คมชัดลึก :กก.สมานฉันท์ชี้ประเด็นแก้รธน.หากมีมากอาจเสนอตั้งส.ส.ร."เพื่อไทย" จี้ ปชป. อย่าตีสองหน้า ให้ชัดแก้-ไม่แก้รธน. ขู่ 45 วันไม่คืบเสื้อแดงมาแน่ อ้าง"บรรหาร"พรรคร่วมเตรียมกดดันหนัก ด้านหน.ชทพ.ลั่นแก้หรือไม่แก้รธน.แล้วแต่ปชช.ตัดสิน เสนอให้สังคมวิพากษ์ประเด็นยุบพรรค
(9พ.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่า สิ่งที่เสนอมาย่อมเป็นธรรมดาว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นว่าเป็นสิทธิทางการเมือง ถ้าปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขก็อาจจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมมากขึ้น ควรเปิดใจกว้างรับฟัง ถ้าไม่ฟังเลยก็ทำให้เกิดปัญหาว่าให้คนไม่รู้เรื่องการเมืองมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดกระบวนการรัฐสภาต้องดำเนินการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร กับประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวบรวม ถ้าเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมากอาจจะเสนอตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ส.ส.ร.) ก็ได้
การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหากลงทั้งฉบับ ไม่น่ามีประโยชน์ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่ละประเด็นย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และที่สำคัญยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำประชามติในขณะนี้ ดังนั้นหากทำเป็นประเด็นสอบถามน่าจะพอรับฟังได้
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอก นายสมบัติ กล่าวว่า หากมีการเสนอจริงถือเป็นสิ่งที่รับฟังได้ เพราะมีตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตย ยังเคยมีประธานาธิบดีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เพียงแต่มองว่าให้เปิดช่องสำหรับหาทางออกหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรอบทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 45 วัน เพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางคนเห็นว่าความขัดแย้งมีมากแล้วอย่าใช้เป็นเกมซื้อเวลา หรือถ้าทำแล้วน่าจะใช้เวลามากกว่านี้ เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ตอนนี้ต้องเริ่มต้นรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันก่อน จึงนำประเด็นเหล่านั้นมาหาพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นายสมบัติ กล่าวว่า แต่ละคนก็ทำหน้าที่ เพราะถือว่ามีสิทธิตามกรอบประชาธิปไตย แต่วันนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากซ้ำเติมให้ประเทศเดือนร้อนไปมากกว่านี้
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เท่าที่ดูการประชุมคณะกรรมการฯครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนมองว่าหลายฝ่ายยังสงวนท่าที โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่เล่นบทสองหน้า ไม่ชัดเจนว่าจะแก้หรือไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าพร้อมจะแก้รัฐธรรมนูญแต่ปรากฎว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์เองกลับออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ซึ่งส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลเช่น พรรคชาติไทยพัฒนาก็แสดงความเห็นด้วยว่าควรต้องแก้ประเด็นหลักคือมาตรา237 ว่าด้วยการยุบพรรค มาตรา.190 มาตรา265 และ266 รวมทั้งบทบาทขององค์กรอิสระซึ่งต้องดูกรอบอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสองมาตรฐานเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในการประชุมครั้งต่อไปตนจะลุกขึ้นถามเลยว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไรกันแน่อยากจะแก้หรือไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากให้แก้ไข เพื่อพรรคไทยก็จะไปคุยกับพรรคร่วมอื่น ๆ ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลมีประเด็นอะไรออกมาอีกอีกพรรคเพื่อไทยก็จะไม่เข้าร่วมด้วยอีกแล้ว ขณะเดียวกันถ้าจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่าหากรัฐบาลโกหกเพื่อซื้อเวลา ก็ไม่แน่ว่าการชุมนุมของคนกลุ่มคนเสื้อแดงจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
" รัฐบาลจะเล่นเกมยื้อเวลาไม่ได้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นการแก้ปัญหาของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ แต่ถ้านับถอยหลังอีก 45 วันที่วางกรอบเวลาไว้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อว่าอารมณ์ของมวลชนก็พร้อมจะระเบิด รัฐบาลอย่าไปคิดว่าการชุมนุเมื่อวันที่ 13 เม.ย.สงบแล้ว ความจริงเปล่าเลย เพราะเท่าที่ตนลงพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างภาคอีสาน ชาวบ้านบอกว่าเมื่อไหร่นายกฯจะลาออก ดังนั้นหากไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ยิ่งตอกย้ำความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลซึ่งประชาชนก็จะทนไม่ได้ " นายพีรพันธุ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไปคุยกับพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อให้เร่งรัดกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคเพื่อไทยก็ได้คุยกันอยู่และเห็นตรงกันว่าควรจะแก้ ดังนั้นหากรัฐบาลยังไม่แก้เชื่อว่าจะถูกกดดันจากพรรคร่วมฯอย่างหนักแน่นอน ส่วนจะถึงขั้น ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัวออกจากรัฐบาลหรือไม่ ตนคงตอบแทนไม่ได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยตนทราบว่านายเนวิน ชิดชอบ จะยื้อเวลาเพื่อรอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่จะถึงขึ้นถอนตัวหรือไม่คงไปตอบแทนไม่ได้
นายวิทยา บุรณศิริ กล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการได้รับทราบประเด็นที่พรรคการเมืองอยากให้แก้ไขแล้ว ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไปก็จะรอดูว่ามีประเด็นอะไรเพิ่มเติม และสอดรับกับข้อมูลที่ได้รับครั้งแรกหรือไม่ ความจริงแล้วคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สรุปประเด็นโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องเร่งพิจารณาดูว่าความเห็นแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรก่อนเสนอให้ประธานสภาฯ ถ้าสมมุติว่าทุกฝ่าย ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นตรงกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเช่นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องยอมรับฟังเสียงข้างมาก แม้ว่าเสียงของคนในพรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านก็ตาม
อย่างไรก็ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญออกไป แล้วใช้วิธียุบสภานั้น ตนมองว่าเรื่องนี้เมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วก็ต้องฟังข้อสรุปก่อน จะมาเล่นเกมคงไม่ได้เพราะการแก้ไขเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา291 ส่วนข้อถกเถียงเรื่องการทำประชามติ คิดว่าต้องไปดูอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เพราะคณะกรรมการมีหน้าที่เพียงแต่ทำให้เป็นรูปธรรม
นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือจะแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ ไม่แก้ก็ได้ แล้วแต่ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่าอย่างไร แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการทำประชามติเพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ควรมีการแยกประเด็นออกมาว่ามาตราไหนของรัฐธรรมนูญที่ควรแก้ แยกออกมา 2-3 ประเด็นอย่างมาตรา 190 และมาตรา 237 แล้วนำมาให้สังคมวิพากษ์ว่าประเด็นดังกล่าวนี้ควรแก้หรือไม่ โดยให้นักวิชาการ สื่อมวลชนและประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งการที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอแก้รัฐธรรมนูนนั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยหรือจะต้องรอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปอีกพรรค อย่างไรก็ตามหากให้สังคมวิพากษ์แล้วสังคมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 237 พรรคชาติไทยพัฒนาก็พร้อมที่จะฟังเสียงประชาชน
เมื่อถามว่าพรรคชาติไทยพัฒนาได้มีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยกัน ไม่เคยเชื่อมโยงอะไรกับพรรคไหนทั้งสิ้น พรรคชาติไทยพัฒนามีจุดยืนในเรื่องนี้อยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องหารือกับใคร
ส่วนใครจะไปหารือกับใครนั้นอาจเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้แต่ไม่เกี่ยวกับพรรค พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยหารือกับพรรคไหนเพื่อให้มาเป็นแนวร่วม เพราะพรรคชาติไทยพัฒนามีแนวร่วมคือประชาชน และพร้อมที่จะให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างไรก็ตามหากสิ่งที่พรรคเสนอไปแล้วพรรคอื่นจะเห็นด้วยก็ไม่เป็นไร