กรณ์เล็งเปิดเสรีตลาดเงิน-ตลาดทุน ต่างชาติถือหุ้นแบงก์กว่า49%

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดทุน เพื่อเปิดเสรีตลาดการเงินและตลาดทุนให้มากขึ้น เพื่อเปิดรับผู้แข่งขันจากภาคเอกชนไทยและต่างประเทศให้เข้ามาในระบบมากขึ้น เพราะยึดหลักว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างเข้มแข็งได้ ต้องมีการแข่งขันเต็มที่

"ตลาดทุนไทยปัจจุบันเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ 100% อยู่แล้ว แต่ในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินยังมีเกณฑ์ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49% แต่หากมีความจำเป็นที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่ม กระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนก็พร้อมจะปลดล็อคหากเห็นว่าจะสร้างประโยชน์กับประชาชน" นายกรณ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ถึงร่าง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวมกัน 8 แสนล้านบาทว่า

พ.ร.บ.กู้เงินน่าจะผ่านการพิจารณาของสภาได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ผ่านความเห็นชอบของสภา หากการกู้เงินผ่านในช่วงเดือนตุลาคมก็สามารถใช้เงินได้อีกแต่ต้องดูความพร้อมของโครงการที่จะไปดำเนินการ หวังจะเห็นไตรมาสสุดท้ายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวก ส่วนวิธีการการหาเงินมานั้นเป็นแผนการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการออกพันธบัตรเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ออม โดยได้พูดคุยกับนายกรณ์ ว่าน่าจะดำเนินการได้เร็ว เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุจองซื้อพันธบัตรได้ก่อน สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตร 5 ปีนั้นจะเริ่มต้นจากร้อยละ 2.5 แล้วเพิ่มขึ้นในปีหลังๆ หากเก็บไว้ได้นานถึง 5 ปี


นายกฯ ยังกล่าวในงานยูโร มันนี่ ไทยแลนด์ อินเวสต์เมนท์ฟอร์รัม ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพ ด้วยว่า เชื่อว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

คาดว่าช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้จะยังหดตัว และจะขยายตัวในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะหดตัว ติดลบ 3-5% และจะขยายตัว 1-2% ในปี 2553 เป็นผลมาจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานในระยะยาว


นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย กล่าวในงานเดียวกันว่า เป็นห่วงการเมืองจะเป็นปัจจัยฉุดดึงเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ขอเสนอให้ไทยพัฒนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเสนอให้แก้กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อาจจะจำเป็นต้องเปิดเสรีภาคการบริการ และสนับสนุนการแพทย์และตลาดเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ


นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงแผนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทว่า เป็นการกู้สมทบเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาท

โดยภายในสิ้นกันยายนนี้ สบน.จะต้องกู้เงินทันที 1.2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาสมทบเงินคงคลังไม่ให้ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคลรอบ 2 ในเดือนสิงหาคมนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 8 หมื่นล้านบาทจะกู้ในไตรมาสแรกปีหน้า
นายพงษ์ภาณุกล่าวว่า การกู้ยืม 1.2 แสนล้านบาทดังกล่าว จะแบ่งเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ใน 2 ปีแรกและปรับเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ปีที่ 3 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการแล้วคาดว่าจะสามารถขายได้ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ที่เหลือจะแบ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 และ 5 ปี ตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นการกู้ระยะสั้นโดยตรงจากธนาคารพาณิชย์อายุไม่เกิน 6 เดือน และบางส่วนจะเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) ซึ่งเป็นการกู้ระยะยาวโดยตรงจากธนาคารพาณิชย์อายุมากกว่า 4 ปี โดยจะประกาศรายละเอียดในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนนี้
 

สำหรับวงเงินกู้อีก 2 แสนล้านบาท จะใช้ในโครงการลงทุนในแผนไทยเข้มแข็ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกู้จากธนาคารพาณิชย์ในลักษณะร่วมปล่อยกู้

เริ่มกู้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะกู้ไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาท ไปจนถึงสิ้นปี 2553 นอกจากนี้ สบน.ยังมีวงเงินกู้ต่างประเทศอีก 10% ของงบประมาณรายจ่าย หรือ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 8 หมื่นล้านบาท เพราะได้กู้ไปแล้ว 1 แสนล้านบาท รวมถึงยังมีเงินกู้จากธนาคารโลก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากไจก้า จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อีกแห่งละ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงยังมีสภาพคล่องพอในการบริหารจัดการภาระหนี้ให้กับรัฐบาล แต่ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมและต้นทุนที่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาลมากนักด้วย


ส่วนการอภิปรายร่างกฎหมายกู้เงินนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดจำนวน ส.ส.ไว้ 20 คน ประเด็นเศรษฐกิจนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน จะนำทีมอภิปราย

ขณะที่ประเด็นการเมืองนั้นนำทีมโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน
นายปานปีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคและคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พท. กล่าวว่า กำหนดกรอบอภิปรายไว้ 3 ประเด็น คือ 1.แนวทางการกู้เงินเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลักหรือไม่ 2.มีการบริหารจัดการการใช้เงินอย่างไร และ 3.มีความโปร่งใสในการใช้เงินที่จะไปดำเนินโครงการมากน้อยแค่ไหน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์