คมชัดลึก : การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นความคาดหวังของสังคมในการที่คลี่คลายวิกฤติการเมืองที่แบ่งขั้วแบ่งสี แต่ในขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้สถานการณ์การเมืองรุนแรงอีกครั้ง
เพราะทุกฝ่ายจับตาในประเด็นที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพุ่งเป้าไปยังตัวของคณะกรรมการทั้ง 40 คน โดยเฉพาะ ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการ ที่ถูกมองว่าเป็น "คนการเมือง"
แต่...ก็ได้รับคำยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ตัวเองมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้การยอมรับ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการ
“กรรมการสมานฉันท์ เกิดจากเหตุการณ์ 8-15 เมษายน ซึ่งถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้ประธานรัฐสภา (ชัย ชิดชอบ) มีดำริให้วิป 3 ฝ่ายไปหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งวิป 3 ฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าให้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การสมานฉันท์ เป็นเวทีมาคุยกัน เปิดเผยกัน เพื่อต้องการให้ทุกอย่างเคลียร์" ประธานกรรมการระบุ
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการยอมรับว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ถูกคาดหวังจากสังคมสูงว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่ในความเป็นจริงคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมดเพราะปัญหาการเมืองหมักหมมมานาน การที่มีคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ประเด็นหลักที่คณะกรรมการสมานฉันท์จะต้องดำเนินการนั้น ดิเรก ระบุว่า จะต้องตั้งหลักและตั้งประเด็นว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมือง เมื่อได้ต้นตอของปัญหาแล้วจากนั้นก็หาแนวทางในแก้ปัญหานั้น ที่สำคัญคือการตั้งสติ ถอยคนละก้าว โดยยึดประเทศชาติเป็นตัวตั้ง
หากทุกคนถอยคนละก้าว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็จะลดน้อยลง ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์จะทำงานไม่เน้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แค่เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาของคณะกรรมการเท่านั้น
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม ก็ไม่เกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์จะใช้เวลาศึกษาเพียง 45 วัน จากนั้นก็จะเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป
"การใช้เวทีรัฐสภาเพื่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ถือเป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อการเมืองมีปัญหา ก็ต้องแก้ที่รัฐสภา ไม่ใช่ไปประท้วง ปิดล้อมสถานที่ ตรงนี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง"
ขณะนี้ความขัดแย้งในบ้านเมืองไม่ใช่อยู่แค่ตัวนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังระบาดไปในครอบครัว คนในครอบครัวเดียวกัน อยู่คนละสี ซึ่งต้นเหตุวิกฤติการเมืองมาจากนักการเมืองล้วนๆ ซึ่งสอดรับกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นว่านักการเมืองเป็นต้นตอที่สำคัญที่สุด ดังนั้นต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ด้วยการปฏิวัติ
"การเมืองมันก็ต้องแก้ด้วยวิธีทางการเมือง ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้โดยวิธีปฏิวัติ เราไม่ต้องพูดหรอก พูดไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ไม่อยากให้มันเกิดแบบซ้ำซาก ถ้าทุกคนเข้าใจว่าการถกเถียงกันในสภา ผมเองเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ และก็มีการสอนหนังสือด้วย ดังนั้นการอดทน อดกลั้นกับทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ตอนนี้วิกฤติทางการเมือง แต่คนเบื่อการเมือง เบื่อนักการเมือง มันเบื่อไม่ได้นะครับ มันต้องทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันไปกันได้ ”
ในสถานการณ์บ้านเมืองที่แบ่งแยก แบ่งสี ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ จึงมีคำถามจากประชาชนเสมอว่า “เมื่อไรจะจับมือกันซะที เมื่อไรจะเลิกรากันซะที”
นี่คือเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่อยากให้บ้านเมืองสงบสุข ซึ่งดิเรกยอมรับว่า เมื่อลงพื้นที่ก็มักจะได้รับคำถามแบบนี้ทุกครั้ง
เขามองว่าโจทย์ทางการเมืองขณะนี้ก็คือความไม่เป็นธรรม บางคนไม่ได้อยู่สีไหน ฝ่ายไหน แต่เมื่อเห็นอะไรไม่ถูกต้องก็ออกมา แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกผลักให้ไปเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงก่อให้เกิดปัญหาและความรุนแรงตามมา
โจทย์ทางการเมืองที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ดิเรกมอง ก็คือ คุณภาพของนักการเมือง เพราะในปัจจุบันนักการเมืองส่วนใหญ่เอาแต่ใจตนเองมากกว่าที่จะยึดประโยชน์ส่วนรวม
สุดท้ายกับคำถามที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นตัวบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ซึ่งดิเรกแสดงความเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่าคนไทยยังเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยน้อย พอการซื้อสิทธิ์ขายเสียงระบาดเข้าไปการแก้มันก็ยาก
“ผมชี้ให้ชาวบ้านเห็นตลอดว่า การที่คุณไปรับเงินเขา ไปขายเสียงให้เขา คือการที่คุณยอมให้เขาเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์บ้านเมือง"
ประภาศรี โอสถานนท์