"มาร์ค :"...การยิงมัสยิดเป็นเรื่องไม่ปกติ...ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รบ.วิตกกังวล-เสียใจ" / ""พล.อ.อนุพงษ์ :"...ผู้ก่อการร้ายพยายามสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายป้ายสีจนท.ว่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน" / ""นักวิชาการอิสระ :" ... เป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก...ชาวบ้านรู้สึกช็อค คาดไม่ถึงว่าจะเกิดซ้ำรอยแบบตายหมู่อีก"
ที่มา - เป็นคำให้สัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และนักวิชาการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ต่อกรณีคนร้ายลอบก่อเหตุร้ายรุนแรงเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ เหตุการณ์คนร้ายยิงเข้าไปในมัสยิดบ้านอาปาแย หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะชาวมุสลิมกำลังทำละหมาด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย
----------------------------------
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ขณะนี้ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ข้อเท็จจริงแล้ว และในวันที่ 13 มิถุนายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ.จะเดินทางลงไปในพื้นที่อีกครั้ง โดยในวันที่ 11 มิถุนายนนั้นจะมีการรายงานสถานการณ์ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจภาคใต้ จากการพูดคุยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการปรับการทำงานของคณะกรรมการจากเดิมที่ดูเฉพาะการพัฒนา ก็จะให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาร่วมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันให้ชัดเจนมากขึ้น
แต่ก็มีข้อสังเกตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ที่มีความแตกต่างไปจากการก่อความไม่สงบในอดีต ซึ่งบางเรื่องต้องไปปรับแนวทาง เช่น กรณีการใช้ระเบิดในรถยนต์ ที่เคยเฝ้าระวังกันใน อ.เมืองเป็นหลัก หรือกรณีการยิงในมัสยิด ก็เป็นเรื่องไม่ปกติ เนื่องจากไม่ใช่รูปแบบของการดำเนินการก่อความไม่สงบในอดีต นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องสภาพพื้นที่ที่เกิดเหตุในช่วง 3-4 วันนี้เป็นพื้นที่ที่ภาครัฐเข้าถึงได้น้อย
@ พื้นที่ที่รัฐเข้าถึงได้น้อยคือพื้นที่อิทธิพลของผู้ก่อความไม่สงบ
ขณะนี้เราพยายามให้คนของทางการได้เข้าไปช่วยทำงานกับชาวบ้านในการพัฒนาหลายพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นรัฐยังเข้าไปทำได้น้อย
@ ความผิดปกติของการก่อเหตุนั้นเกิดจากอะไร
น่าจะได้มีการพูดคุยกันอย่างละเอียดมากขึ้นในการประชุม ครม.ภาคใต้
@ จะมีการพัฒนาการก่อความไม่สงบไปถึงขั้นการพลีชีพหรือไม่
ยังไม่ได้สรุปไปถึงขนาดนั้น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็ได้ตั้งข้อสังเกตลักษณะการก่อการ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือจุดที่บ่งบอกความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากต้องวิเคราะห์พื้นที่และปัจจัยเฉพาะของการก่อเหตุด้วย
@ การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์คือการยกระดับการก่อความไม่สงบหรือไม่
คงไม่ใช้คำนั้น เพียงแต่มันเปลี่ยนแปลงไป แต่คงไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ละเอียดเนื่องจากทุกคนเข้าใจกันดี
@ ต่อไปนี้จะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในการก่อความไม่สงบหรือไม่
มันเป็นช่วงๆ ซึ่งเราต้องสังเกต อาทิ ในช่วงเปิดเทอมใหม่หรือการตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณหรืออะไรต่างๆ
@ ผู้ที่เข้ามาก่อเหตุใช่กลุ่มที่อยู่นอกประเทศหรือไม่
ผมเพียงแต่ชี้ว่า ในบางเหตุการณ์พฤติกรรมและรูปแบบการกระทำมันไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องตรวจสอบและเร่งหาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดลึกไปกว่านี้ เพียงแต่ต้องมีข้อสังเกตตรงนี้ให้ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ในทิศทางที่ถูกต้อง
@ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณที่กำลังจะมีการพิจารณาลงไปในพื้นที่หรือไม่
ขณะนี้ไม่มีประเด็นเรื่องงบประมาณที่ค้างอยู่ แต่งบประมาณที่ภาครัฐได้ดูแลนั้นเพียงพอแล้ว ในอดีตจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ 2 ส่วนคือ
1.ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคือประชาชนสะท้อนมาว่าได้สัมผัสน้อย ซึ่งได้ทำความเข้าใจในการจัดทำแผนครั้งใหม่ใน ครม.ภาคใต้แล้ว
