ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเริ่มแล้ว สรรหากกต.ในรอบแรกวันนี้ พร้อมเผยประวัติ 42 ผู้สมัครชิงตำแหน่ง

"สรรหารอบแรกเริ่มแล้ว"


วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้เริ่มการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 09.30 น. โดยนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา เปิดเผยว่า การสรรหา กกต.ทั้ง 10 คน จะแบ่งออกเป็นสองรอบ รอบแรก เลือกในเวลา 09.30 น. โดยสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. 5 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138(2)

หากสรรหาได้แล้วศาลฎีกาจะได้แถลงรายชื่อบุคคลดังกล่าวในเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นในช่วงบ่าย ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเริ่มการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. 5 คนตามมาตรา 138(3) ซึ่งเป็นการสรรหาแทนคณะกรรมการที่ขาดองค์ประกอบ โดยศาลฎีกาจะแถลงรายชื่อผู้สมควรเป็น กกต. 5 คนที่ได้ตามมาตรา 138(3 ) ในเวลา 17.30 น.


"วิธีการลงคะแนนเป็นความลับ"


นายวิรัช กล่าวว่า จะใช้วิธีการลงคะแนนลับในการสรรหา กกต.แต่ละรอบ จะแบ่งการลงคะแนนเสียงออกเป็น 3 รอบ โดยจะนำรายชื่อของผู้ถูกเสนอชื่อ ทั้ง 42 คน มาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่แล้วผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดใช้บัตรเลือกตั้งที่ระบุชื่อและหมายเลขทั้ง 42 คน คัดเลือกเหลือ 30 คน และคัดเลือกจาก 30 คนให้เหลือ 10 คน แล้วจึงสรรหาจาก 10 คนเหลือ 5 คน โดยผู้พิพากษาแต่ละท่านสามารถลงคะแนนเสียงได้ 5 หมายเลข

"สำหรับผู้ที่ถูกเสนอชื่อสมควรเป็น กกต. 5 คน จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกา 86 ท่าน คือ ต้องได้อย่างน้อย 44 เสียงขึ้นไป" เลขานุการศาลฎีกา กล่าว


"ไม่มีการบล็อกโหวตชัวร์"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมวันนี้ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 84 คน มีผู้พิพากษาศาลฎีการ 1 คนลาป่วย และอีก 1 คนติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งนายวิรัช ยืนยันว่าการสรรหา กกต.จะไม่มีการบล็อกโหวตอย่างแน่นอน

เปิดแฟ้มประวัติ 42 ผู้สมัครชิงเก้าอี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง


เปิดแฟ้มประวัติของ 42 ผู้สมัครชิงเก้าอี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 คน ในวันนี้

บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 42 คน ได้แก่ ผู้พิพากษา 13 คน เคยเป็นผู้พิพากษา 3 คน เคยเป็น กกต.3 คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คน รักษาการสมาชิกวุฒิสภา 3 คน และพนักงานอัยการ 2 คน โดยจำนวน 42 คน มีสุภาพสตรีรวมอยู่ด้วย 5 คน ได้แก่


กลุ่มที่ 1 ผู้พิพากษา


1.นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เกิดวันที่ 8 มีนาคม 2489 อายุ 60 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี จบนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท จบนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประวัติการทำงานนั้น นายวิชาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และ 2

โดยนายวิชาไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเป็นทางการอย่างไรก็ตาม ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในช่วงที่ศาลยุติธรรมยังไม่ได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2519 ที่ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ขอให้นายวิชาเข้าไปช่วยทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว กระทั่งเดือนตุลาคม 2520 ศ.ธานินทร์ พ้นจากตำแหน่งและได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี นายวิชาจึงได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม โดยช่วยราชการที่ศาลอุทธรณ์ สำหรับนายวิชานั้น


"โอกาสติด 1-10 มีสูง"


ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกาปี 2538 ในช่วงที่เกิดวิกฤติตุลาการ ได้ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่ง รมว.ยุติธรรม และรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่ให้ออกจากราชการ พร้อมกับได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2535 และปฏิบัติหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นายวิชานั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในวิชากฎหมายและการบริหารอย่างดี โอกาสที่นายวิชาจะเป็น 1 ใน 10

ว่าที่ กกต.มีสูงพอๆ กับนายอุดม เพราะเป็นผู้พิพากษาที่มีความสามารถทางวิชาการที่สังคมรู้จักและให้การยอมรับ รวมทั้งยังเป็นผู้พิพากษาที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล เช่น การออก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดิน ในสายตาผู้พิพากษาศาลฎีกาจึงเห็นว่า นายวิชาเหมาะที่จะไปจัดการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้คะแนนเสียงจากที่ประชุมใหญ่มากถึง 80 เสียง


"ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง"


2.นายสุเมธ อุปนิสากร ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2481 อายุ 68 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนเกษียณราชการในปี 2542 นายสุเมธดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 โดยเคยดำรงตำแหน่งตุลาการสำคัญ ในปี 2540 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ปี 2541 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ นายสุเมธไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท หรือองค์กรธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น

3.นายพีรพล จันทร์สว่าง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เกิดวันที่ 9 ธันวาคม 2487 อายุ 61 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแพ่ง ซึ่งนายพีระพลดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2543-2546 และได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาในปี 2548 ก่อนจะครบเกษียณอายุราชการ โดยนายพีระพลไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท องค์กรทางธุรกิจใดๆ


"ผู้พิพากษาอาวุโส"


4.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยมาช่วยงานที่ กกต.ในสมัยที่ นายสวัสดิ์ โชติพานิช ดำรงตำแหน่ง กกต. และนายสวัสดิ์ก็ได้พยายามผลักดันให้นายอุดมมาเป็น กกต.ในชุดที่ 2 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงวิกฤติตุลาการเมื่อปี 2534 เขาเป็นผู้พิพากษาที่อยู่ในฝ่ายของ ประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา ในการต่อต้าน นายประภาสน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น โดยกล่าวหาว่า นายประภาสน์เข้ามาแทรกแซงการโยกย้ายผู้พิพากษา จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนมาแล้ว แต่สุดท้ายมีการเพิกถอนการสอบสวนไป

5.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา เกิดวันที่ 5 สิงหาคม 2490 อายุ 59 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนที่จะสอบเข้ารับราชการตุลาการ นายวสันต์เคยเป็นทนายความ โดยนายวสันต์สอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาได้เมื่อปี 2516 และมีตำแหน่งสำคัญเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 กระทั่งได้เป็นประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกาเมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน


"ผู้พิพากษาระดับท้องถิ่น"


ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษา นายวสันต์เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีฟ้องเพิกถอนการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับเทศบาล และระดับจังหวัดหลายครั้งสำหรับนายวสันต์นั้น ร่วมเป็นพยานจำเลยในคดีอาญาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์แนวหน้า และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่เขียนบทความดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซุกหุ้น ด้วย กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุที่นายวสันต์มีบุคลิกเป็นคนซื่อตรง มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จึงเชื่อว่านายวสันต์น่าจะเป็นอีก 1 คนที่จะได้รับการลงมติมีชื่อติด 1 ใน 10 ด้วย

6.นายสมชัย จึงประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

7.นางสดศรี สัตยธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

8.นายประเสริฐ เขียนนิลศิริ ผู้พิพาษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 2497 อายุ 63 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนเกษียณราชการนายประเสริฐดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาในปี 2545-2547 ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ นายประเสริฐไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมืองและไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในบริษัท หรือองค์กร ธุรกิจ ทั้งนี้ ในประสบการณ์การทำงาน นายประเสริฐเคยผ่านการพิพากษาคดีเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและการเลือกตั้ง ส.ส. โดยนายประเสริฐยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย


"ระดับประธานศาลอุทธรณ์"


