มติชน
ปณ.กกต.-นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิฯ แถลงข่าวเปิดตู้ ปณ.45 รับข้อมูลและเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่วิปวุฒิฯมีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ 22 คน ขึ้นมาตรวจสอบประวัติและความประพฤติ
**วิปวุฒิฯตั้ง22กมธ.คุ้ยประวัติว่าที่กกต.
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ กิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา ที่มีนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล รักษาการ ส.ว.ร้อยเอ็ด เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีมติให้ตั้ง กมธ.ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 22 คน เพื่อตรวจสอบประวัติ ว่าที่ 10 กกต.ที่ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเลือก 5 คน
นายสุรชัยแถลงว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่คณะ กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และการเตรียมตั้งคณะ กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติฯผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะส่งรายชื่อให้วุฒิสภาภายในวันที่ 10 สิงหาคม
"เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติจำนวน 22 คน จากตัวแทนของกรรมาธิการสามัญ โดยจะเรียกประชุมตัวแทนแต่ละชุดอีกครั้งเวลา 09.30 น. วันที่ 15 สิงหาคม เพื่อเลือกกรรมาธิการ ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ในเวลา 13.30 น. เพื่อขอมติ เพื่อลดขั้นตอน นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อคัดเลือกบุคคลอีก 8 คน เข้ามาช่วยทำงาน เพื่อให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณายังกำหนดไม่ได้ เพราะจะต้องเห็นรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ทั้ง 10 คนก่อนจึงจะกำหนดเวลาได้" นายสุรชัยกล่าว
**ท้าจับตาดูขอเป็นเสาหลักเพื่อสังคม
ประธานวิปวุฒิฯกล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 15 ตุลาคมนั้น ไม่ได้เป็นการกดดันการทำงานของวุฒิสภา เพราะวุฒิสภามีหน้าที่ในการสรรหา กกต. เข้ามาจัดการเลือกตั้ง จะทำให้มีประสิทธิภาพที่สุด และให้เร็วที่สุด ถ้าไม่ทันก็ไม่ทัน
นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องสายสัมพันธ์ของว่าที่ ป.ป.ช. แต่ต้องการให้เข้าใจว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาล ใครจะไปสัมพันธ์กับใครเป็นเรื่องส่วนตัว แต่จะไม่มีผลต่อการโหวตเลือก ป.ป.ช.และ กกต. ต้องการให้สื่อมวลชนจับตาดูวันลงคะแนนโดยเฉพาะการเลือก กกต. วุฒิสภาชุดนี้จะทำให้ประชาชนได้จดจำและเห็นประโยชน์ขององค์กรวุฒิสภาที่ต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้แก่สังคม
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กทม. เลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากตั้ง กมธ.แล้ว กมธ.จะทำงานทุกวันไม่เว้นวัน โดยเบื้องต้นทั้ง 22 คน จะตรวจสอบประวัติว่าที่ 10 กกต.ในสัดส่วน 2 ต่อ 1 คน ซึ่งจะทำให้รวดเร็วและรอบคอบ
**สุชนอ้างตรงไปตรงมา-ให้ลืมภาพเก่า
นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องที่นัดพบปะหารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่าไม่ได้ไปพูดคุยกับนายสมศักดิ์เรื่อง ป.ป.ช.หรือ กกต.เพราะยังไม่เห็นหน้าค่าตาว่าจะเป็นอย่างไร
"การทำหน้าที่ของผมในฐานะประธานวุฒิสภาจะต้องสรรหา กกต.ให้ดีที่สุด รวมถึง ป.ป.ช.ด้วย ลืมเรื่องเก่าๆ ลืมภาพเก่าๆ ได้แล้ว ตอนนี้ สุชนเป็นคนตรงไปตรงมา ผมไม่เข้าข้างใคร โดยการเลือก กกต.น่าจะเป็นผลงานที่ทำให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ ถ้าศาลเลือก 10 คน ได้คนดีที่สุด เราจะคัดให้ได้ 5 คนที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่คนของใคร" นายสุชนกล่าว
