คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ร่วมกับกรรมการอีก 39 คน ที่มาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และผู้ทรงคุณวุฒิ จะเริ่มประชุมนัดแรกในบ่ายวันที่ 7 พฤษภาคม
แม้จะดูเป็นการเริ่มต้นในการนำความไม่ลงรอยทางความคิด มาพูดกันจริงๆ จังๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ไม่ง่ายที่จะจูบปากกันได้
หากดูประเด็นหลักๆ ที่เป็นข้อถกเถียง เรื่องด่วนที่จะดำเนินการได้เลย ได้แก่ มาตรา 190 ว่าด้วยการทำข้อตกลงระหว่างประเทศต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ มาตรา 237 วรรคสองว่าด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ที่จะเลยไปถึงการนิรโทษกรรมกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิอยู่ในขณะนี้ มาตรา 265 และ 266 ว่าด้วยการห้าม ส.ส.ไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยและเลขานุการรัฐมนตรีและการห้าม ส.ส.แทรก แซงการทำงานของข้าราชการ มาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมาตรา 309 ว่าด้วยการให้การกระทำการใดที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 50
ส่วนเรื่องรอง ที่สามารถไว้ไปแก้ไขได้อีกขยักก็ได้ ได้แก่ หมวดที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และหมวดที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ
เรื่องที่ "ส.ส." พอจะเห็นตรงกันได้ ก็มีมาตรา 190 มาตรา 265 และ 266 มีเพียง ส.ว.บางส่วน และผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 1 ใน 5 ของคณะกรรมการไม่เห็นด้วย เพราะเป็นผู้ที่เคยสนับสนุนกลไกดังกล่าวในคราวร่างรัฐธรรมนูญ 50
3 มาตราดังกล่าว ถ้าจะให้สภาแก้เลยตามช่องทางที่กฎหมายบัญญัติ ก็คงทำไม่ยาก
ส่วนมาตราเร่งด่วนและเรื่องรองที่เหลือ มีทั้งหนุนทั้งค้าน แต่เงื่อนไขหลักอยู่ที่ มาตรา 237 วรรคสอง ที่จะทำให้การสมานฉันท์ล้มเอาง่ายๆ และยังจะทำให้ความไม่ลงรอยบานปลายด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างมีมวลชนหลักแสน เป็นพลังกดดัน
เพราะมาตรา 237 วรรคสองที่จะเลยไปถึงการนิรโทษกรรมกรรมการบริหารพรรคที่โดนตัดสิทธิ ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ในพรรคเองยังมีความเห็นแตกกันระหว่าง 1.การพอจะรอมชอมได้โดยมีเงื่อนไข (เช่น แก้ได้ แต่ไม่นิรโทษ หรือ แก้ได้ ส่วนนิรโทษฯหรือไม่ ให้ศาลฎีกาตัดสินเป็นรายคน) กับ 2.การไม่รอมชอมเลย เพราะนอกจากจะทำให้ฐานเสียงที่เป็นคนเมืองซึ่งต่อต้านระบอบทักษิณ โห่ไล่แล้ว ไม่เป็นผลดีกับพรรคเพราะ "ผี" อาจไหลไปรวมกัน
ด้านบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนา ชัดเจนที่สุด ทั้งคน "เบื้องหน้า" และ "เบื้องหลัง" หนุนแก้ไข มาตรา 237 วรรคสองเต็มที่ ส่วนพรรคร่วมอื่น คนเบื้องหน้ายังอิดออด แต่สุดท้ายก็คงว่าไปตามคนเบื้องหลัง ที่เหงาอยู่กับบ้านมา 3 ปีแล้ว รวมแล้วเสียงสนับสนุนให้แก้ไขมี 8 เสียง บวกกับ พรรคฝ่ายค้าน 7 เสียง เป็น 15 เสียง
งานนี้ ส.ว. และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมแล้ว 19 คน จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งมี 3 แนวทาง คือ แก้เลย หรือแก้ได้ส่วนนิรโทษฯหรือไม่ให้มีกลไกอีกขยัก กับไม่แก้เลย อยู่ที่ประมาณ 5 : 7 : 7
ปัจจัยดังกล่าว จึงมีเสียงในส่วนประชาธิปัตย์ พูดถึงการประชามติทั้งก่อนและหลังแก้ ไปจนถึงการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อโยนให้ ส.ส.ร.3 เป็นผู้ดำเนินการแก้แทน ซึ่งพ้องกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณว่า "ต้องเป็นการแก้ปัญหาให้กับสังคมโดยรวม" โดยถ้าสังเกตดูด้านพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเห็นว่ามีการแสดงความเห็นแบบดังกล่าว ค่อยๆ ทยอยออกมาขอการสนับสนุนจากสังคมแล้ว
ที่สำคัญไปพ้องกับวาทกรรมหลักในสังคมที่ว่าการแก้ครั้งนี้ นักการเมืองทำกันเอง จึงเป็นการแก้เพื่อตัวเอง
จุดนั้นก็จะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ เข้าเกม และจังหวะการจัดแถวกลไกรัฐให้อยู่ในมือให้มากที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ไปในตัว ซึ่งไปสอดรับกับที่นายอภิสิทธิ์บอกว่า เมื่อบรรยากาศทางการเมืองไม่เขม็งเกลียว และแก้รัฐธรรมนูญเสร็จมีกติกาใหม่แล้วก็ค่อยยุบสภาเลือกตั้งใหม่
แต่เรื่องนี้ฝ่ายค้านและกลุ่มเสื้อแดงก็รู้ดี และจะเป็นข้ออ้างในการเคลื่อนพลใหญ่อยู่แล้ว
งานนี้ การคิดเอาชนะเกมแบบเบ็ดเสร็จไม่ว่าฝ่ายใดจึงยากยิ่ง กระทั่งการรอมชอมกันแบบวิน-วิน ทุกฝ่ายของนักการเมือง ก็ยังมีสังคมจับตาอยู่ ซึ่งเราๆ อาจไม่เอาด้วย
วันนี้ แนวทางที่สาม สี่ ห้า ...ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนออกมากดดันนักการเมือง ซึ่งอย่างน้อยๆ ตอนนี้พบว่ามีแล้ว ซึ่งมาจาก นักวิชาการชั้นนำของไทย ไม่น้อยกว่า 10 คน ที่ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ทยอยออกมาพูดถึงการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ไม่ให้มีความเหลือมล้ำกัน ตลอดจนรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นกลไกต่อเรื่องดังกล่าว รวมถึงกลไกที่เอื้อให้ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ง่ายและเห็นผลจริง และระบบกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจ
น่าจะเป็นจุดร่วมที่ดีกว่าซึ่งทุกฝ่ายควรหันมามอง เพื่อให้ประเทศฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้...
ไร้จุดร่วม ไม่สงวนจุดต่าง หนทางสมานฉันท์มืดมน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ไร้จุดร่วม ไม่สงวนจุดต่าง หนทางสมานฉันท์มืดมน