9.นายปรีชา ธนานันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้

10.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

11.นางจิระวรรณ ศิริบุตร ผู้พิพากษาหัวหน้าในศาลฎีกา

12.นายไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดสมุทรสาคร เกิดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2486 การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งก่อนเกษียณราชการ นายไชยวัฒน์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 และประธานศาลอุทธรณ์

13.น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาอาวุโส แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลจังหวัดนนทบุรี เกิดวันที่ 13 พฤษภาคม 2483 อายุ 66 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเมื่อเกษียณราชการในปี 2543 แล้ว ได้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสแผนกคดีเยาวชนฯ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการทำงาน น.ส.สมลักษณ์ ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมืองและไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท หรือองค์กรธุรกิจแต่อย่างใด


กลุ่มที่ 2 เป็นอดีตผู้พิพากษา


14.นายอมรศักดิ์ นพรัมภา อดีตเป็นเลขานุการศาลอาญา เกิดวันที่ 21 กรกฎาคม 2488 อายุ 61 ปีการศึกษาระดับปริญญาตรี จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจบการศึกษาเนติบัณิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และเนติบัณฑิตอังกฤษจาก LINCONs Inn LONDON ปัจจุบันลาออกจากราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งที่มีความเกี่ยวพันกับบริษัทธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรด้วย ได้แก่ ประธานกรรมการบริษัท สำนักงานกฎหมายกรุงศรีอยุธยา จำกัด ประธานกรรมการบริษัท สยาม เรียลตี้ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด รองประธานกรรมการบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท แอลพีเอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และกรรมการตรวจสอบบริษัท อาร์.ซี.แอล. จำกัด (มหาชน) โดยนายอมรศักดิ์ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิชวน รัตนรักษ์ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสาธารณประโยชน์


"ตุลาการศาล"


ขณะที่นายอมรศักดิ์ ซึ่งเป็นตุลาการในสายของ นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ที่เป็นตุลาการคนละสายกับ นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา ในช่วงวิกฤติตุลาการ แต่ครั้งนี้พบว่า ยังมีผู้พิพากษาเสนอชื่อนายอมรศักดิ์ชิง กกต. เชื่อว่านายอมรศักดิ์น่าจะได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาศาลฎีกาในสายของนายสวัสดิ์ ที่มีอยู่ในศาลฎีกาขณะนี้เป็นจำนวนมาก โดยนายอมรศักดิ์น่าจะเป็นตุลาการอีก 1 คนที่จะผ่านการเสนอชื่อต่อวุฒิสภา

15.นายพีระ ดุลยารักษ์ ทนายความ เคยเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ปี 2517-2522 อุปนายกสภาทนายความฝ่ายวิชาการ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา 2536-2540

16.นายนาม ยิ้มแย้ม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านคดีเลือกตั้ง เกิดวันที่ 1 เมษายน 2479 อายุ 70 ปี การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเนติบัณฑิตไทย ของเนติบัณฑิตยสภา ในการทำงานนายนามเคยสอบได้เข้ารับราชการเป็นพนักงานอัยการ ต่อมาสอบเข้าเป็นข้าราชการตุลาการ และเมื่อเป็นผู้พิพากษาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี จันทบุรี และชลบุรี


"อนุกรรมการพิจารณาเลือกตั้ง"


และเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รวมทั้งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ด้วยเมื่อเกษียณราชการแล้ว นายนามได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา กกต.ชุดที่มี นายธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธาน กกต. นอกจากนี้ ยังเป็นอนุกรรมการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ด้วย โดยนายนามดำรงตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านการเลือกตั้งของ กกต. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กกต.มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุด นายนามได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงพรรคการเมืองว่าจ้างล้มการเลือกตั้ง

ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวสรุปผลให้ กกต.สั่งยุบพรรครวม 5 พรรคไปแล้วสำหรับนายนาม แม้ว่าที่ผ่านมาในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาจะไม่ได้แสดงบทบาทผู้นำให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่เนื่องจากนายนามได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคดีเลือกตั้ง กกต. ที่พิจารณาคดีว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ กระทั่งเกิดกรณียุบพรรคการเมือง จึงเชื่อว่าผลงานของนายนามดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาศาลฎีกาด้วย


กลุ่มที่ 3 อดีต กกต.


