แม้วเตรียมดึงภูมิธรรม-หมอมิ้งนำเสื้อแดง


"สุเทพ" รับกังวลเหตุก่อวินาศกรรม-ลอบสังหาร หลังเกิดเหตุยิง "สนธิ" ประสานตำรวจ-ทหาร สนธิกำลังตั้งจุดตรวจ เผยประชุมสุดยอดอาเซียนให้ทหารเข้ามารับผิดชอบรักษาความ ตั้งกก.ปรองดอง-แก้รธน.แทนขีดเส้นภายใน15วันปลอดภัย "ทักษิณ"เตรียมดึง "ภูมิธรรม-จาตุรนต์-หมอมิ้ง"นำเสื้อแดง

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 27 เม.ย. นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ตนไม่ค่อยอยากพูด หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี มากนัก เพราะเห็นว่าถ้าพูดอะไรไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ จึงขอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ให้มากขึ้นจะดีกว่า   


นายสุเทพ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความปลอดภัย ว่า ในเมื่อเรามีบทเรียนกันมาแล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี ดังนั้นในครั้งนี้จึงจะมีการปรับแผนการรักษาความปลอดภัยกันใหม่ โดยถ้านายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย ตนก็จะขอให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด


โดยให้กระทรวงกลาโหมใช้ทั้งกำลังทหารจากทุกเหล่า และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำงานแบบสนธิกำลังซึ่งกันและกัน ซึ่งตนคิดว่าถ้ามีการปรับแผนแล้ว จะทำให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ มีความมั่นใจในการเดินทางมาร่วมประชุมดังกล่าวมากขึ้น ที่สำคัญเราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นซ้ำสองอีกเป็นอันขาด มิเช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีที่ยืนบนเวทีโลก สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลในช่วงนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร ร่วมกันปฏิบัติงาน เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย โดยตั้งจุดตรวจเป็นระยะ รวมทั้งมีสายตรวจเคลื่อนที่ร่วมกัน เพราะตนเป็นห่วงในเรื่องการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหาร


อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาความปลอดภัยดังกล่าวคงต้องทำต่อไปสักระยะหนึ่งควบคู่ไปกับการประเมินด้านการข่าวไปทุกวัน ๆ เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลอบยิงนายสนธิ  ลิ้มทองกุล  แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ทำให้ตนรู้สึกเครียดอยู่ไม่น้อย แต่ตนยืนยันได้ว่าไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลหรือกองทัพ เพราะการกระทำดังกล่าวจะยิ่งเป็นชนวนก่อให้เกิดความไม่สงบมากขึ้น โดยคดีนี้ตนได้บอกกับตำรวจที่รับผิดชอบคดีว่า งานนี้ตำรวจต้องทำงานหนัก ตามเกมให้ทันและต้องจับให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือสีไหนก็ตาม


ทักษิณ
เตรียมดึง"ภูมิธรรม-จาตุรนต์-หมอมิ้ง"นำเสื้อแดง


ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า หลังจากม็อบเสื้อแดงที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลถูกสลาย คณะทำงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ประเมินสถานการณ์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ต่อสู้ทางการเมืองไป โดยเห็นด้วยที่จะดึง นพ.พรหมมินท์ เลิศสุริย์เดช นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขึ้นมาเป็นแกนนำขับเคลื่อนมวลชนเสื้อแดง พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์และรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ไปสู้เป้าหมายเปลี่ยนประเทศไทยเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนบุคคลเหล่านี้จะตอบรับหรือไม่ จะต้องรอผลการหารือร่วมกันก่อน คาดว่าจะได้ผลสรุปภายในสัปดาห์นี้แน่นอน


“เกรียงกมล”ออกตัวต้องทำเพื่อประชาชน


นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ อดีตที่ปรึกษาส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในสมัยเป็นนายกฯ กล่าวว่า พูดเป็นเล่นไปได้น่า ส่วนตัวเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองยึดถือผลประโยชน์โดยรวมของสังคมเป็นที่ตั้งเสมอ จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะไปร่วมในการนำการเคลื่อนไหว


ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะดึงไปร่วมเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเสื้อแดงนั้น ไม่แน่ใจเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แม้เป็นเรื่องจริง แต่การตัดสินใจใดขึ้นอยู่บนพื้นฐานเป็นเรื่องของผลประโยชน์ประชาชนทั้งประเทศ และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ดีนั้น ไม่ควรทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และการหมิ่นประมาทควรหลีกเลี่ยงด้วยซ้ำไป การชุมนุมแต่ละครั้งควรชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยเปิดเผย ไม่ต้องมีอาวุธ หรือหน่วยการ์ดใด จะปล่อยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไป


แนะ“อดีตประธานศาลฎีกา”เป็นคนกลางสอบสลายม็อบแดง


นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วิป 3 ฝ่ายนัดหารือ เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายม็อบเสื้อแดงว่า ขอเสนอให้นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯชุดนี้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นถึงอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่มีใครปฏิเสธในความเป็นกลาง ถ้าในช่วงนั้นท่านรับเป็นประธานคตส.คงไม่ทำให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้


ตั้งกก.ปรองดอง-แก้รธน.แทนขีดเส้นภายใน15วัน


เมื่อเวลา 16.30 น.ได้มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมีนายชัย  ชิดชอบ  ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม โดยปรากฏว่าในการประชุมครั้งนี้ นายเสนาะ  เทียนทอง  หัวหน้าพรรคประชาราชได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 2 ชั่วโมง


ภายหลังการประชุมนายชินวรณ์  บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลแถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอของวิปทั้ง 3 ฝ่ายที่ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 2 ชุด แต่เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดอง และสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยืนยันในข้อกฎหมายว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาดังกล่าว เข้าข่ายขัดรัธรรมนูญมาตรา 135-137

จึงได้อาศัยอำนาจของประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแทน ตามข้อบังคับกาประชุมที่ 8 (5) ซึ่งการอาศัยอำนาจของประธานสภาในการตั้งคณะกรรมการเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงนายมารุต  บุนนาค เป็นประธานรัฐสภานายมารุต บุนนาค ก็สามารถที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการได้ เพื่อที่จะให้มีการตั้งกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ตั้งกรรมการดังกล่าว โดยมีกรอบเวลาดำเนินการ 15 วัน และให้นำเสนอผลการทำงานต่อประธานรัฐสภาต่อไป


นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะประกอบด้วย กรรมการ 40 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของส.ส. 23 คน เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย 9 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคประชาราช พรรคราษฎร พรรคละ 1 คน ส.ว. 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของวุฒิสภา 2 คน และส.ส. 8 คน ในจำนวนของส.ส.แบ่งเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 2 คน ที่เหลือแบ่งตามโควตาของพรรคการเมืองที่เหลือ ซึ่งจะให้แต่ละพรรคได้เสนอชื่อกรรมการต่อประธานรัฐสภาภายในบ่ายวันที่ 28 เม.ย.นี้


ส่วนสาเหตุที่ไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 - 15 เม.ย.นั้นเนื่องจากขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบ รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศก็ได้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ไว้ชัดเจนแล้ว และในการประชุมร่วมรัฐสภาก็มีการพูดคุยอย่างชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอาจไม่นำสู่ข้อยุติที่แท้จริงและจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์การชดเชยได้ อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถมาร้องเรียนที่คณะกรรมาธิการของสภา วุฒิสภา รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ และคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน


นายดิเรก  ถึงฝั่ง  ส.ว.สรรหา  ในฐานะวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเพียงชุดเดียว โดยจะศึกษาทั้งปัญหาการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะต้องมีการถอยคนละ 2-3 ก้าว และต้องลดทิฐิมานะ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายชื่อในสัดส่วนของวุฒิสภาประกอบไปด้วยนายนิคม ไวยรัชพานิช  รองประธานวุฒิคนที่ 1 นายดิเรก   ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี    พล.อ.เลิศรัตน์  รัตนวานิช  สว.สรรหา   พล.ต.ท.มาโนช  ไกรวงศ์  สว.สุราษฏร์ธานี  นายวิทยา  อินาลา สว.นครพนม  นายสุพจน์  โพธิ์ทองคำ สว. สรรหา   นายอนุรักษ์  นิยมเวช สว.สรรหา และในส่วนของผู้ทรงคุรวุมิภายในนอกในสัดส่วนของวุฒิสภาเสนอนายสุพจน์  นิติไกรพจน์   อาจารย์คณะนิติ  ม.ธรรมศาสตร์  นายมนตรี  รูปสุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์