ปชป.แฉเติ้ง-พรรคร่วม กดดัน"อภิสิทธิ์"
ปลดล็อกม.237ชี้สุดท้ายยุบสภา
“ปชป.” ปูด “บรรหาร” นำทีมพรรคร่วมฯ บีบ “มาร์ค” ปลดล็อกนักโทษการเมือง ม.237 ให้ได้ ฟันธง “หล่อใหญ่” ยึดหลักการมากกว่าหลักกู เชื่อยุบสภาเป็นทางออกสุดท้าย ขณะที่ “ประธาน ส.ส.” เตรียมนัดประชุมพิเศษ เปิดเวที ส.ส. ลงมติหาจุดยืน “เด็กเทพ-เด็กหยัด” ใครมากกว่ากัน ฝ่าย “มาร์ค” ท่องคาถาแก้ รธน. ไม่ใช่ชนวนเลือดรอบใหม่ พร้อมขอร้อง “พันธมิตรฯ” อย่าใจแคบ “วิปรัฐนาวา” เดินเกม 2 คณะใส่เกียร์ห้าหาข้อสรุป ส่วน “ดิเรก ถึงฝั่ง” หัก “ปู่ชัย” ขอประเดิมทำงาน 45 วัน ฟาก “ปู่สุข” รับ “พี่น้อง ส.ว.” ร่วมสางวิกฤติ ด้าน “เพื่อไทย” ชงรัฐบาลทำประชามติแก้ รธน. หรือไม่อย่างไร
“มาร์ค”วอน“พธม.”ใจกว้าง
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะออกมาแสดงพลังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อยากเชิญชวนทุกภาคส่วนให้เข้าไปช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อ คณะกรรมการของรัฐสภา 2 ชุด คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งรัฐสภาต้องเปิดกว้าง ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ก็เป็นความเห็นที่ต้องรับฟังแล้วมาแลกเปลี่ยนกัน ขณะเดียวกันก็ต้องฟังความเห็นของคนอื่นด้วย
นายกฯ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าคณะกรรม การของรัฐสภาต้องไปรับฟังประชาชนอย่างค่อนข้างเป็นระบบ และสุดท้ายผู้แทนของประชาชนจะต้องเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งถ้าเรามีกระบวนการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ก็อยากจะส่งเสริมอย่างเต็มที่
ชี้แก้“รธน.”ไม่ฟื้นชนวนเลือด
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยไม่มั่นใจนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราได้คัดเลือกกรรมการจากคนที่คิดว่ายอมรับกันได้ และที่ไปเลือก ส.ว. เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเป็นกลางอยู่ เมื่อถามว่า นายดิเรกเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องไปฟังเหตุผลว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และต้องฟังเสียงของกรรมการทั้งหมดด้วย
นายกฯ กล่าวอีกว่า เราต้องช่วยกันทำให้สังคมสามารถหาข้อยุติความขัดแย้งทางความคิดด้วยวิธีและระบบที่มีความเป็นธรรม และไม่ส่งผลกระทบในแง่ของความรุนแรง ทั้งนี้ไม่คิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นชนวนความขัดแย้งอีกรอบ เพราะความขัดแย้งทางความคิดมีอยู่แล้ว และอยู่เบื้องหลังของความเคลื่อนไหวของ ฝ่ายต่าง ๆ แต่ถ้าวันนี้เราพยายามหากระบวนการหาทางออกโดยไม่มีความรุนแรง คิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
“วิปรัฐบาล”เร่ง2คณะปิดบัญชี
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธาน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า วิปรัฐบาลได้หารือและเห็น ตรงกันว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ข้อยุติทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเปิดให้กว้างยอมรับฟัง ความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และให้พร้อมใจ กันปรับปรุงแก้ไข เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นคณะกรรมการต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดหรือเสื้อสีใดให้ หันมาร่วมกันติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการ
“เมื่อกลไกรัฐสภาเปิดกว้าง ขอให้ทุกฝ่ายที่ยังติดใจหันมาพูดคุยในชั้นกรรมาธิการ วิปรัฐบาลได้มอบให้ตัวแทนวิปแต่ละพรรคไปทำความเข้าใจ ไปประสานงานกับตัวแทนกรรมการทั้งสองชุดเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้ได้ผลยุติโดยเร็ว” ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
โวย“เติ้ง”บีบให้นิรโทษกรรม
แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า บรรดา ส.ส.ในพรรคต่างแสดงความไม่สบายใจกับกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นการนิรโทษกรรมและการยุบพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความเห็นของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ที่คัดค้านการนิรโทษกรรมผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะไม่เคารพกฎหมาย และเป็นการตบหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้มาตราอื่น เช่น มาตรา 190, 265 หรือ 266 พอรับได้ แต่หากมีการแก้ไขมาตรา 237 และมีนิรโทษกรรม เชื่อว่าสังคมภายนอกจะรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่ใช่เพียงกลุ่มพันธมิตรฯ เท่านั้น
