เอาตัวรอดมาได้ชนิดกองเชียร์ต้องลุ้นกันตัวโก่ง
ทั้งเรื่องพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านกับเรื่องเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน
เรื่องแรกผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0
เห็นว่าการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนจริงในการเร่งกอบกู้ฟื้นฟูความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องที่สอง อภิมหาโปรเจ็กต์เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่า 6.4 หมื่นล้าน ฝีมือสร้างสรรค์ผลงานโดยรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย
ซึ่งได้รับการคาดหมายจากใครต่อใคร ว่าจะเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ถูกบีบคั้นจากกระแสสังคมภายนอก ซึ่งดาหน้าออกมาต่อต้านโครงการนี้อย่างหนัก
ขณะเดียวกันก็ถูกกดดันจาก"ผู้มีพระคุณ"อย่างพรรคภูมิใจไทยอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน
ถึงขั้นออกข่าวข่มขู่เป็นระลอก ว่าถ้าโครงการไม่ผ่านความเห็นชอบของครม. อาจจะถอนตัวจากรัฐบาล หรือไม่ก็จะไม่ยกมือสนับสนุนพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน และร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี"53 ที่จ่อคิวเข้าสภาสมัยวิสามัญ 15-23 มิ.ย.นี้
อันจะส่งผลให้รัฐบาลต้องมีอันเป็นไปก่อนกำหนด
แต่พอเอาเข้าจริง หลังจากครม.มีมติตีกลับโครงการเป็นครั้งที่สอง โยนเรื่องให้คณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกลับไปศึกษาข้อมูลใหม่ใน 1 เดือน
เพื่อหาข้อสรุปว่า "ซื้อ" กับ "เช่า" อย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน
พรรคภูมิใจไทยก็เพียงแต่ทำท่าฟึดฟัดพอหอมปากหอมคอ แต่ไม่ได้รุนแรงหรือมีท่าทีว่าจะถอนตัวจากรัฐบาลตามที่เป็นข่าวข่มขู่ก่อนหน้านี้
ท่ามกลางข่าวสะพัดหนาหู ว่าพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย
เจรจา"เกี้ยเซี้ย"กันเรียบร้อยแล้ว
ในสายตาของสังคมส่วนหนึ่ง
มองแบบผิวเผินว่า นายอภิสิทธิ์ได้โชว์"ภาวะผู้นำ"ของนายกฯ ให้เห็นอีกครั้งหลังการปราบ"ม็อบเสื้อแดง" จนราบคาบเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ นายอภิสิทธิ์ ก็ต้องพึ่งบริการ"ยาสามัญประจำบ้าน"อย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ที่ต้องรับบทเจรจาไกล่เกลี่ยกับแกนนำภูมิใจไทย
ผลคือนายสุเทพ ยืนยันว่าโครงการรถเมล์ 4 พันคันนี้ต้องทำแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ตีขลุมดึงโครงการมาเป็นของรัฐบาลหน้าตาเฉย
ตรงกับที่เคยมีคนรู้ทันวิเคราะห์เอาไว้ว่า การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์พยายามยื้อโครงการ ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านมือไปง่ายๆ
จุดประสงค์เพราะต้องการสอดมือเข้าไปมีเอี่ยวกับโครงการเสียเอง
เนื่องจากโดยเนื้อหาโครงการ ถือว่าเกี่ยวข้องกับคนกรุงซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง ยังไม่รวมถึงมูลค่าโครงการกว่า 6 หมื่นล้าน
หัวเด็ดตีนขาดจึงไม่ยอมเสียเหลี่ยม ปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยคว้าประโยชน์จากโครงการนี้ไปคนเดียวเต็มๆ
แต่ด้วยเหตุที่มีคนออกมาคัดค้านจำนวนมาก ว่าค่าเช่าโครงการดังกล่าวสูงเกินไป และส่อว่าอาจจะมีการทุจริต
การแตะเบรก โหนกระแส โยนลูกกลับไปให้สภาพัฒน์ตัดสินว่าจะเช่าหรือซื้อ แทนที่จะตัดสินใจพับโครงการเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน
แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงเกมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
ที่สามารถพาตัวออกจากมุมอับดีดกลับขึ้นมาเป็นฝ่ายขี่พรรคภูมิใจไทยอีกครั้ง
โดยไม่ได้วิตกกังวลจะถูก"เอาคืน"ในสภา
ระหว่างพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ และพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มั่นใจว่าพ.ร.บ.งบประมาณฯ และพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านจะผ่านด่านสภาไปได้ ทั้งที่เพิ่งหักดิบพรรคภูมิใจไทยมาหมาดๆ
ทั้งยังไม่กลัวกับข่าว นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย สั่งการให้รัฐมนตรีที่เป็นเด็กในคาถา เปิดเกมไล่บี้กลับทุกโครงการของพรรคประชาธิปัตย์เป็นการแก้แค้น
ซึ่งมีการอุ่นเครื่องกันบ้างแล้วกับโครงการรถบีอาร์ทีและการจัดซื้อรถดับเพลิงของกทม. เรื่องค้างเก่าสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้ว่าฯกทม.
ไม่รวมถึงการจัดสรรที่ดินให้เช่าไร่ละ 10 บาทของ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ก่อนหน้านี้ ที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายนายเนวิน เป็นคนเขี่ยลูกเล่นเอง
ที่สำคัญยังเชื่อว่า พรรคภูมิใจไทยไม่กล้าถอนตัวจากรัฐบาลตอนนี้แน่นอน
เนื่องจากรู้ดีว่าในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
ร้อยทั้งร้อยยังไม่มีพรรคไหนพร้อมสำหรับการทำศึกเลือกตั้งครั้งใหม่
นอกจากนั้น การที่พรรคภูมิใจไทยจำเป็นต้องฝืนอมเลือดอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป โดยไม่เอาเรื่องรถเมล์ 4 พันคันมาเป็นอารมณ์ตัดสินแตกหัก
นั่นก็เป็นเพราะยังมีผลประโยชน์อื่นรออยู่ข้างหน้า
คือเรื่องเงินกู้เร่งด่วน 4 แสนล้าน และงบประมาณปี"53 ที่จะออกมาในเดือนต.ค. ตลอดจนการโยกย้ายข้าราชการในเวลาใกล้เคียงกัน
อย่างที่รู้กันว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้เสบียงกรังจำนวนมาก ข้าราชการในพื้นที่ก็เป็นกลไกสำคัญในการชี้ขาดผลแพ้ชนะ
การอยู่ร่วมเป็นรัฐบาลถึงอย่างไรก็เป็นฝ่ายได้เปรียบมากกว่า
ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ 2 พรรคสำคัญในรัฐบาลสามารถปรับจูนผลประโยชน์กันลงตัว แม้จะเหลือรอยร้าวให้เห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าหากไม่มีเหตุพลิกผันอะไรขึ้นอีก
เส้นตายการยุบสภาเลือกตั้งใหม่จึงยังไม่น่าจะขยับเข้ามาเร็วกว่าเดิม
ปลายปียังคือเวลาที่เป็นไปได้มากที่สุด