
เติ้งชี้การเมืองร้อนเหตุธุรกิจนายกฯ
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า การเปิดรัฐสภาต้องดูว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้พูดมากน้อยแค่ไหน หากให้ฝ่ายค้านพูดทุกประเด็น ก็จะเกิดความกระจ่าง หากประธานในที่ประชุมเบรกให้ฝ่ายค้านพูดเรื่องนั้นก็ไม่ได้ เรื่องนี้ก็ไม่ได้ ปัญหาก็ไม่จบ ต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องจริงใจในการเปิดด้วย
เมื่อถามว่า มองว่าการเปิดประชุมรัฐสภาจะเป็นการประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนใช้ไพ่ใบสุดท้าย คือการยุบสภาก่อนเกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะปัญหาจากกลุ่มวังน้ำเย็นหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า สมัยพรรคประชาธิปัตย์ สมัยนั้นเจอ ส.ป.ก.4-01 สมัยผมเองก็เจอกดดันให้ลาออก แต่ตอนนี้มันไม่เกี่ยวกับเรื่องสภา มันจะไปยุบ...ไม่รู้นะ ผมก็กลัวเรื่องการยุบ ไม่ใช่ไม่กลัว มันเป็นเรื่องของการทำงานในธุรกิจของท่านเอง และหยิบยกประเด็นกันขึ้นมา มันอย่างนั้น
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ หัวหน้าพรรคชาติไทย ยอมรับว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นช่วงท้ายของรัฐบาลหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ในแต่ละวัน เพราะตอนนี้การชุมนุมก็กระจายไปทั่ว แต่ในมุมของรัฐบาลก็มีระดับสติปัญญาสมองเลิศตั้งหลายคนจากพรรคชาติไทยก็มีเข้าไปอยู่ และคอยให้คำแนะนำ เป็นระดับกุนซือใหญ่ ซึ่งไม่อยากบอกว่าเป็นใคร แต่อยากเตือนนายกฯ ว่าอย่าไปเชื่อมาก
นายบรรหาร กล่าวด้วยว่า มีเรื่องอยากพูดเพิ่มเติมคือ อยากจะฝากถึงนายกฯ ให้พูดน้อยๆ อย่าพูดมาก เพราะบางครั้งพูดมากมันพลาด
"สุชน"ชี้ควรถกขายหุ้น-แก้รธน.
นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่หลายฝ่ายสงสัย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลก็เคยเปิดประชุม 2 สภา เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการเปิดครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน
"แต่การเปิดประชุมครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะกำหนดประเด็นหรือโจทย์อะไร เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้อภิปราย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการขายหุ้นชินคอร์ป ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนว่าอภิปรายประเด็นอะไร" นายสุชน กล่าว
ส.หนังสือพิมพ์-อัยการออกสมุดปกขาว
วันเดียวกัน สภาหนังสือพิมพ์จับมือสภาทนายความ ออกสมุดปกขาว 6 หมื่นฉบับ เปิดเผยแผนขั้นตอนการขายสมบัติชาติ
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ร่วมกันแถลงถึงการทำสมุดปกขาว เกี่ยวกับรายงานการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นและหลักทรัพย์ของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีการแปลความไม่ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ
โดยนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ ได้ร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ในกรณีดังกล่าว โดยจัดพิมพ์เป็นสมุดปกขาว 6 หมื่นฉบับ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเสร็จสมบูรณในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีเนื้อหาความยาวจำนวน 26 หน้า
ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กองทุนเทมาเซค ซึ่งกระทบทั้งความมั่นคง เกิดข้อครหาเรื่องการเสียภาษี ความไม่สง่างามของนายกฯ