17.นายสุรีย์ คูณผล รักษาการผู้พิพากษาสมทบศาลแขวงและครอบครัวกลาง เคยเป็น กกต.อุบลราชานี ระหว่างปี 2542-2545 ประวัติการทำงาน ปลัดเทศบาล อ.แม่สอด ผู้อำนวยการกองกลาง กองประชาสัมพันธ์ การประปานครหลวง

18.นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาศาลอุทธรณ์ เกิดวันที่ 26 เมษายน 2473 อายุ 76 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา การศึกษาปริญญาโท จบนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ปี 2544 ด้วยหลังจบการศึกษาแล้ว นายธีรศักดิ์ได้สอบเข้ารับราชการตุลาการ


"รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา"


โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ซึ่งก่อนเกษียณราชการในปี 2533 ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง โดยเมื่อเกษียณราชการแล้ว นายธีรศักดิ์ถูกเสนอชื่อให้เป็น กกต. และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กกต.คนแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 จนครบวาระและพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544 โดยนายธีรศักดิ์จะได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาศาลฎีกา และเชื่อว่าน่าจะติดอันดับต้น 1 ใน 10 เช่นกัน

ซึ่งเห็นได้ว่า แม้นายธีรศักดิ์จะพ้นจากตำแหน่งไปนานแล้ว แต่ยังได้ความไว้วางใจจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานศาลอุทธรณ์ในตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งนายธีรศักดิ์ก็มีผลงานเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งในปี 2540-2544 ให้เห็นแล้ว จึงเชื่อว่าผู้พิพากษาจะให้ความสนใจและลงคะแนนเสียงให้ติด 1 ใน 5 ได้ไม่ยาก


"อดีต กกต."


19.นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีต กกต. ซึ่งในสมัยเป็นประธานศาลฎีกามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำต่อสู้กับฝ่าย นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา หลังยุควิกฤติตุลาการ นายสวัสดิ์จึงมีทายาทผู้พิพากษาอยู่จำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่า เสียงที่สนับสนุนนายสวัสดิ์จะทำให้มีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ประวัตินายสวัสดิ์ เกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2474 การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยนายสวัสดิ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้เป็น กกต.เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540-26 ตุลาคม 2544 ชุดที่มี นายธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธาน กกต. ซึ่งนายสวัสดิ์เคยมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองเป็นที่ปรึกษาของ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และยังเคยรับเลือกเป็น ส.ว.2 สมัยด้วย


กลุ่มที่ 4 รักษาการ ส.ว.


20.นายปรีชา ปิตานนท์ รักษาการวุฒิสมาชิกจังหวัดจันทบุรี เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2493 จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เหรียญทอง) มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองจันทบุรี ติดต่อกันถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2528-2535 โดยในปี 2534 เคยเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งเทศบาลเมืองจันทบุรี มีปัญหากับการบินไทยที่ถูกลดชั้นให้ไปนั่งชั้นธรรมดา และล่าสุดเมื่อปี 2543 ได้รับเลือกเป็น ส.ว.จันทบุรี และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา มีปัญหาฉาวโฉ่จนเป็นที่รู้จักกรณีทะเลาะกับเจ้าหน้าที่การบินไทย เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่การบินไทยจัดที่นั่งชั้นธรรมดาให้ จนต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณากรรมาธิการการปกครอง และได้รับจัดเป็น ส.ว.ขั้วนิยมรัฐบาล

21.นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 24 สิงหาคม 2494 ที่ จ.ลำพูน เป็นคู่แฝดกับ ขวัญสรวง อติโพธิ ส.ว.กทม. บิดาคือ นายศิริ อติโพธิ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) จบการศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ส.ก.83 รุ่นเดียวกับ ธีรยุทธ บุญมี) จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา


"รองอธิการบดี สว."


