กำลังจะกลายเป็นพงศาวดารไปแล้วสำหรับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน วงเงิน 64,000 ล้านบาทของกระทรวงคมนาคม
และโยงใยไปถึงโครงการระบายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพด วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ของกระทรวงพาณิชย์ หลังถูก ครม.ตีกลับให้ไปทบทวนหลายครั้ง
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ออกโรงตั้งข้อสังเกตเองเรื่อง "ตัวเลข" ค่าเช่าและค่าซ่อมที่สูงลิ่ว จนเกิดวิวาทะกันไปมากับ "ภูมิใจไทย" พรรคร่วมรัฐบาลเบอร์หนึ่ง
เมื่อโดนเตะตัดขาเป็นระลอก ย่อมถึงเวลาที่ "ภูมิใจไทย" ต้องโต้กลับบ้าง
จึงไม่แปลกที่ "ศุภชัย ใจสมุทร" ที่สวมหมวกโฆษกพรรคภูมิใจไทย จะเสียงกร้าว ประกาศว่า ภูมิใจไทยเองก็มีสิทธิที่จะตรวจสอบทุกโครงการของพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน
ขณะที่ "โสภณ ซารัมย์" รมว.คมนาคม เจ้าของโครงการ ก็เถียงคอเป็นเอ็นรายวันเหมือนกันว่า "โปร่งใส ตรวจสอบได้" แถมท้ายด้วยการขู่กลับ ...หากไม่อนุมัติ ก็ถือเป็นกรรมของคน กทม.!!
"ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ตามมาสำทับว่า โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีต้องเข้า ครม.ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้
ข้างฝ่าย "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ประธานคณะทำงาน รมว.มหาดไทย น้องชายสุดที่รักของ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย ออกมาขวางทางโครงการให้เกษตรกรเช่าที่ดินรัฐไร่ละ 10 บาท ของ "ถาวร เสนเนียม" รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์
รวมถึงการ "ย้อนเกล็ด" เปิดตัวเลขการซื้อรถและค่าซ่อม รถเมล์บีอาร์ที ของ กทม.ในค่ายพรรคประชาธิปัตย์
ไม่รวมกรณีการชักชวน "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับพลพรรคอีกหลายสิบชีวิต ให้มาร่วมงานกับพรรคเสื้อสีน้ำเงิน จนเจ้าตัวใส่เสื้อ "ปกป้องสถาบัน" ซึ่งมีสีน้ำเงินมาต้อนรับ "ชวรัตน์" มาแล้ว
นั่นเป็น "ปรากฏการณ์" การต่อสู้ทางการเมืองที่ดำเนินการผ่านเวทีของสื่อ ที่ผสมปนเปกันทั้งการกดดันและ "ต่อรอง"
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้ว "ประชาธิปัตย์" ได้แต้มนำจากความสำเร็จในการ "จุดพลุ" ให้สังคมเกิดข้อกังขาและออกมา "ร่วมต่อต้าน" โครงการของพรรคร่วม จนแทบจะทำให้ "รถเมล์เอ็นจีวี" เป็นสิ่งต้องห้าม หรือโครงการที่ต้องคำสาป !
กระแสต้านมาจากทุกทิศทุกทาง แม้กระทั่งกลุ่ม 40 ส.ว.ยังออกมาขู่ว่าจะคว่ำร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท หาก ครม.ผ่านโครงการนี้ ...??
ขณะที่คู่ปรับ อย่าง "เพื่อไทย" ยังออกมาท้าดวลล่วงหน้าแล้วว่า รถเมล์ผ่าน ครม.เมื่อไหร่เจอกันบนเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน
ภาวะเช่นนี้ไม่ดีแน่สำหรับรัฐบาล หากจะทิ้ง "เพื่อไทย" ก็จะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลง่อนแง่น แต่ถ้าเลือกอวยกัน ก็คงจะไม่พ้น "เตี้ยอุ้มค่อม" รัฐบาลก็หนีไม่พ้นจากการถูกบีบ 10 ทิศเช่นกัน
จึงเท่ากับว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย "แบก" รับปัญหานี้ไปพร้อมๆ กัน !!
สำหรับ "ภูมิใจไทย" แม้จะทุบมากแค่ไหน ก็ไม่ยี่หระ แต่กลับจะกลายเป็น "กระท้อน" ยิ่งทุบยิ่งหวาน ยิ่งถูกกดดันเล่นงาน "ภูมิใจไทย" กลับเดินหน้าชูเสื้อน้ำเงินออกหาเสียง กวาดต้อนมวลชน
จะว่าไปแล้ว "ภูมิใจไทย" ถือเป็นพรรคแรกที่แสดงศักยภาพเรื่องความพร้อมในการจะลงสู้ศึกเลือกตั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ด้วยการจัดวางตัวผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงเตรียมโครงการเดินสายพบประชาชนแบบ "เรียลิตี้" ในพื้นที่อีสานแล้ว ในขณะที่พรรคอื่นยังประคองตัว-รักษาสถานะกันอยู่
ขณะที่ประชาธิปัตย์กำลังมะงุมมะงาหรากับปัญหาการเมือง คลี่คลายปม "ทวงเก้าอี้" ในพรรค แถมยังต้องคอย "ดักทาง" ล้วงลูก-ล้วงคอพรรคร่วม แต่ภูมิใจไทยกลับได้แต้มจากการเก็บเล็กผสมน้อยฐานเสียง
ถามว่า "โครงการรถเมล์เอ็นจีวี" ของกระทรวงคมนาคม ทำขึ้นเพื่อดูดคะแนนเสียงจากชาว กทม.และปริมณฑล ใช่หรือไม่
ถามว่า "โครงการระบายสินค้าเกษตร" ของกระทรวงพาณิชย์ ทำขึ้นเพื่อดูดคะแนนเสียงจากพี่น้องเกษตรกรภาคกลาง-อีสาน-เหนือ ใช่หรือไม่
และถามว่า ตอนนี้ภูมิใจไทย "ได้ใจ" ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านี้ไปหรือยัง??
ขณะที่พรรคสะตอ มั่นใจกับการตัดสินใจเป็น "ก้างขวางคอ" เพราะเชื่อว่า ไม่มีพรรคร่วมพรรคไหนอยากถอนตัว
ตราบใดที่ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อนำไปสู่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่มีวงเงินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ใช้ดำเนินการ ระยะ 3 ปี (2553-2555)
และตราบใดที่ พ.ร.บ.งบฯ 2553 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และยังต้องรอฤดูกาลโยกย้ายครั้งใหญ่ปลายปี
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันวันที่ 31 พฤษภาคม ต่อเนื่องวันที่ 1 มิถุนายน จึงมีแกนนำพรรคสะตอดอดเจรจาลับกับแกนนำพรรคสีน้ำเงิน ที่วงการสนทนามีเสียงขู่ว่า "ถ้าไม่ยอม ก็ไปกันทั้งหมด!"
และทันทีที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กลับถึงเมืองไทย "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" เลขาธิการนายกฯ คงต้องไปรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงที่นายกฯอภิสิทธิ์ ไปประชุมที่เกาหลีใต้ให้ผู้นำรัฐบาลฟัง
ลองวัดใจกันดูว่า หากไม่พิจารณาเรื่องรถเมล์วันนี้ แล้วเปิดทางให้เสนอเข้ามาใหม่ในวันหน้าเพราะยังไม่ยุบสภา มีน้ำหนักพอที่จะสกัดความแรงของรถเมล์เอ็นจีวีสายพันธุ์เพื่อไทยได้หรือไม่!