สุชนฉุนคำครหารับใบสั่ง ทรท.

"ปฏิเสธ จริงๆแล้วพบกันอย่างเปิดเผย"


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.แรงงาน แกนนำ กลุ่มวังน้ำยม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ข่าวระบุว่านายสมศักดิ์ พบกันแบบลับๆล่อๆ กับนายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภาว่า ไม่ได้พบลับๆล่อๆ พบกันเปิดเผย แต่ พบโดยบังเอิญ ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า และไม่ได้มีแค่ตน กับนายสุชนเท่านั้น แต่ยังมีนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

จากพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยกันเรื่องการทำงานต่างๆ และแค่ดื่มกาแฟ ไม่ได้ทานข้าว ส่วนที่หนังสือ พิมพ์บางฉบับบอกว่าไปตีกอล์ฟด้วยกันนั้น ถ้าตีจริงคงไม่ต้องมานั่งคุยกันอีก คนที่วิเคราะห์วิจารณ์ขอให้ตั้งสติ เสียใหม่ นอกจากนี้ นายสุชนไม่ได้มาฝากน้องสาวให้ลงส.ส.ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นห่วงนายสุชนเหมือนกัน เพราะถ้าคิดแบบนี้ต่อไปประธาน ส.ว.กินข้าวกับใครไม่ได้เลย


ฉุนข้อครหาล็อบบี้ ส.ว.


นายสมศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่มีการกล่าวหาว่า นัดพบกันเพราะมีการล็อบบี้ ส.ว. ไม่มีความจำเป็นเลย การเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอน จะไปล็อบบี้ทำไม ไม่ใช่แน่ และที่ระบุว่าจะมีการรับออร์เดอร์กันนั้น ถ้ารับจริงนายเกรียงศักดิ์จะนั่งอยู่ได้อย่างไร คนที่นั่งอยู่ด้วยกันเป็นฝ่ายค้านมากกว่าด้วยซ้ำ ฝ่ายรัฐบาลมีตนเพียงคนเดียว ดังนั้นเป็นการกล่าวหากันให้เข้าใจผิด

ผมไม่มีหน้าที่ไปเกี่ยวข้องกับ ส.ว.เลย อีกทั้ง กกต.ที่ศาลเลือกมาแล้ว จะไปล็อบบี้อะไรได้อีก จาก 10 คนที่ศาลเลือกมา อาจจับสลากให้เหลือ 5 คนได้เลย เพราะศาลเลือกมาดีแล้ว ดังนั้นตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว.บางคนอยากถ่วงเวลา ให้อยู่ในตำแหน่งนานๆใช่หรือไม่ พวกใจคอคับแคบ


"สุชน" ฉุนข่าวรับใบสั่งโหวต กกต.


ด้านนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา กล่าวถึง การไปพบกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นความบังเอิญจริงๆ เพราะไปตีกอล์ฟที่ราชพฤกษ์ที่อยู่แถวนั้นพอดี เจอกันก็ทักทายกันปกติในฐานะคนรู้จัก ไม่มีนัยอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนเรื่องของน้องสาวตนถือเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เพราะเคยเป็นผู้สมัครพรรคไทยรักไทยอยู่แล้ว

เป็นเสรีภาพทางการเมือง ตนไม่เกี่ยว จะรับหรือไม่รับเป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ขอร้องให้ลืมเรื่องเก่าๆ ภาพเก่าๆได้แล้ว เพราะตนก็ตรงไปตรงมาไม่เข้าข้างใคร ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา มั่นใจว่าการเลือก กกต.ครั้งนี้จะเป็นผลงานที่ทำให้ประชาชนสบายใจได้ จะเลือกให้ได้ 5 คนที่ดีที่สุด

เพื่อจัดการเลือกตั้งให้ บริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อได้รัฐบาลใหม่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนไม่ใช่คนของใคร เมื่อถามว่าอาจมีการรับใบสั่งใครมา นายสุชนตอบว่า ไม่มี ถามให้สร้างสรรค์หน่อยขอให้ สบายใจได้


วิปวุฒิฯเตรียมพร้อมประชุม 15 ส.ค.


วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) มีนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล รักษาการ ส.ว.ร้อยเอ็ด เป็นประธาน โดยเชิญประธานคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 22 คณะ เข้าหารือเพื่อวางกรอบการทำงานหลังได้รับรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 10 คน และการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น

กกต. จากนั้นนายสุรชัยแถลงว่า ที่ประชุมได้ พิจารณาเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 15 ส.ค. ที่จะต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ การเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ กกต. สิ่งที่ที่ประชุมเห็นเป็นเอกฉันท์คือต้องสรรหา กกต. ให้ได้โดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องกรอบเวลานั้นแล้วแต่ที่ประชุมใหญ่วุฒิสภาจะเห็นชอบ ถ้าจะไม่ทันการเลือกตั้งวันที่ 15 ต.ค. ก็ไม่ทัน เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของวุฒิสภา


ยัน ปธ.วุฒิฯสั่งล็อก กกต.ไม่ได้


เมื่อถามว่า การที่ประธานวุฒิสภาไปพบกับแกนนำพรรคไทยรักไทยส่งผลต่อการสรรหา กกต.หรือไม่ นาย สุรชัยตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นประธานวุฒิสภา ประธานวิปวุฒิสภา หรือประธานคณะกรรมาธิการไม่มีใครบอกให้เลือกใครตามที่ต้องการได้ ถึง ส.ว.จำนวนหนึ่งจะมีพวก พ้อง แต่ก็เป็นพวกกันทุกฝ่าย การที่ประธานวุฒิสภาจะไปกินข้าวหรือตีกอล์ฟกับใคร ไม่มีผลต่อการโหวต แต่มีผลกระทบบ้างที่ความรู้สึกของสมาชิก เพราะเป็นผู้นำองค์กร แต่ยืนยันว่าการเลือก กกต.ครั้งนี้วุฒิสภาจะทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน

ประชุมทุกวันไม่มีวันหยุด

ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กทม. เลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า การสรรหา กกต.วุฒิสภามีกระบวนการตั้งแต่การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจ สอบประวัติฯ ไปจนถึงการลงมติเลือกแล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯทั้งสิ้น 12 ขั้นตอน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะต้องดำเนินการใน 3 สถานการณ์ คือ 1. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค. 2. ต้องดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญและข้อบังคับของวุฒิสภา

3. ต้องเร่งรัดให้เร็วที่สุด เมื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯแล้วจะนัดประชุมทุกวันไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และใช้วิธีการตรวจสอบประวัติที่รวดเร็วคือให้กรรมาธิการ 2 คนต่อการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อ 1 ราย ยืนยันว่าไม่สามารถล็อบบี้กันได้ เพราะจะไม่ให้ผู้ที่มีสายสัมพันธ์หรือสายอาชีพเดียวกันสอบกันเอง และจะไม่ให้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อรู้ว่าใครไปตรวจสอบ


ตรวจเข้มพฤติกรรมว่าที่ กกต.


นายวัลลภกล่าวว่า นอกจากนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประสานเป็นการภายในไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร ป.ป.ช. ธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่ง เพื่อขอความร่วมมือในข้อมูลด้านการเงิน เพราะที่ผ่านมาจะส่งมาช้ามากหรือไม่ส่งมาเลย หากไม่ส่งมาให้กรรมาธิการตามไปตรวจสอบถึงหน่วยงานนั้นๆเลย ที่ต้องเน้นตรวจสอบด้านการเงินเพราะต้องการรายละเอียดประวัติและความประพฤติ ไม่ใช่คุณสมบัติ

ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.แน่นอนนั้น คิดว่าใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไป การเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง แต่วุฒิสภาจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามรัฐธรรมนูญ แต่บางขั้นตอนอาจลดระยะเวลาลงได้ โดยเฉพาะการแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกเป็น กกต.ลาออกจากตำแหน่งต่างๆจากเดิมต้องทำภายใน 15 วัน จะขอให้เร่งดำเนินการภายใน 1-2 วันก็พอ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์