ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 ว่า มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากนายทหาร 4 นาย ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 ดังนี้
1. ให้ถอด ร้อยเอก พุทธิพงษ์จันทร์คำ และ ร้อยเอก พิเชษฐ์ ดีเสมอ สังกัดกองทัพบก ออกเสียจากยศทหาร เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ และถูกปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2551
นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์และเหรียญจักรมาลา จากร้อยเอกพุทธิพงษ์ จันทร์คำ และให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือกและจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ซึ่ง ร้อยเอก พิเชษฐ์ ดีเสมอ
2.ให้ถอด เรือโท ประกิจ อินทร์พรหม สังกัดกองทัพเรือ ออกเสียจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เนื่องจากได้กระทำความผิดทางอาญา และกระทรวงกลาโหมได้ปลดออกจากราชการ
3.ให้ถอด พันโทมานพ วิริยะภาพ สังกัดกองทัพบก ออกเสียจากยศทหาร เนื่องจากกระทำความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและถูกปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์2552 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทยและเหรียญจักรมาลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเรียกคืนเครื่องราชฯดังกล่าวข้างต้น เป็นการทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548(ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548) กำหนด เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้ 8 ประการ คือ
(1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(4) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(5) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(6) เป็นผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(7) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(8) เป็นผู้ประพฤติตนไม่สมเกียรติหรือนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปใช้ในกรณีไม่สมควร
สำหรับขั้นตอนการเสนอเรียกคืนเครื่องราชฯนั้นกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์... ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
จากนั้นให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
จากระเบียบดังกล่าวเห็นชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายที่นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกดังกล่าวฯเนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122
สำหรับเครื่องราชฯที่พ.ต.ท.ทักษิณได้รับพระราชทานได้แก่
พ.ศ. 2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ. 2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. 2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. 2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. 2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ. 2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิรแล้ว ยังมีบุคคลที่น่าจะเข้าข่ายถูกเสนอให้เรียกคืนเครื่องราชฯอีก เช่น
นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนาน 10 ปี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ลงมติว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงเพราะทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งมีมติ อ.ก.พ.กระทรวงแรงงานว่า มีมติให้ออกจากราชการแล้ว อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม(ก.พ.ค.)
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกไล่ออกจากราชการคดีการส่งออกเสือโคร่ง100 ตัวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 มิถุนายน 2552ยังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "พระราชทานพระบรมราชานุญาตถอนพระนามและนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี 2551 "เนื่องจากส่วนราชการต้นสังกัดเสนอขอพระราชทานคลาดเคลื่อน จำนวน 7 ราย ดังนี้ ชั้นมหาวชิรมงกุฎ พล.ท.อดุล อุบล, ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ และ พล.ต.หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล, ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย นายธวัช ปทุมพงษ์ นายสุรชัย จงรักษ์ น.ส.ศุภานัน สิทธิเลิศ และชั้นจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ
ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ4นายทหาร รอคิวทักษิณ เข้าข่ายเดียวกัน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ4นายทหาร รอคิวทักษิณ เข้าข่ายเดียวกัน