กรุงเทพธุรกิจ
12 สิงหาคม 2549 11:22 น.
"ทักษิณ"แจงไปพม่าเจรจาสัมปทานบ่อแก๊ซให้"ปตท."ระบุพบทั้งก๊าซ น้ำมัน กำลังอยู่ระหว่างการนำขึ้นมาใช้ โดยก๊าซที่พบบ่อเดียว มีเกือบเท่าอ่าวไทย จึงจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่าให้ดี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ "นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน" ทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ว่า เมื่อวันพฤหัสที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปประเทศกัมพูชา เนื่องจากว่าทางเรากับกัมพูชา จุดที่สำคัญคือ เรื่องก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน เรามีเขตทับซ้อนทางทะเล ซึ่งทั้งกัมพูชาและเรา ก็ต่างคนต่างมีผู้ที่มาขอสัมปทานสำรวจขุดเจาะ
แต่ปรากฏทำไม่ได้ เพราะเป็นเขตทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเราก็อยากจะเร่งตกลงกันให้จบ เพื่อจะได้นำแก๊ส หรือน้ำมันที่พบมาใช้ เมื่อผลิตได้ในประเทศไทย มันก็จะทำให้ราคาลง
"เหมือนวันนี้เราได้แก๊สธรรมชาติมาใช้และชวนรถยนต์ทั้งหลายมาใช้ NGV ราคามันประหยัดลงมาก จาก 28 เหลือ 8 บาท ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราอยากจะให้สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ไปบิดเบือนกลไกตลาด"พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณ ยกตัวอย่างว่า ที่ตนไปพม่า ปตท.เราไปได้สัมปทานบ่อขุดแก๊สมา เขาสำรวจมาแล้วปรากฏว่า พบทั้งก๊าซ พบทั้งน้ำมัน กำลังอยู่ระหว่างการนำขึ้นมาใช้ ปรากฏว่าก๊าซที่พบบ่อเดียว มีเกือบเท่าอ่าวไทย ซึ่งก็เป็นอะไรที่เราต้องสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้ดี ไม่ใช่ว่าเราไปเอาประโยชน์จากเค้า แต่การที่เราไปช่วยเค้า มันมีความผูกพันธ์ต่อกัน แล้วเค้าซื้อสินค้าไทยทั้งนั้นเลย วัน ๆ หนึ่งเค้าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคไทย ตามชายแดนทั้งหลาย ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี การค้าชายแดนก็ดี ไม่ต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกัน สินค้าในกรุงเทพฯ ก็ส่งไปขายได้ ถึงแม้จะต้องผ่านกลไกต่างจังหวัด สินค้ากรุงเทพฯ ก็ขายได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีน้ำใจไมตรีต่อกัน
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า กัมพูชากับเรามีปัญหาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล และเรื่องของการปักปันเขตแดนทางบก และทางกัมพูชาก็อยากจะซื้อไฟฟ้ากับเรา เพื่อไปป้อนอุตสาหกรรมของเขา ก็บังเอิญว่าต้องผ่านเขตที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เขตปักปันเขตแดน ตนเลยต้องเร่งไปเคลียร์
เพราะเนื่องจากว่า มันจะได้เดินหน้าต่อ ตนไม่อยากให้ประเทศชะงักชะงัน และตนมีความสัมพันธ์ส่วนตัว รู้จักกันดี อะไรดี ก็อยากจะใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ แม้กระทั่งตรงจุดเขาพระวิหาร ก็มีปัญหากัน เพราะเนื่องจากว่าหลังจากศาลโลกตัดสินว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ก็มีปัญหาเรื่องทางขึ้น-ทางลง เรื่องด่านแถวนั้น ก็คุยกันไม่จบ ก็เลยนัดกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา วันที่ 3 กันยายน เวลา 10.30 น. ท่านไปรอตนที่เขาพระวิหาร ตนจะนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงบนยอดเขาพระวิหาร และบินสำรวจกันว่า จุดไหนที่เป็นปัญหาจะได้เคลียร์กัน เจ้าหน้าที่จะได้เดินต่อได้ ไม่เช่นนั้นนั่งรอนายกฯ 2 คน ก็ไม่เคยเห็น ตัดสินใจก็ไม่ถูก ไม่ได้เห็น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะได้ไปดูของจริง หลังจากนั้นก็จะได้ติดตามเรื่องราวที่ไปคุยกันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ต่อว่าเจ้าหน้าที่ทำถึงไหน เจ้าหน้าที่ก็เร่งทำกันเต็มที่ ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องยืดเยื้อคั่งค้างมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จบโดยเร็วขึ้น
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอีกว่า มีการเซ็นสัญญากู้เงิน รัฐบาลกัมพูชากู้เงินจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim bank) ของเรา เพื่อไปทำถนน ถนนก็เชื่อมจากช่องสะงัมอลองเวง ไปเสียมเรียบ ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากสำหรับทั้ง 2 ประเทศ การกู้เงินอันนี้อาจจะดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลไทยอาจจะต้องอุดหนุนดอกเบี้ยให้กับรัฐบาลกัมพูชานิดหน่อย แต่การลงทุนทั้งหมด ใช้เงินบาท และบริษัทรับเหมาไทยเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ก่อสร้าง และสินค้าวัสดุ เช่น ปูน ยางมะตอย อะไรทั้งหลาย ก็จะต้องเอาจากไทย
เพราะฉะนั้น เงินเราซื้อของเรา แต่เขาเป็นหนี้ ก็เป็นการช่วยกันให้ประเทศเขาได้พัฒนาเร็วขึ้น เมื่อเขาพัฒนาคนเขาก็มีกำลังซื้อ กำลังซื้อ ซื้อใครล่ะ ก็ซื้อไทยอีก เพราะชายแดนติดกัน แล้วเราเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกว่า เพราะฉะนั้นการมีน้ำใจต่อกันก็เป็นเรื่องที่ดี และเมื่อประเทศเขาพัฒนาคนของเขาก็จะกลับไปทำงานประเทศเค้า ไม่ต้องมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทย ปัญหาต่างๆ ก็จะลดไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามดูในรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน ฉันท์บ้านพี่เมืองน้องกันอย่างเต็มที่
นอกจากนั้นกัมพูชา ก็ต้องการจะพัฒนาทางรถไฟสายปอยเปรต สีโสพล ซึ่งจะเชื่อมกับไทยไปได้ ทางมาเลเซียก็จะยกรางที่ใช้แล้วให้ฟรี แต่บอกจะให้เราขนส่ง ตนก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ ไปคุยกันที่ฟินแลนด์แล้วกัน จะไปประชุมเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ด้วยกัน ที่ฟินแลนด์ ตนก็จะชวนนายกฯสิงคโปร์ นายกฯมาเล และนายกฯกัมพูชา มาคุยกันเรื่องนี้ว่า แบ่งกัน ช่วยกันช่วยกันคนละหน่อย อย่าให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง เพราะเป็นทางที่เชื่อมกันทั้ง 4 ประเทศ ก็คุยกันไป