2.ส่วนของข้าราชการ ที่ต้องรอเรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย ซึ่งขณะนี้ได้อนุมัติงบฯกลางไปเกือบครบแล้ว ซึ่งไม่น่าจะมีประเด็นเรื่องงบประมาณ แต่หากใครไปหวังผลตรงนั้นก็ต้องบอกว่าไม่มีผล
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลก็วิตกกังวล และเสียใจ แต่ก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยในการเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากทางมาเลเซียก็ได้พูดชัดเจนต่อสาธารณะว่าต้องการเห็นความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องการช่วยไทยเท่าที่ไทยต้องการความช่วยเหลือจากมาเลเซีย โดยไม่มีความประสงค์จะเข้ามาแทรกแซงอะไร
@ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้นหรือไม่
หากเราสะสางเหตุการณ์ได้เร็วก็จะช่วยได้มาก ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะมีความพยายามไปสร้างกระแสในพื้นที่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงคืนวันที่ 8 มิถุนายน
แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่การพัฒนาในพื้นที่จะต้องเดินตามแผนการเดิมที่ได้วางเอาไว้ เพราะมั่นใจว่าการพัฒนาจะเป็นคำตอบในระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นทุกคนต้องแน่วแน่และอดทนในการทำสิ่งเหล่านี้ โดยต้องเข้าใจความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สูญเสียให้ดีที่สุด โดยจะต้องไม่ชะงักและต้องพยายามเดินต่อให้ได้ เนื่องจากการชะงักคือความประสงค์ของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการสกัดกั้นกระบวนการเข้าไปให้ถึงการพัฒนา
@ วัตถุประสงค์ของผู้ก่อความไม่สงบยังต้องการแยกดินแดนหรือไม่
ก็มีบางส่วนที่ยังเป็นเรื่องนั้น แต่ก็มีหลายกลุ่มอยู่ เพราะต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่เข้ามาเกี่ยวข้องมันหลากหลายพอสมควร แต่ยังอยู่ในวิสัยที่รัฐยังรับมือได้
@ เกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่นด้วยหรือไม่
ก็มีการตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงกันในบางพื้นที่
@ จำเป็นต้องยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกหรือไม่
ต้องรอการประเมินจากการลงพื้นที่ของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่อยู่ เพราะจะไปสรุปว่าการยังมีเหตุการณ์อยู่แล้วจะต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ก็คงจะไม่ได้
--------------------------------------
นายกฯ-ผบ.ทบ.ชิงปรับแผน หลังโจรใต้ยิงมัสยิดขณะทำละหมาด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ผู้บัญชาการทหารบก
เราใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร คือ พยายามเอาการพัฒนาทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาเข้าไปแก้ปัญหา เพื่อทำให้เอาชนะใจประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมาตรการนี้นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ยืนยันว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเขาเห็นด้วย โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียใช้คำว่า เพื่อเอาชนะจิตใจของประชาชน คือ to win heart and mind จึงจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งแนวทางดำเนินการต่างชาติมองว่าไปในทิศทางเดียวกัน และประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และให้ความร่วมมืออย่างดี ซึ่งเราไม่ใช้มาตรการกดขี่ข่มเหงหรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
"เหตุการณ์ที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายพยายามสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายป้ายสีให้เจ้าหน้าที่ว่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน นอกจากนี้ยังพยายามก่อกวนทั่วพื้นที่แสดงให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และความหวาดกลัว ยืนยันว่าแนวทางเราอยู่บนพื้นฐานกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อน อันนี้ต้องขอประณาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพยายามรักษาสถานการณ์ในเชิงลับ วันนี้จะหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือประชาชน อาสาสมัคร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร จะใช้มาตรการอย่างไรจะสามารถดำเนินการกับผู้ก่อความไม่สงบให้ได้"
ได้ปรึกษาหารือนายกฯ ซึ่งมีความกังวลกลุ่มก่อการร้ายพยายามสร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางที่เราทำอยู่ นายกรัฐมนตรีกังวลตรงนี้ และขอให้กองทัพยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้มาตรการที่ไม่ถูกต้อง และจะอยู่กับประชาชนร่วมมือทำงาน เน้นให้พูดกับประชาชนอย่าให้เกิดความไม่สบายใจหรือเข้าใจผิด และวันที่ 13 มิถุนายน 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อว่าจะดูในเรื่องใดบ้าง
