คมชัดลึก :“ประวิตร”ปัดยังไม่ได้รับรายงานทหารมีเอี่ยวยิง“สนธิ” ระบุ ปัญหาขัดแย้งบ้านเมืองต้องให้กลไกของรัฐสภาแก้ไข “อภิสิทธิ์” เข็นพรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาราชอาณาจักร ป้องกันปัญหาการชุมนุม
(30เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานการประชุมสภากลาโหมประจำ เม.ย. 52
โดยมี พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมสภากลาโหมถึงกรณีที่มีข่าวว่าทางตำรวจสามารถจับกุมทหาร 4 นาย และ พลเรือน 3 นาย
ที่ลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่า ยังไม่ได้รับรายงาน และยังกองทัพก็ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ หรือได้รับรายงานว่ามีกำลังพลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อถามว่า เหตุใดถึงพุ่งเป้ามาที่กองทัพ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ตอบไม่ได้ต้องให้ตำรวจดำเนินการไป ทั้งนี้ตนไม่ได้ห่วงต้องว่าไปตามรูปคดี ส่วนเรื่องกระสุนที่ใช้ยิงนายสนธิ เป็นกระสุนของกองทัพนั้น ตนไม่ทราบ และไม่อยากลงไปในรายละเอียด เป็นเรื่องของเหล่าทัพ และขณะนี้ตนยังไม่ได้รายงานเลย
เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มม็อบเสื้อแดงจะใช้กลุ่มคนเดือนตุลาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ยังไม่มีข้อมูล
เมื่อถามว่า ด้านความมั่นคงได้มีการประเมินหรือไม่ว่า คนที่มีแนวคิดในลักษณะดังกล่าวยังมีอีกหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร เป็นเรื่องของหน่วยข่าวกรองให้เขาวิเคราะห์ไป เมื่อถามต่อว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากมีการใช้แนวทางคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นจริงจะแก้ไขอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในอดีตเราก็เคยต่อสู้มา โดยใช้แนวทางนโยบาย 66/23 ในการแก้ไขปัญหา ส่วนเรื่องนี้จะนำกลับมาใช้หรือไม่นั้น ยังพูดคุยกันได้ในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน และนายกรัฐมนตรีก็เปิดโอกาสในสภาให้มีการดำเนินการได้อยู่แล้ว คงเป็นเรื่องของทางสภาที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงทางตำรวจยังไม่ได้มีการประสานขอกำลังทหารไปสนับสนุน ตอนนี้อยากให้ปล่อยเป็นเรื่องของสภาให้นายกรัฐมนตรีได้ทำงาน ปล่อยให้เป็นเรื่องของทางด้าน 3 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวคิดจะพูดคุยกับกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนยังไม่ได้คุยกับใครเลย
ส่วนที่มีกำลังทหารลงพื้นที่ภาคอีสานนั้น เขาลงไปแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นเรื่องของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นอำนาจของ กอ.รมน. ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเหล่าทัพได้พยามชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองอยู่แล้ว ตนไม่ต้องกำชับถือเป็นเรื่องปกติในการดูแลความมั่นคงของชาติ เพราะทุกคนจะต้องพยายามทำให้เกิดความมั่นคงในทุกระดับเพื่อประเทศชาติจะได้เกิดความสงบสุขรวมทั้งสื่อมวลชนด้วยที่จะต้องช่วยกัน
เมื่อถามว่า ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่มีความรู้อาจจะหลงไปกับคำพูดของนักการเมือง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ กอ.รมน.คงจะต้องชี้แจงในภาพรวม
เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นจะต้องชี้แจงคำว่าคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยว่าแตกต่างกันอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ต้องชี้แจง เพราะเรื่องพวกนี้ทุกฝ่ายรู้ดีและเข้าใจ ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการนิรโทษกรรม จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการไปก่อนขณะนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ปล่อยให้ทางรัฐสภาดำเนินการไป
แหล่งข่าวด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมใช้กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภายราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังคงมีกลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเตรียมผลักดัน พรบ.ด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2551 มาใช้ในพื้นที่ที่มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะภัยต่อความมั่นคง โดยจะเป็นลักษณะในการป้องกัน และระงับยับยั้งไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
“ต่อไปนี้การแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ จะใช้เพียงพรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพราะพรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถือเป็นกฎหมายที่เบาที่สุด จากพรก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ทั้งนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงได้มีการประเมินแล้วว่า การนำพรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะเหมาะสมที่สุด อีกทั้งการนำ พรบ.ฉบับดังกล่าวมาใช้ก็เป็นเพียงเลือกใช้ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มสถานการณ์รุนแรงเพื่อป้องกันยับยั้ง และควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย อีกทั้งการเลือกใช้เจ้าหน้าที่ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