ประวัติการทำงาน เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539 ตำแหน่งสุดท้าย คือ รักษาการ ส.ว.กทม. ในบทบาทของ ส.ว.เขาเป็น ส.ว.อิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล โดยออกมาโจมตีรัฐบาลในหลายๆ ครั้ง และเป็นคนที่ ส.ว.บางกลุ่มสนับสนุนให้เป็น กกต. เป็นผู้จัดทำเอกสาร ชำแหละทักษิณ จนถูกสันติบาลสั่งจับ-เก็บ ไม่ให้มีการเผยแพร่ และเป็นผู้เสนอแนวคิดให้ กกต.ทำหน้าที่เป็นเพียงอัยการสรุปสำนวน โดยให้กระบวนการทางศาลเป็นผู้พิจารณาใบเหลือง ใบแดง ส่าสุด ลาออกจาก ส.ว.เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อตัดช่องพวกจ้องเล่นงาน

22.ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล ส.ว.เลย เคยได้รับพิษสงจาก กกต.ชุดแรก โดยไม่ยอมประกาศรับรองผลซ้ำเมื่อได้รับการรับรองแล้วก็มีเรื่องร้องเรียน จนเมื่อได้เป็น ส.ว.ก็ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ เคยจับผิดมาแล้วหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือ ป.ป.ช.


กลุ่มที่ 5 อัยการ


23.นายประพันธ์ นัยโกวิท รองอัยการสูงสุด เกิดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2490 การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกียรตินิยมดี และจบเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และจบการศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาด้วย โดยนายประพันธ์เป็นรองอัยการสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นายประพันธ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทั้งนี้

นายประพันธ์ถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านนิติศาสตร์และการบริหาร และมีความรู้ความชำนาญในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งการเข้ารับราชการอัยการ นายประพันธ์ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยก่อนที่จะขึ้นเป็นรองอัยการสูงสุดนั้น นายประพันธ์ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ นายประพันธ์เคยรับผิดชอบสำนวนคดีที่สำคัญ


"อัยการพิเศษ"


อาทิ ค่าโง่ทางด่วน 6,400 ล้านบาท ด้วย และเขาเคยชิงเก้าอี้อัยการสูงสุดในการโยกย้ายเมื่อปี 2548 มาแล้ว แต่พลาดให้กับ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน ในการสรรหา กกต.ครั้งนี้ นายประพันธ์ได้รับการเสนอจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายพรเพชรเป็นผู้พิพากษาที่มีความชำนาญในด้านวิชาการ และได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาศาลฎีกาทั่วไปเป็นอย่างดี ดังนั้น หากนายพรเพชรได้พูดหาเสียงให้กับนายประพันธ์ เชื่อว่านายประพันธ์จะติดโผเสนอต่อวุฒิสภาเช่นกัน

24.นายสุขุม มีนพัฒนสันติ อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชน เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญในวิชาชีพอัยการมาหลายตำแหน่งอาทิ อัยการศาลสูงเขต 6 พิษณุโลก อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษคดีแพ่ง อัยการจังหวัดนครสวรรค์ อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุทัยธานี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย


กลุ่มที่ 6 อาจารย์มหาวิทยาลัย


25.นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อาจารย์พิเศษข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และเคยเสนอตัวเป็น กกต.เกือบทุกครั้งที่มีการรับสมัคร รวมไปถึงองค์กรอิสระแห่งอื่น แต่ก็ไม่เคยได้รับการคัดเลือกแต่อย่างใด