**สมศักดิ์ปัดเรียกไปสั่งเร่งคัดกกต.
นายสุชนกล่าวว่า ขอยืนยันว่าการพบนายสมศักดิ์ไม่มีเงื่อนงำ เพราะโรงแรมเป็นที่สาธารณะและไม่ใช่การไปวิ่งเต้นเพื่อส่งน้องสาวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 3 จ.ชัยภูมิ พรรคไทยรักไทย เนื่องจากที่ผ่านมาน้องสาวป็นผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยอยู่แล้วและเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวเพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้พบกับนายสุชนแบบลับๆ ล่อๆ แต่พบโดยเปิดเผย ที่สำคัญคือมีนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั่งอยู่ด้วย และตนเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าพรรคประชาธิปัตย์ประชุมกันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ในวันที่ 6 สิงหาคม ที่ไปพบกับนายสุชนที่นั่น หากลับๆ ล่อๆ คงย้ายกันไปคุยที่อื่นแล้ว
"บางคนบอกว่าเพราะผมต้องการไปเร่งให้การคัดเลือก กกต.ทันวันที่ 15 ตุลาคม ผมไม่เห็นต้องไปทำอย่างนั้นเลย เพราะเป็นหน้าที่ของ ส.ว.อยู่แล้ว เพียงแต่ท่านสุชนปรารภว่าเป็นห่วงบ้านเมือง หากเกิดอะไรขึ้น ส.ว.จะต้องตกเป็นจำเลย ในใจผมยังคิดเลยว่าการคัดเลือก กกต.เที่ยวนี้ก็ไม่เห็นต้องไปดูอะไรมาก เพราะศาลท่านคัดเลือกมาดีอยู่แล้ว แค่จับสลากถือว่ายังคุ้มเลยเพราะไม่ต้องไปเสียเวลามาก ผมแนะนำไปอย่างนี้เดี๋ยวก็มีคนออกมาด่าอีกว่า ไม่รู้กฎระเบียบ ผมเพียงแต่เปรียบเปรยให้ฟัง" นายสมศักดิ์กล่าว
**ไม่พูดปมฝากน้องบอกเรื่องส่วนตัว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจนายสุชนมาก เพราะไปกินข้าวกินน้ำกับใครก็ไม่ได้ เนื่องจากมักถูกคนที่ใจคอคับแคบกระแหนะกระแหน ส่วนเรื่องที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสรรค์ พรรคไทยรักไทย ระบุนายสุชนไปพบเพื่อฝากน้องสาวลงสมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทยที่ จ.ชัยภูมินั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องใดที่เป็นเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรเอามาพูด ซึ่งตนก็ไม่เคยให้ พ.ต.ท. บรรยินนำไปพูด พ.ต.ท.บรรยินคงเข้าใจอะไรผิด ขณะที่ พ.ต.ท.บรรยินที่นั่งอยู่ข้างๆ นายสมศักดิ์พยายามชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นการพูดคุยและตอบคำถามธรรมดา แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าได้ให้สัมภาษณ์จริงหรือไม่ พ.ต.ท.บรรยินกล่าวยอมรับว่าให้สัมภาษณ์เช่นนั้นจริง
**รบ.เตรียมทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.เปิดวิสามัญ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้วุฒิสภาตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.และโหวตเลือก ป.ป.ช. เนื่องจากนายสุชนยังไม่ได้ประสานงานมาที่สำนักเลขาธิการ ครม.
ผู้สื่อข่าวถามว่า เดิมวุฒิสภาตั้งใจจะเปิดประชุมสภา ในวันที่ 15 สิงหาคม ถ้าเป็นเช่นนี้จำเป็นต้องเรียกประชุม ครม. นัดพิเศษเพื่อขอความเห็นชอบในร่าง พ.ร.ฎ. และเร่งนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า "ยังไม่ทราบ ต้องสอบถามจากนายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. อีกครั้งหนึ่ง"
ต่อมา นพ.สุรพงษ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้โทรศัพท์สอบถามนายรองพล ทราบว่า นายสุชนส่งเรื่องขอให้รัฐบาลถวายร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 15 สิงหาคม มาให้แล้ว ซึ่งทางเลขาธิการ ครม.เตรียมร่างให้นายกรัฐมนตรีลงนามและนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
**"แม้ว"เผยครม.เห็นชอบล่วงหน้าแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุม ครม.จะเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 08.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จังหวัดขอนแก่น ว่าที่ประชุม ครม.จะพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตามที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ
ต่อมาเวลา 18.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งกรณีไม่นำร่าง พ.ร.ฎ.เข้า ครม.ว่าเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ครม.ได้อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. ไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุวันที่ลงไป หากประธานวุฒิสภาประสานเรื่องวันที่มา ก็สามารถลงวันที่ในร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย ส่วนจะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งหรือไม่นั้น เป็นเรื่องทางเทคนิค ต้องไปเลขาธิการ ครม. สำหรับตนเข้าใจว่า เมื่อลงวันที่แล้วก็น่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที
