คนกรุงอยากเห็น หน.พรรคการเมืองขึ้นเวทีประชันแนวคิด

ไทยรัฐ

วันนี้ (6 ส.ค.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความคิดเห็นต่อการจัดเวทีสาธารณะประชันแนวคิดของหัวหน้าพรรคการเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง ตาก ลพบุรี อยุธยา ชลบุรี ตราด ขอนแก่น อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,812 คน ในวันที่ 25 กรกฎาคม 5 สิงหาคม 2549 ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.7 ของตัวอย่างทั้งหมดระบุอยากเห็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยบนเวทีแข่งขันสาธารณะประชันแนวคิด รองลงมาร้อยละ 88.6 อยากเห็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 63.6 อยากเห็นหัวหน้าพรรคชาติไทยตามลำดับ ทางด้านองค์กรที่ควรเป็นคนกลางจัดงาน ตัวอย่างร้อยละ 36.4 เห็นว่าควรเป็นเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (P-Net) / องค์กรกลาง รองลงมาร้อยละ 19.6 เห็นว่าควรเป็นสื่อมวลชน และร้อยละ 15.6 เห็นว่าควรเป็นสถาบันการศึกษา ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่ควรนำมาแข่งขันแสดงแนวคิดแก้ไขปัญหาประเทศให้ประชาชนรับทราบ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 96.0 อยากให้หัวหน้าพรรคประชันแนวคิดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองลงมาคือร้อยละ 95.6 อยากให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ประชันแนวคิดแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 95.5 ระบุเป็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 94.8 ระบุเป็นเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 93.5 ระบุเป็นปัญหาวิกฤตพลังงานและการหาพลังงานทดแทน ร้อยละ 92.8 ระบุเป็นปัญหายาเสพติด ร้อยละ 91.8 ระบุเป็นปัญหาความยากจน ภาระหนี้สิ้นภาคประชาชน ร้อยละ 90.6 ระบุเป็นปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 89.5 ระบุเป็นแนวทางสร้างเสริมความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และร้อยละ 87.5 ระบุเป็น เรื่องส่งเสริมคุณภาพเด็กและเยาวชน

ส่วนความคิดเห็นต่อกรณีการส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้ดีขึ้น ถ้ามีการจัดเวทีสาธารณะประชันแนวคิดแก้ปัญหาประเทศของหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 ระบุว่าคิดว่าจะดีขึ้นเพราะประชาชนจะได้รับทราบแนวคิดและเป็นข้อมูลตัดสินใจในการเลือกตั้ง/ รับทราบเป็นสัญญาประชาคม/ น่าจะเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น/ เห็นแนวทางการแก้ปัญหา/ รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคการเมือง/ และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสนใจการเมืองมากขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 9.7 คิดว่าจะไม่ทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น เพราะ จะเกิดการโต้เถียงกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกมากขึ้น/ คิดว่าคงไม่มีความจริงใจต่อกัน/ คิดว่าปัญหาอยู่ที่แนวทางปฏิบัติมากกว่าแนวคิด/ และการจัดเวทีสาธารณะจะให้เวลาน้อยเกินไป เป็นต้น และร้อยละ 11.6 ไม่มีความเห็น

เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งวันที่ 15 ตุลาคมนี้จะเป็นทางออกที่ดีของวิกฤตการเมืองหรือไม่ ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 คิดว่าเป็นทางออกที่ดี เพราะจะได้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ / ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว/ ปัญหาการเมืองน่าจะคลี่คลายไม่วุ่นวายอีก/ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกคนมาบริหารประเทศ/ เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย/รัฐบาลรักษาการจะได้สิ้นสุดลง/ และเป็นการแสดงพลังประชาธิปไตยให้โอกาสพรรคต่างๆ ได้แก้ตัว ในขณะที่ร้อยละ 11.6 คิดว่าไม่ได้เป็นทางออกที่ดี เพราะ ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข /การจัดการเลือกตั้งเร็วเกินไป/ ความขัดแย้งแตกแยกยังคงมีอยู่/ ยังคงมีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวต่อไป เป็นต้น และร้อยละ 13.7 ไม่มีความเห็น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ยังอยู่ในช่วงการสรรหาขณะนี้แต่ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.0 ก็มั่นใจว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างดี เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่สอบถามความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเก่าที่เพิ่งลาออกไปหลังการตัดสินของศาลอาญาที่ผ่านมา ในขณะที่ ตัวอย่างเกินกว่า 1 ใน 3 เล็กน้อยหรือร้อยละ 35.1 ระบุยังไม่มั่นใจ และร้อยละ 8.9 ไม่มีความเห็น อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.2 คิดว่ามีความพยายามของพรรคการเมืองที่จะเข้าแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งอีก ในขณะที่ร้อยละ 25.0 คิดว่าไม่มี และร้อยละ 13.8 ไม่มีความเห็น

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นอยากฟังหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ แสดงแนวคิดแนวทางแก้ปัญหาประเทศบนเวทีสาธารณะร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพราะทุกวันนี้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมืองแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นบางพื้นที่ประชาชนอาจมีเวลาจำกัดในการติดตามข่าวสารจึงอาจถูกชี้นำหรือซื้อเสียงจากหัวคะแนนได้ง่าย การจัดเวทีสาธารณะประชันแนวคิดของหัวหน้าพรรคการเมืองน่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นถึงแม้จะไม่ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยข้อจำกัดของเวลา การเพิ่มความถี่ในการจัดเป็น 2 3 ครั้งก่อนวันเลือกตั้ง จึงน่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาข้อจำกัดของเวลาได้บ้าง และคาดว่าจะเป็นการส่งเสริมบรรยากาศที่ดีทางการเมืองอีกแนวทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจก็แสดงให้เห็นการคัดค้านของตัวอย่างบางกลุ่มในการจัดประชันแนวคิดหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เช่นกัน ดังนั้น สังคมควรจะพิจารณาให้ดีถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศทางการเมืองไทยมากกว่าหรือเป็นผลเสียที่อาจทำลายบรรยากาศทางการเมืองมากกว่าผลดี นายนพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์