26.นางมาลี พฤกษ์พงศาวลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยเป็นอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาสตรี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ประธานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง ที่ปรึกษาอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง 2 วาระ ซึ่งเป็นองค์กรที่นายกรัฐมนตรี (อานันท์ ปันยารชุน) ให้ทำหน้าที่ในการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และร่วมกันสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม


กลุ่มที่ 7 เป็นบุคคลทั่วไป


27.นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกมีเดีย เอเยนซี่ จำกัด ผลิตรายการสื่อขนาดเล็ก มีมูลค่าหุ้นในบริษัท 1.5 ล้านบาท เกินครึ่งของทุนจดทะเบียนของบริษัท ล่าสุด ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่ถูกศาลปกครองพิจารณาว่ากระบวนการสรรหาได้มาโดยมิชอบและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์คดี

28.นายสมภพ ระงับทุกข์ การศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง และปริญญาโทและเอกด้านรัฐศาสตร์ ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลาว่าการกรุงเทพมหานครมาหลายตำแหน่ง เช่น อดีต ผอ.เขตลาดกระบัง บึงกุ่ม ดุสิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รอง ผอ.สำนักพัฒนาชุมชน ผอ.รักษาความสะอาด ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจราชการ กทม. เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเลือกตั้ง กองปกครองและทะเบียน ผ่านงานเลือกตั้งมาแล้วทั้ง ส.ส. ส.ก. และ ส.ข.


"อดีตรองผู้ว่าฯ"


29.นายบุญทรง จันทสิน อดีตรองผู้ว่าฯ มุกดาหาร จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ เคยรับราชการเป็นรองผู้ว่าฯ ในหลายจังหวัด เช่น รองผู้ว่าฯ อ่างทอง เคยเป็นผู้ปฏิบัติอำนวยการเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่นใน 4 ภาคของประเทศ รวม 19 จังหวัด ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และปลัดจังหวัด

30.พล.ร.ท.ธีรพันธ์ ทิมประเสริฐ อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ อาจารย์อำนวยการวิทยาลัยการทัพเรือ รอง ผอ.สำนักวางแผนฝึกร่วมและผสม กองบัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ปรึกษากองทัพเรือ งานทางการเมืองที่ผ่านมา คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2521-2522 กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีโรงเรียนนายเรือ และปริญญาโทโรงเรียนเสนาธิการนาวิกโยธิน สหรัฐอเมริกา


"อดีต กกต.ชุดแรก"


31.นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตทนายความและเคยเป็น กกต.กทม.ชุดแรก หลังจากพ้นตำแหน่งก็มีบทบาทในการตรวจสอบ กกต.และเคลื่อนไหวในภาคประชาชน ในที่สุดก็ดำรงตำแหน่งเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลาง โดยมุ่งเน้นไปที่ตรวจสอบการเลือกตั้งและ กกต.ชุดนี้ จนเกิดความขัดแย้งและไม่ยอมดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งร่วมกับ กกต.อีกเลย นอกจากนี้ ยังเคลื่อนไหวในเชิงตรวจสอบรัฐบาลจนเข้าไปร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

32.นายศักดา มหานันทโพธิ์ อาชีพทนายความ เป็นฝ่ายกฎหมายธนาคารกรุงเทพ นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ ผู้ว่าฯ ปทุมธานี เคยเป็นผู้ว่าฯ ตรัง รองผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทราและสระแก้ว มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง คือ เคยเป็นรองประธานอนุกรรมการอิสระวุฒิสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการองค์กรอิสระ วุฒิสภา มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนถึง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง


"กรรมการเครือข่าว ปชช ต้านคอรัปชั่น"


33.นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ อดีตผู้ว่าฯ ตรัง

34.นาวาอากาศตรีศักรวัฒน์ แก้วมณีโชติ ข้าราชการบำนาญ

35.พล.ต.ต.พงศ์ชัย สุขะทุต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู อดีตเคยเป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อปี 2525-2530 เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายตำรวจรักษาความปลอดภัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจใน 14 จังหวัดภาคใต้

