ประธานกมธ.หวั่น5ว่าที่ปปช.ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
"ถ่ายทอดสดทางวิทยุและโทรทัศน์"
กมธ.ปปช. หวั่น 5 ว่าที่ปปช.ส่อขัดรธน. ระบุตำแหน่งไม่เท่าอธิบดี แฉ พิรุธขั้น กก.สรรหาเกิดบล็อกโหวต รุมจี้วุฒิล้างบาป ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนเลือก หวั่นซ้ำรอยชุดตีกลับ
(16สค.) เวลา 10.05น. มีประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แทนตำแหน่งที่ว่างซึ่งเป็นวาระที่ค้างจากการประชุมโดยมีนายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานพร้อมได้แจ้งว่ามีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ รักษาการ ส.ว.พิษณุโลก ประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติฯ
"ตรวจสอบเสร็จแล้ว"
ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงผลการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 18 คนว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่1ของรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม,
รายงานการตรวจสอบกระบวนการสรรหาและความสัมพันธ์ทางการเมืองของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.และรายงานการแสดงวิสัยทัศน์ ในส่วนที่ 2 เป็นรายงานลับที่จะรายงานที่ประชุมให้ทราบต่อไปซึ่งมีรายละเอียดบางประการที่คณะกรรมาธิการฯตรวจสอบ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาเป็นการลับจึงขอให้มีการประชุมลับ
"ไม่ชัดเจนเจอร้องเรียนแน่"
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายโดย ส.ว.หลายคน เช่น นายปรีชา ปิตานนท์ รักษาการ ส.ว.จันทรบุรี นายสมบูรณ์ ทองบุราณ รักษาการส.ว.ยโสธร ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาคุณสมบัติเกี่ยวกับตำแหน่งที่ระบุว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นปปช.จะต้องเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือเทียบเท่า แต่มีบางคนที่ได้รับการเสนอชื่อหลายคนมีปัญหาดังกล่าว
และที่ผ่านมาก็เคยเกิดปัญหานี้มาแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้นำเรื่องนี้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติเลือกกรรมการปปช.ต่อไป เพราะถ้าเป็นปัญหาทำให้ปปช.ถูกเลื่อนออกไปอีกจะเป็นบาปกรรมของ ส.ว.ชุดนี้ และถ้าไม่ชัดเจนเชื่อว่าจะต้องมีการร้องเรียนอย่างแน่นอน
"ลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกัน"
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการส.ว.กรุงเทพฯในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบกระบวนการสรรหาและความเป็นกลางทางการเมืองได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบกระบวนการสรรหา พบว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อคนหนึ่งที่เมื่อตรวจสอบแล้วกรรมการสรรหา 6 คนลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกัน โดยแต่ละรอบมี 4-5 คนลงคะแนนเหมือนกัน
ซึ่งการลงคะแนนลักษณะนี้ประชาชนจับตาดูว่าจะเป็นการบล็อกโหวตหรือไม่ และในที่สุดบุคคลนี้ก็หลุดเข้ามาอยู่ในรายชื่อผุ้ได้รับการเสนอชื่อ 1 ใน 18 คนจริง ๆ นอกจากนี้การที่พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ในขณะนี้ และนายปราโมทย์ โชติมงคล เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาในขณะนั้น เข้ามาเป็นกรรมการสรรหาด้วย ทั้ง ๆ ที่มีคดีค้างอยู่ที่ปปช. ในคดีการขอขึ้นเงินเดือนตัวเอง
"ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ"
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองของผู้ได้รับการเสนอชื่อ กรรมาธิการฯได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่งข้อมูลมาให้มาก แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดว่าใครมีความสัมพันธ์กับใคร แต่พบว่าหลายคนมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง และนักการเมือง รวมทั้งระดับครอบครัว เครือญาติ ก็มีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการยังสรุปว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 5 คน มีปัญหากี่ยวกับคุณสมบัติตำแหน่งที่เทียบเท่าอธิบดี โดยจากการฟังการชี้แจงจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ระบุว่าการเทียบตำแหน่งของกพ.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเทียบเคียงในการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าเดินทางเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงมีมติให้เสนอชื่อ
"จึงไม่น่าเป็นไปตามเจตนารมณ์"
1.นายสันติ บางอ้อ รองเลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2. นางสัจจา ศศะนาวิน รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 3. นางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4. พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัดผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และ 5. นายดิลก บุญเรืองรอด อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาราชภัฎสวนสุนันทา ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่เทียบเท่าอธิบดี จึงไม่น่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(3) ประกอบมาตรา 297
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก