วานนี้ (3 มิ.ย.) กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงภายหลังทราบผลคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไป ศึกษาโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ภายใน 1 เดือน โดยน.ส.รสนา แถลงว่า ที่ประชุม 40 ส.ว.มีข้อสรุป 3 ประเด็นคือ 1.ควรเพิ่มระยะเวลาการศึกษาโครงการดังกล่าวออกไปเป็น 3 เดือน เพื่อความรอบคอบ และควรทำประชาพิจารณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด 2.นอกจากสภาพัฒน์แล้ว ควรให้องค์กรอื่น เช่น นิด้า หรือทีดีอาร์ไอ ศึกษาคู่ขนานไปด้วย เพื่อนำข้อมูล 2 ฝ่ายมาเปรียบเทียบกันให้ชัดเจน เพราะการศึกษาของสภาพัฒน์มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาลเพราะ เมื่อรัฐบาลจะทำโครงการใดมักศึกษาแต่ผลดี แต่ในด้านลบไม่ค่อยมีการศึกษา
น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า 3.กลุ่ม 40 ส.ว. จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยประกอบไปด้วย 5 คณะกรรมาธิการ
ได้แก่ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่าโครงการใดที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนมักขาดทุน แต่หากเป็นของเอกชนจะไม่มีปัญหาเหล่านี้ เมื่อถามว่ามองว่าการใช้เวลาศึกษา 1 เดือนเป็นการถ่วงเวลาเพื่อให้ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท และร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ผ่านสภาไปก่อน น.ส.รสนาตอบว่า แม้จะผ่านสภาไปแล้วกลุ่ม 40 ส.ว. ก็จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป ยืนยันว่าเราไม่ได้มีข้อแลกเปลี่ยนหรือยื่นหมูยื่นแมวอะไร แต่หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงทักท้วง ก็ยากที่จะเข้าได้ว่าเงินกู้รวม 8 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าสามารถทำได้
แต่ในฐานะส.ว.จะใช้อำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา184 โดยยืนยันว่าจะไม่อนุมัติให้พ.ร.ก.กู้เงินผ่านไปได้ เพราะมีประเด็นใหญ่คือรัฐบาลใช้อำนาจโดยไม่ผ่านการตรวจสอบระบบรัฐสภา ซึ่งพ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยเข้มแข็ง จึงควรเสนอเข้ามาตามขั้นตอนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ใช่เสนอเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน ถึงข้ออ้างว่าเพื่อนำมาชดเชยการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าจะรับได้ แต่ก็ควรกู้แค่ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น และรัฐบาลยังประกาศตัดงบปี 53 ลง 2 แสนล้านบาท แต่กลับมาโผล่ในพ.ร.ก.กู้เงินนี้ เป็นวิธีการหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในอนาคตจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลต่อไปจะไม่ใช้งบแบบ ดิบเถื่อนเช่นนี้อีก ถือว่าผิดวินัยการเงินการคลัง ผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า อยากถามว่าเป็นโครงการไทยเข้มแข็ง หรือใครเข้มแข็งกันแน่
และนักการเมืองคงเข้มแข็งจากเงินที่ตกหล่นจากการใช้งบเหล่านี้ ที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่ามติครม.ที่ออกมาเพื่อรอให้สภาผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน และร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯก่อนนั้น ช่างบังเอิญที่อาจมีอีกหลายคนคิดเช่นนี้ จึงอยู่ที่กระแสสังคมว่าจะเห็นอย่างไร หรือในพรรคร่วมรัฐบาลกันเองจะตกลงกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆนักการเมืองแฮปปี้กันถ้วนหน้าที่สามารถกู้เงินได้แล้ว 8 แสนล้านบาท สังคมอาจมองว่านักการเมืองฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ขณะที่อีกฝ่ายเป็นผู้ปราบผู้ร้าย แต่สังคมก็อาจมองได้ว่าเป็นผู้ร้ายทั้งคู่
40ส.ว.จี้รัฐทำประชาพิจารณ์รถเมล์ฉาว
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!