"ยังไม่มีขบวนการใดมารับว่าเป็นผู้ปฏิบัติการในเหตุการณ์ทั้งหมด มีเพียงมาตรการข่าวที่มีหลักฐานต่างๆ มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดออกไป"
ส่วนที่กลุ่มก่อการร้ายพยายามยกระดับไปสู่นานาชาตินั้น มีความพยายามแน่นอน เช่น สร้างสถานการณ์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน พยายามสร้างสถานการณ์ให้ต่างชาติรับรู้ ทั้งนี้เราพยายามทำงานทั้งสองแนวทาง คือ สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในเชิงรุกและเชิงลับ และยกระดับความเป็นอยู่ สถานการณ์ขณะนี้ต่างชาติยอมรับวิธีการปฏิบัติของเรา ซึ่งทุกภาคส่วนในพื้นที่มีความร่วมมือทั้งสิ้น
ส่วนมาตรการดูแลครูในพื้นที่นั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า ครูไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา ถ้าอยู่ในความคุ้มครองของทหารจะปลอดภัย มีเหตุการณ์แทรกซ้อนมีการใช้ระเบิดตามรายทางตรงนี้ต้องแก้ไขกัน ถนนทุกสายถ้าเราไม่สามารถเฝ้าตรวจได้ ก็มีโอกาสที่จะมาวางระเบิด ครูเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงประชาชนด้วย
กรณีจำเป็นประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สถานการณ์รุนแรงหรือไม่นั้น ต้องไปปรึกษาหารือกันก่อนว่ามาตรการควรจะดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้นในชุมนุมต้องมีมาตรการที่รัดกุม เมื่อมีมาตรการรัดกุมไม่ว่าอะไรจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น หากว่าเราไม่สามารถที่จะสกรีนรถที่ติดระเบิดเข้ามาในชุมนุมได้ เหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถ้าจะทำให้เกิดความปลอดภัยจะต้องทำอย่างไรให้ดีที่สุด ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ส่วนยังจำเป็นจะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกอยู่หรือไม่นั้น รัฐบาลพูดชัดเจนแล้ว ซึ่งกองทัพก็มีแนวทางแน่ชัดว่า หากมีความจำเป็นก็พิจารณาตามหลักเหตุผล หากจะต้องเลิกก็เลิกโดยเหตุผล และจะใช้กฎหมายในลักษณะใดมาทดแทนก็ว่ากันไป
"ส่วนเรื่องงบประมาณมีเพียงพอ ทั้งนี้ การเอาชนะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องใช้มาตรการทางการเมือง คือการเอาชนะจิตใจคนถึงจะแก้ปัญหาได้ ทำให้เห็นว่าอำนาจรัฐทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น และมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนมาตรการทางทหารก็จะใช้ตามหลักกฎหมายบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน"
--------------------------------
อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
นักวิชาการอิสระ
การยิงชาวบ้านตายในมัสยิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ในขณะที่กำลังปฏิบัติศาสนกิจเช่นนี้ เป็นเรื่องใหญ่หลวงมากที่สุด ความรู้สึกว่ารุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เหตุการณ์ครั้งนี้จะต้องตรวจสอบและทบทวนความจริงให้ตกผลึกว่า มีรายละเอียดมากน้อยอย่างไร เพราะความเลวร้ายที่เกิดขึ้นประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกช็อค คาดไม่ถึงว่าจะเกิดซ้ำรอยแบบตายหมู่เช่นนี้อีก เพราะเหตุการณ์ยิงกราดตายหมู่เคยเกิดที่บ้านกะทอง อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2548 มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน
ถ้ารัฐไม่สามารถทำความจริงให้สาธารณะทราบได้ จะเกิดความเข้าใจและสรุปว่าน่าจะเป็นกลไกของรัฐในพื้นที่เป็นคนลงมือ การเข้าใจเช่นนี้ทำให้งานการเมืองของรัฐเสียหายและล้มเหลวในระดับพื้นที่
ฉะนั้นอย่าได้เอาเหตุการณ์นี้เพื่อสรุปง่ายๆ ในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มความเข้มข้นในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษใดๆ ในพื้นที่อีก ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคง เพราะตัวกฎหมายคือที่มาแห่งความรุนแรงที่สำคัญ
ความจริงที่เราเห็นในภาคใต้ ทุกวันนี้ งานการเมืองและการพัฒนา ตามแนวทางที่รัฐบาลคิดอยากจะทำ มันดูไม่เกิดเป็นรูปธรรมเลย ชาวบ้านเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังเล่นการเมืองกันเอง ระหว่างรัฐบาลกับทหาร เพราะอำนาจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในปัจจุบันดูเหมือนว่า รัฐบาลเป็นเพียงกระบอกเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมกับกิจกรรมของทหารเท่านั้น
------------------------------------