กรุงเทพธุรกิจ
9 สิงหาคม 2549 14:54 น.
อดีตประธานกกต. ขึ้นเบิกความคดี "เทพเทือก"เป็นโจทก์ฟ้อง ยืนยันไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีวินิจฉัย ทรท.จ้างพรรคเล็กลงสมัคร อ้างต้องสอบหลายครั้งเพราะรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ระบุความผิดชัดเจน พร้อม"ป้อง"ไม่พบหลักฐาน"ทักษิณ"เป็นผู้ว่าจ้าง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้สืบพยานจำเลยครั้งแรก คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3
ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 มาตรา 24 กรณีที่ไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดการร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย จัดผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแข่งขันกับพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการได้เสียงไม่ถึง ร้อยละ 20 ให้ครบถ้วนตามขั้นตอนโดยเร็วตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยวันนี้จำเลยสืบพยานเพียงปากเดียว คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. เบิกความลำดับวันเวลาที่มีการยื่นร้องเรียนพรรคไทยรักไทยและพรรคการเมืองขนาดเล็กว่า นายสุเทพ ยื่นร้องเรียนต่อ กกต. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.49 ซึ่งวันเดียวกันได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ทันที และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายนาม ยิ้มแย้มเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ
โดย กกต.กำหนดขอบเขตการสืบสวนสอบสวนให้คณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทุกชนิด และให้มีอำนาจเรียกบุคคลที่ถูกกล่าวหา และพาดพิงมาสอบสวนได้ตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2541 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2542
ซึ่งให้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการโดยด่วนพร้อมให้ส่งผลรายงานในวันที่ 29 มี.ค.49 และให้รายงานผลความคืบหน้าทุก ๆ 3 วัน ที่คณะอนุกรรมการฯ เคยส่งรายงานเป็นลายลักษร์อักษรแสดงความคืบหน้าเพียงครั้งเดียววันที่ 23 มี.ค. จากนั้นวันที่ 26 มี.ค. พ.ต.อ.ชัยพัฒน์ รัตนพันธ์ เลขานุการอนุกรรมการฯ จึงรายงานด้วยวาจา
หรับอนุกรรมการฯ จำนวน 15 คนได้แต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาคดีคัดค้านเลือกตั้งของ กกต. อยู่แล้วและเจ้าหน้าที่ของ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่มีความรู้ความเหมาะสม แต่เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่สามารถสรุปผลได้ทันในวันที่ 29 มี.ค. และนายนาม ประธานอนุกรรมการฯ ส่งหนังสือแจ้งขอให้แต่งตั้งอนุกรรมการฯ เพิ่มอีก 2 คน
อดีตประธาน กกต. เบิกความด้วยว่า อย่างไรก็ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ พยานในฐานะประธาน กกต. ผู้มีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เห็นว่านอกจากเรื่องจ้างพรรคเล็ก ยังมีเรื่องที่สำคัญด้วยคือการหาตัวเจ้าหน้าที่ กกต. ที่ร่วมกระทำผิดในการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคมาลงโทษทั้งทางอาญาและทางวินัย รวมทั้งการลงโทษสมาชิกพรรคการเมืองที่แจ้งข้อมูลเท็จ เพราะขณะนั้นใกล้วันเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ที่จะมีผลกระทบด้วยหากมีสมาชิกพรรคการเมืองที่ขาดคุณสมบัติลงสมัคร
ดังนั้น พยานจึงได้กระทำการสอบสวนในทางลับด้วยตัวเอง และทราบว่านายอมรวิชญ์ สุวรรณนพ รับเงิน 30,000 บาท จากพรรคการเมืองจึงได้ส่งข้อมูลให้คณะอนุกรรมการฯ เพื่อสอบสวนต่อไป
พล.ต.อ.วาสนา เบิกความอีกว่า หลังจากที่ขยายเวลาจนถึง 8 เม.ย.แล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้ส่งรายงานสรุปผลสอบสวนครั้งแรกมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.49 แต่รายงานยังไม่สรุปผลชัดเจนเรื่องผู้บริหารพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัคร โดยสรุปเพียงผลการกระทำผิดที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และผู้สมัครพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลวันสังกัดพรรค และแจ้งเท็จสถานภาพสมาชิกพรรค
ดังนั้น พยานจึงให้คณะอนุกรรมการฯ สอบสวนเพิ่มเติมพร้อมส่งผลในวันที่ 10 เม.ย. แต่ต่อมาเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ขอเลื่อน พยานจึงให้ขยายเวลาจนถึงวันที่ 12 เม.ย. แต่เมื่อผลรายงานสรุปเพียงว่ามีพรรคการเมืองกระทำผิด แต่ไม่รายงานความเห็นประกอบว่าผิดกฎหมายใด มาตราใดอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อวันที่ 17-20 เม.ย. กกต.จึงประชุมหารือ และวันที่ 21 เม.ย.พยานจึงให้สอบสวนเพิ่มเติมอีก
โดยคณะอนุกรรมการฯ สรุปผลครั้งสุดท้ายมาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ในเวลา 17.40 น. ซึ่งวันดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดการจัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย.พอดี จึงทำให้พยานยังไม่รับสำนวนและรับทราบผลสอบสวนของคณะอนุกรรมการฯ โดยที่โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องพยานในวันที่ 8 พ.ค.เช่นเดียวกันในเวลา 15.33 น.ว่าพยานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่วินิจฉัยเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กโดยล่าช้านั้น จึงไม่เป็นความจริง เพราะขณะฟ้องพยานยังไม่ได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการฯพยานจึงไม่ได้มีหน้าที่วินิจฉัยจนกว่าจะได้รับสำนวนสอบสวน
ทั้งนี้ ประธาน กกต. ยืนยันด้วยว่า ที่ต้องให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมหลายครั้ง เนื่องจากรายงานผลสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงครั้งแรกของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ระบุข้อกฎหมายที่ชัดเจนในการกระทำผิดซึ่งในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ได้ระบุเพียงว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าเท่านั้น แต่สำนวนยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานหรือเอกสารชัดเจนแสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย และผู้บริหารพรรค เป็นผู้ว่าจ้าง และจ่ายเงิน รวมทั้งยังไม่มีหลักฐานแสดงเส้นทางการเงิน
*ยังมีการสอบปากจำเลยภาคบ่ายต่ออีก