36.นายกรสันต์ กันยะพงศ์ เป็นกรรมการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น และประธานองค์การเครือข่ายการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นผู้ฟ้องคดีหันคูหากาบัตรลงคะแนนเป็นความลับ และในปี 2544 เคยเป็นผู้อำนวยการ กกต.เขตเลือกตั้งที่ 4 (พญาไท-ราชเทวี) และในปี 2529 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หนองคาย เขต 1 ในนามพรรคราษฎร ซึ่งมีหัวหน้าพรรค คือ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังเคยเป็นอนุกรรมาธิการวุฒิสภาศึกษากลไกควบคุมการทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร


"พนง.ธนาคาร ประธานบริษัทฯ"


37.นายศรีสงคราม แสงจันทร์ ข้าราชการบำนาญ ธนาคารออมสิน

38.พล.อ.ธีระพงศ์ ศรีวัฒนกุล ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เคยเป็นตุลาการศาลทหารสูงสุด

39.พ.ต.อ.สุเทพ สัตถาผล ผู้บัญชาการสำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

40.นางสุธีรา วิจิตรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนล เฮ้าส์ จำกัด

41.นายพีระพงษ์ ไพรินทร์ ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ กกต. เคยเป็น ผอ.กกต.ประจำจังหวัดอยู่หลายจังหวัด สุดท้ายเข้ามาประจำอยู่ที่สำนักงาน กกต.ในอดีตเคยออกมาโจมตี กกต.ชุดแรกอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาสู่ กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ กลับเป็นผู้ที่ปกป้อง กกต. เคยถึงขนาดที่ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ยอมสรรหา กกต.มาเพิ่มอีก 2 คน แต่ศาลปกครองไม่รับคำร้อง ที่ผ่านมาเสนอตัวเป็น กกต.ทุกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคัดเลือก


"รองศาสตราจารย์ ระดับ9"


42.นายพรชัย รัศมีแพทย์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ เป็นรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 สาขาวิชานิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งคาดว่าจะตรวจสอบคุณสมบัติให้เสร็จสิ้นได้ภายในวันที่ 3 สิงหาคม และเมื่อได้ตรวจสอบคุณสมบัติครบทั้ง 42 คนแล้ว คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติจะเสนอรายชื่อทั้งหมดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 86 คน เพื่อพิจารณาและเตรียมหาข้อมูลก่อนที่จะประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงมติสรรหาบุคคลเป็น กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (2) (3) จำนวน 10 คน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ต่อไป

การลงมติจะแบ่งรอบสรรหา 2 ช่วง ช่วงแรกเวลา 09.00 น. จะลงมติสรรหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (2) จำนวน 5 คน และในเวลา 13.30 น. จะลงมติสรรหาอีก 5 คนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) ที่ศาลฎีกาสรรหาแทนคณะกรรมการสรรหา การลงมตินั้นผู้พิพากษาจะลงคะแนนลับ ที่จะมีบัตรเลือกตั้งให้กาลงคะแนน


"คะแนนต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้เข้าประชุม"


ทั้งนี้ สำหรับคะแนนเสียงที่จะผ่านเกณฑ์สรรหานั้น จะต้องให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดที่มาประชุมลงคะแนน ซึ่งปัจจุบันศาลฎีกามีผู้พิพากษาทั้งสิ้น 86 คน หากจะผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่งจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 44 คะแนน และจะเรียงลำดับรายชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด หากในจำนวนที่สรรหา 10 คน มีบุคคลที่ได้คะแนนเท่ากัน ก็จะต้องนำรายชื่อมาจับสลาก โดยจะต้องเป็นประธานศาลฎีกา หรือรองประธานศาลฎีกา หลังจากนั้นจะเสนอให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือ 5 คน เพื่อเป็น กกต.ต่อไป

ทั้งนี้ สามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติและความประพฤติได้ที่เวบไซต์ศาลฎีกา www.supremecourt.or.th ก็ได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์