**เลขาฯศาลฎีกาเผยขั้นตอนเลือกกกต.
นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า การสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ในช่วงเช้าวันที่ 10 สิงหาคม เป็นการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ ม.138 (2) 5 คน ในช่วงบ่ายเป็นการสรรหาตาม (3) อีก 5 คน โดยในแต่ละช่วง จะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 3 รอบ ในแต่ละรอบผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 86 คน จะได้รับบัตรลงคะแนนซึ่งมีหมายเลขของผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่ 1-42 โดยผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสิทธิลงคะแนนได้ 5 หมายเลข ซึ่งในรอบแรกจะคัดเลือกจากทั้งหมดจำนวน 42 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 30 อันดับแรก จะผ่านเข้าสู่การคัดเลือกรอบสอง ซึ่งก็จะใช้วิธีการเดียวกันแต่จะคัดเลือกให้เหลือ 10 คน ส่วนรอบสุดท้ายจะคัดเลือกเหลือผู้ที่สมควรเป็น กกต. 5 คน ซึ่งแต่ละคนต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด คือ 44 เสียง หากมีผู้ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งมากกว่า 5 คน ก็จะเอาผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก
"ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ร่วมสมัครคัดเลือกเป็น กกต. ก็มีสิทธิลงคะแนน และสามารถลงคะแนนให้กับตัวเองได้ เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป อาทิ ส.ส. และ ส.ว. หากปรากฏว่ามีผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรเป็น กกต. จำนวนมาก ก็เป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เกิดข้อครหา" เลขานุการศาลฎีกากล่าว
แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า การสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. 10 คนให้วุฒิสภาคัดเลือกนั้น ผู้พิพากษาศาลฎีกาไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าจะต้องมีผู้พิพากษา หรือคนนอกจำนวนเท่าใด ซึ่งคิดว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน จะต้องเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดอยู่แล้ว
**ว่าที่ป.ป.ช.แจงแจ้งทรัพย์สินครบถ้วน
พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด 1 ใน 18 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ชี้แจงกรณีถูกระบุลืมแจ้งบัญชีทรัพย์สิน 38 บัญชี มูลค่า 200 ล้านบาท ต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและ ความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ว่า ไม่ได้ลืมแจ้งทรัพย์สินอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ได้แจ้งให้ทราบหมดแล้ว โดยในส่วนของตนแจ้งไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ส่วนของภรรยา เนื่องจากทำธุรกิจ จึงต้องขอเอกสารไปยังธนาคาร และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ระบุไปด้วยว่าจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วที่สุด โดยแจ้งให้ทราบไปหมดแล้วเช่นกัน "เพราะฉะนั้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผมและภรรยาครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งนานแล้ว" พล.ต.ท.วันชัยกล่าว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กทม. เลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. กล่าวว่า ข้อมูลที่ว่า พล.ต.ท.วันชัยมีปัญหาเรื่องการชี้แจงทรัพย์สินนั้น ล้าหลังมาก เนื่องจาก พล.ต.ท.วันชัยส่งข้อมูลมาให้ครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่ได้เป็นไปตามข่าว "พล.ต.ท.วันชัยนั้นไม่มีปัญหาเรื่องการชี้แจงที่มาของรายได้ แต่จะเป็นใครนั้น คงจะเปิดเผยไม่ได้" นายวัลลภกล่าว
**เอกชัยไม่ยุ่งเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง
ทางด้านศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.ของ กกต.ก็ได้จัดประชุมขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน กกต.อาคารศรีจุลทรัพย์ โดยมี พล.ต.ต. เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต.เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนการประชุม พล.ต.ต.เอกชัย ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ส่งหนังสือขอให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเพิ่มอีก 8 ข้อว่า "ไม่มีอะไร ทาง สตง.ถามอะไรมาก็จะชี้แจงไปอย่างนั้น เรื่องการพิจารณาคัดเลือกบริษัท จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง จัดทำปลอกแขน โดยใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเรื่องนี้เป็นขั้นตอนการสรรหาบริษัทของสำนักงาน และไม่ได้เข้าไปยุ่ง จึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าทำไมถึงเลือกบริษัทโน้น บริษัทนี้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ พล.ต.ต. เอกชัย ต้องเป็นประธานในการประชุม แต่ พล.ต.ต. เอกชัย ร่วมประชุมมอบนโยบายและเปิดประชุมเพียง 10 นาทีเท่านั้น จากนั้นได้มอบหมายให้นายประวิง คชาชีวะ รองเลขาธิการ กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ทำหน้าที่ต่อพร้อมกับเดินออกจากห้อง
พล.ต.ต.เอกชัย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 15 ตุลาคมว่า เรื่องที่จะมีการเลื่อนหรือไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง คงไม่เกี่ยวกับสำนักงาน กกต.และทางสำนักงานยังคงประชุมเตรียมความพร้อมต่อไป
"ผมไม่ได้ยุ่งแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมมาแค่เปิดการประชุม ส่วนเรื่องการเตรียม การเลือกตั้งมอบให้รองเลขาธิการ กกต.ทำแทน" พล.ต.ต.เอกชัยกล่าว
**ศาลฎีกาไม่รับโอนคดีวาสนา-พวก
ส่วนอดีตประธาน และ กกต.ประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร เดินทางไปขึ้นศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ในคดีนายประหยัด เสมาพัฒน์ อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ฟ้อง โดยเป็นการนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในการรับโอนคดี
เวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งศาลฎีกา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ชั้น 2 ว่าศาลฎีกา ไม่รับโอนคดี จากนั้นสั่งสืบพยานโจทก์และจำเลยทันทีในวันเดียวกัน โดยศาลเริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เสร็จสิ้นเวลา 13.00 น. และสืบพยานฝ่ายจำเลยทันที อย่างไรก็ตามทนายและจำเลยทั้ง 4 คนแถลงต่อศาลขอเลื่อนการสืบพยานจำเลย เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คนต้องรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมขึ้นศาลวันที่ 10 สิงหาคม ผู้พิพากษาจึงนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 9 ตุลาคมวันเดียว