“ยอมรับว่าขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลบีบมามาก โดยเฉพาะนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย จึงไม่รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเจรจากับพรรคร่วมเพื่อหาจุดกึ่งกลางได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค ก็เคยพูดในที่ประชุมว่าการมาเป็นรัฐบาลครั้งนี้ เราต้องการเพียงเก้าอี้นายกฯ ดังนั้นหากพรรคร่วมต้องการอะไรบางทีก็ต้องยอม” แหล่งข่าว ระบุ
“ปชป.”ฟันธง“มาร์ค”ยุบสภา
แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยังบีบเข้ามามาก ๆ เชื่อว่านายกฯ คงตัดสินใจยุบสภา เพราะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนพูดตรงกันว่า ยอมเป็นฝ่ายค้านหรือถูกโดดเดี่ยวดีกว่าที่จะเป็นรัฐบาลต่อไปแต่ไม่รักษาหลักการหรือไม่เหลือความเป็นตัวเองอยู่เลย
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ส.ส.ของพรรคบางส่วนยังรู้สึกว่าในรัฐบาลขณะนี้มีคนทำงานอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ส่วนคนอื่นทำงานแบบลอยตัว แถมยังทำตัวห่างเหินจาก ส.ส.ในพรรคอีก เพราะคิดว่าจะเข้ามาก้าวก่ายการทำงานในกระทรวง ดังนั้นไม่ใช่เพียงแค่คำเตือนของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่บอกว่าข้าราชการไม่รักรัฐมนตรีของพรรคเท่านั้น แม้แต่คนในพรรคยังจะไม่ค่อยรักด้วย
ลากเกมแก้รธน.ให้ ส.ส.โหวต
นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมกรรมการสมานฉันท์ฯ ในสัดส่วนของพรรคทั้ง 8 คน ในวันที่ 6 พ.ค. ที่รัฐสภา โดยมีนายบัญญัติ เป็นประธานเพื่อหารือถึงกรอบและแนวทางการทำงานก่อนที่คณะกรรมการสมาน ฉันท์ฯ จะนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 7 พ.ค.
ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชุดใหญ่ประชุมเสร็จ ตนจะเรียกประชุม ส.ส.ของพรรคนัดพิเศษ เพื่อให้ ส.ส.แสดงความเห็นและลงมติเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรม โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ของพรรคเป็นตัวตัดสิน อย่างไรก็ตามพรรคก็จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน รวมถึงเสียงคัดค้านของกลุ่ม พันธมิตรฯ ด้วย ส่วนการทำประชามตินั้นควรจะทำหลังจากที่ได้ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้ว ส่วนตัวอยากให้แยกประเด็นการลงประชา มติแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองออกจากกัน ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มีความผิดในคดีอาญาอย่างเด็ดขาด
“เพื่อไทย”จี้รัฐทำประชามติ
ที่พรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัย นันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ขณะนี้มีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้แก้ไข อีกฝ่าย เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ คัดค้าน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอเสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและรัฐบาลให้พิจารณาจัดทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนเพื่อหาข้อยุติ หากไม่ดำเนินการสอบถามความเห็นของประชาชนปัญหาก็ไม่จบ อย่างไรก็ตามก่อนดำเนินการจัดทำประชามติ ให้เผยแพร่ข้อมูลและความรู้อย่างทั่วถึงรอบด้าน ส่วนประเด็นคำถาม เช่น จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หาก เห็นชอบแก้ไขจะใช้ฉบับใดเป็นตัวตั้ง และเห็นควรแก้ไขประเด็นใดบ้าง
“ดิเรก”ไม่ชี้นำ-เมินเสียงค้าน
ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 13.30 น. เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน หารือในส่วนเนื้อหา ระยะเวลา และประเด็นในการศึกษา รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ประเด็นที่ชัดเจนแล้วคณะกรรมการจะพิจารณาศึกษาไปทีละประเด็น ไม่มีการชี้นำ อยากให้คิดกันว่าประเด็นที่เป็นปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง
ส่วนกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาส่งสัญญาณคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า เรื่องนี้คงเป็นคนละส่วน เราเป็นคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง ไม่จำกัดเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่คณะกรรมการวิตกและคิดหาทาง คือ เราจะมีวิถีทางใดที่จะข้ามผ่านวิกฤติบ้านเมืองในขณะนี้ไปได้
ยันกรอบทำงานเบื้องต้น45วัน
นายดิเรก กล่าวถึงกรอบระยะเวลาการทำงานว่า เดิมประธานรัฐสภาได้กำหนดเวลาทำงานไว้ 15 วัน แต่ล่าสุดบอกว่าต้องการให้เสร็จโดยเร็ว อย่างไรก็ตามเบื้องต้นน่าจะกำหนดกรอบเวลาไว้ประมาณ 45 วัน โดยจะรายงานผลการศึกษาให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เกมซื้อเวลา แต่เป็นการคิดที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง หากเวลาไม่พอคงต้องขอประธานรัฐสภาให้ขยายเวลาออกไป
“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทาง ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ว่ากันอีกที ถามว่าหนักใจไหมก็หนักใจ เพราะวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นมา 3-4 ปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ความหนักใจจึงเป็นธรรมดา แต่เมื่อเห็นจากคำสั่งที่ตั้งคณะกรรมการแล้วเราได้เชิญคู่กรณีทุกฝ่ายเข้ามาทำงาน ให้ทุกคนได้มาแสดงความเห็น ประเด็นใดเห็นตรงกันเราก็นำไปดำเนินการ ประเด็นเห็นไม่ตรงกันก็ต้องคิดหาจุดกลางที่พบกันได้แล้วเอาจุดนั้นมาทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ระบุและว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทยไม่พอใจที่ตนเป็นประธานก็ไม่เป็นไร จะขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะอยากเห็นเมืองไทยออกจากความขัดแย้ง
“ประสพสุข”แจงที่มาที่ไป2กก.
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อยากให้รอดูการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก่อน ซึ่งคงใช้ระยะเวลาในการศึกษาไม่นาน ทั้งนี้คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ได้ใช้มาเกิน 1 ปีแล้ว และเมื่อเห็นข้อบกพร่อง ก็ควรจะแก้ไข ส่วนที่ ส.ว.บางกลุ่มคัดค้านก็ขอให้ฟังเหตุผลเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่
ส่วนที่บางฝ่ายมองว่านายดิเรก เป็นคนของพรรคการเมืองนั้น ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ทุกฝ่ายบอกว่าคนนี้ใช้ได้ ท่านเป็น ส.ว.ไม่ใช่คนของพรรคการเมือง ต่อข้อถามว่ามีคนสงสัยว่ามีคนนามสกุลเดียวกับประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ร่วมอยู่ในคณะกรรมการทั้งสองชุด นายประสพสุข ชี้แจงว่า นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช กรรมการสมาน ฉันท์ฯ เป็นพี่ชายของตน แต่ตนไม่ได้เสนอชื่อ ทราบว่ามี ส.ว.ภาคอีสานเป็นคนเสนอ เนื่องจากนายประสงค์ศักดิ์เป็นอดีตผู้ว่าฯ จึงมีความคุ้นเคยกัน ส่วนนายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองนั้นก็เป็นน้องชาย น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2
ส.ว.ขานรับแก้กติกาปูทางสันติ
นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยคัดค้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่า ตนเห็นว่านายดิเรกมีความเหมาะสม มีความเป็นกลาง วางตัวเป็นผู้ใหญ่ และไม่เคยแสดงตัวว่าเข้าข้างฝ่ายใด จึงเห็นว่าควรให้โอกาสนายดิเรกได้ทำหน้าที่ คณะกรรมการชุดนี้เป็นเพียงคณะกรรมการเพื่อรวบรวมแนวทาง ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองเท่านั้น เพราะขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่สมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้พิจาณาและฟังเสียงของประชาชนว่าเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ คณะกรรม การชุดนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
“ผมคิดว่าหากยืนกระต่ายขาเดียวไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นปัญหา เพราะหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วนำไปสู่ความสันติก็น่าจะยอมรับ อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วและรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มให้มีการพิจาณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรจะรับพิจารณา” ส.ว.นคร ศรีธรรมราช ระบุ
40 ส.ว.ดักคอ“พธม.”เสียมวย
นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า นายดิเรก มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประธานคณะกรรมการสมาน ฉันท์ฯ เพราะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เลือกข้างไม่เลือกสี มีความเป็นกลาง อีกทั้งยังเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นบุคคลที่วุฒิสภาเห็นชอบให้เป็นตัวแทนของวุฒิสภา จึงไม่มีเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องคัดค้าน ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นัดชุมนุมใหญ่นั้น ตนเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาในการชุมนุมเนื่องจากต้องรอพิจารณาก่อนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่และหากแก้จะแก้ไขมาตราใดบ้าง
“กลุ่มพันธมิตรฯ ควรอยู่นิ่ง ๆ หากเคลื่อนไหวเวลานี้กลุ่มพันธมิตรฯ อาจจะเสียความนิยม อีกทั้งหากนัดชุมนุมจริงก็ไม่ควรชุมนุมปิดทางตัน ควรพบกันครึ่งทาง เพราะบางข้อก็เห็นว่าควรมีการแก้ไข เช่น มาตรา 237 ที่เกี่ยวกับความผิดให้ยุบพรรคการเมือง เนื่องจากไม่ยุติธรรมกับสมาชิกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าจะรับฟังกันได้ เพราะส่วนใหญ่ขณะนี้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา” นายสาย กล่าว
คนพิการสะกิดแก้ปากท้องดีกว่า
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายอภิเดช เดชวัฒนะสกุล ประธานชมรมคนพิการพัฒนาตนเองคลองเตย เข้ายื่นหนังสือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เนื่องจากเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากนักการเมืองผู้ใช้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่จะให้ฝ่ายการเมืองเป็นแกนนำในการปฏิรูปการเมือง แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาพัฒนาการ เมืองที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน
นายวรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนระดับรากหญ้ามองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ควรเร่งแก้ปัญหาปากท้องมากกว่า ทั้งนี้ กมธ.ฯ ได้รับการติดต่อจากประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ในการยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้ส่งต่อให้ประธานวุฒิสภาและคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต่อไป
“กกต.”เตือนคิดให้ดีแก้ ม.237
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง และอดีตกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวถึงข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองที่ต้องการแก้ไขมาตรา 237 ว่า เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว กมธ.ยกร่างรัฐธรรรมนูญต้องการแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง จึงกำหนดให้กรรมการบริหารพรรคต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะหากมีการกระทำความผิดถือ เป็นการกระทำที่ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยมิ
ชอบ
“หากเปรียบการเมืองก็เหมือนกับกีฬาฟุตบอลที่ต้องมีการกำหนดกติกาในการเล่น ก่อนลงสนามทุกคนรู้กติกาอยู่แล้วว่าถ้ากระทำผิดกติกาจะต้องถูกลงโทษอย่างไร เช่น กติกาเขียนไว้ว่าถ้ามีผู้กระทำผิดกฎจะต้องถูกไล่ออกทั้งทีม แต่ก็ยังมีคนทำผิดกติกา อย่างนี้ก็ต้องไล่ออกทั้งทีม อย่างไรก็ตามถ้ายืนยันว่าจะต้องแก้ไขมาตรา 237 คงต้องมีการพิจารณากันให้ดี” อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุ.
“พท.”หาหัวหน้าสู้ศึกเลือกตั้ง
อีกเรื่องหนึ่ง รายงานข่าวจากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแจ้งถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแทนชุดเดิมที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นหัวหน้าพรรรค ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ทาบทามบุคคลภายนอกหลายคนที่มีบารมีและเป็นที่ยอมรับของสังคมเพื่อให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในอนาคตเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาทิ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยการทาบทามครั้งนี้ปูทางไว้สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป
นายยงยุทธ เปิดเผยว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคจริงจะต้องมีการเรียกประชุมใหญ่สมาชิกพรรคก่อน อย่างไรก็ตามตนยืนยันแทนกรรมการบริหารพรรคทุกคนได้ว่าหากสมาชิกต้องการปรับโครงสร้าง พวกตนก็ยินดีเปิดทางเสมอ เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ในการดำรงตำแหน่ง.