กกต.ตั้งป้อมขวาง ตัดม.237 ปล่อยผีนักเลือกตั้ง

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (10 มิ.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง

กล่าวถึงคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีความเห็นให้ยกเลิกมาตรา 273 วรรค 2 กรณีที่เกี่ยวกับการยุบพรรค และเสนอให้มีศาลเลือกตั้งแจกใบเหลืองแดงแทน กกต. ว่า การให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังประกาศผลนั้น ศาลทำหน้าที่พิจารณาในส่วนนี้อยู่แล้ว กกต.ไม่มีอำนาจอะไร ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมถือว่าเข้ามาทำหน้าที่ได้อย่างเรียบร้อยและตัดสินคดีได้เร็วพอสมควร หากมีการตั้งศาลเลือกตั้งคิดว่าน่าจะเป็นการไปเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แต่หากจะตั้งขึ้นมาจริงๆ ทางกกต.ก็ไม่มีปัญหา

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่จะมีการลดอำนาจ กกต.ในการให้ใบเหลืองใบแดง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งนั้น

หากเป็นเช่นนั้น ก็จะเปิดช่องให้นักการเมืองทำทุจริตกันอย่างเต็มที่ แล้วค่อยไปลุ้นต่อสู้คดีหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปแล้ว เพราะเรื่องจะไปสู่ศาล ก็จะย้อนกลับไปสู่ระบบเดิม ที่กระทรวงมหาดไทยเคยจัดการเลือกตั้ง โดยให้ผู้แพ้ทำหน้าที่เป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลเอง ซึ่งศาลก็ใช้เวลานาน และไม่เคยมีคำตัดสินให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้นักการเมืองไม่เกรงกลัว จึงต้องมีการตั้งกกต.ขึ้นมา และที่ผ่านมากกต.ก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร ถ้าไม่มี กกต.ก็จะไม่มีการให้ใบเหลืองใบแดงกับนักการเมืองที่ทำทุจริตการ เลือกตั้งมาถึง 11 ปี 

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไข รัฐธรรมนูญสรุปผลรวม 6 ประเด็นว่า

แนวทางข้อสรุปทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการ เมืองทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องใดที่เกี่ยวข้อง หรือประชาชนจะมีส่วนได้เสีย ส่วนตัวเห็นว่าประเด็นที่ติดใจมากที่สุดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ซึ่งเป็นโทษจากการทุจริตเลือกตั้งว่าด้วยการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้นๆ โดยมีข้อสรุปให้แก้ไขด้วยการยกเลิกโทษการยุบพรรคการเมืองและให้เป็นแค่ความผิดเฉพาะตัวของผู้สมัครที่ทุจริต โดยกรรมการบริหารพรรคไม่ต้องรับโทษใดๆ ทั้งที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง เพราะกรรมการบริหารพรรคจะต้องรับผิดชอบสูงกว่าสมาชิกพรรคธรรมดา หรือผู้สมัคร ส.ส. เพราะการทุจริตการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นๆ โดยตรง ไม่สามารถปฏิเสธได้  

นายเทพไท กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่า ควรแก้ไขเพียงแค่ยกเว้นโทษการยุบพรรคการเมืองเท่านั้น

แต่ยังให้คงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกับคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนรู้เห็นและกระทำความผิดทุจริตเลือกตั้ง ต้องตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เพื่อให้เข็ดหลาบและหมดอนาคตทางการเมืองไปเลย ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่าควรที่จะเปิดโอกาสเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนเจ้าของอำนาจโดยตรงด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะถูกสังคมครหาว่า เป็นเรื่องของนักการเมืองที่แก้ไขกฏหมายเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์