สุเทพออกโรงโต้เหลิมชุดใหญ่ แฉกี้ล็อคคอนักบินฮ.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวชี้แจงในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญทั่วไป)

เมื่อเวลา 20.20 น.วันที่ 22 เม.ย.ว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม.และปริมณฑล (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 12 เม.ย. เพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นจริงๆ ที่ท่านสมาชิกกล่าวอ้างว่า ตอนที่ประกาศยังไม่มีความรุนแรงใดๆ ในกทม.นั้น พูดไม่จริง เนื่องจากช่วงเช้ามืดวันที่ 12 เม.ย. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง (แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เพื่อนำไปฝากขังที่ศาลฯ ตามหมายจับ ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม 2 พันคน เคลื่อนย้ายมาปิดล้อมศาลอาญา รัชดา เพื่อบีบให่ปล่อยตัว มีรถรามาจอด เป็นเรื่องที่ไม่เคยเแกิดในกทม.หรือประเทศไทย


"สมาชิกยอมรับว่า มีการปิดจราจรที่ดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พฤติกรรมของผู้ชุมนุม ไม่ใช่การชุนมุสงบตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาต แต่ใช้อำนาจล่วงเกินสิทธิประชาชนอื่น คุกคามเจ้าหน้าที่ ขัดขวางการใช้ชีวิต ผู้คนตกใจทั้งบ้านทั้งเมือง ผมเชื่อว่า ประชาชนคิดว่า ควรประกาศก่อนหน้านั้นนานแล้วด้วยซ้ำ" นายสุเทพ กล่าวและว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างอดทน อดกลั้น เมื่อเห็นว่า ทำร้ายประเทศชาติ ใช้กำลังปิดล้อมที่ประชุมนานาชาติจนเสียหาย กำเริบเสิบสานเข้ามาก่อการในกทม. ไม่เกรงกลัวกฏหมาย รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องคลี่คลายสถานการณ์ให้เร็วที่สุด ก่อนทำการประกาศพ.ร.กฉุกเฉิน ได้พิจารณารอบคอบทุกประการ

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขอย้อนไปเหตุการณ์ที่พัทยา ก่อนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีหลักฐาน เทป และคำปราศรัย ของนายอริสมันต์ที่หน้าทำเนียบ ก่อนไปพัทยาว่า จะไปล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท พัทยา

และได้ดำเนินการอย่างที่พูด ไม่ใช่เรื่องแค่กระจกแตก 3 แผ่น มีกำลังคนบุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ถึงชั้นล่าง ทั้งที่ชั้น 2 ผู้นำประเทศต่างๆ ประชุมกันอยู่ มีผู้ติดตาม เจ้าหน้าที่ ร้องห่มร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องทำเล่นๆ ทำจนกระทั่งผู้นำไม่มีกระจิตกระใจประชุม จนนายกฯต้องเลื่อนการประชุม และพยายามฝ่าเข้าไปเพื่อหาตัวนายกฯ เพราะประกาศจะจับตัวนายกฯให้ได้ในวันนั้น จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชักปืนออกมาก จนผู้ชุมนุมตกใจและถอยออกไป ไม่ได้เล็กน้อยอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุ


นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพื่อคุ้มครอง อารักขา ผู้นำให้กลับประเทศอย่างปลอดภัย

ซึ่งคนที่บุกรุกก็ไม่ได้ถอยกลับ คุมถึงเย็นวันที่ 11 เม.ย. โดยต้องเคลื่อนย้าย เพื่อส่งทีละรายที่สนามบินอู่ตะเภา บางท่านขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หลายท่านต้องรอจนค่ำถึงจะออกจากโรงแรมได้ บางท่านเดินทางโดยเรือ ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม พยายามเสียดสีว่า นายกฯออกไปก่อนเพื่อน "ผมเป็นคนกำกับการเคลื่อนย้าย โดยให้นายกฯไปส่งผู้นำที่เครื่องให้เขาปลอดภัยจนวินาทีสุดท้าย และเพื่อขอโทษ ซึ่งนายกฯยังมาขอโทษนายกฯญี่ปุ่น ที่กลับเป็นคนสุดท้าย โดยเป็นครั้งแรกที่การประชุมนานาชาติล้มอย่างไม่เป็นท่า โดยผู้นำทุกประเทศ เขาก็เห็นใจ เข้าใจ บอกนายกฯว่า ถ้าเป็นประเทศเขา จัดการไปเรียบรอยแล้ว แต่เราอธิบายว่า ใช้ความอดทน อดกลั้น เพราะไม่เคยมีความรุนแรงขนาดนี้ ซึ่งนักการเมืองด้วยกันควรคิดถึงหน้าตาประเทศ ไม่ใช่มุ่งเอาแพ้เอาชนะ จนประเทศชาติย่อยยับขนาดนี้


ส่วนการจับอริสมันต์นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ได้กระทำความผิดกฎหมายอาญา ปลุกปั่น ยุยง ประชาชนให้ลุกฮือ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจขอหมายจับ

โดยขอหมายจับ 14 คน แต่ศาลฯออกหมายจับให้นายอริสมันต์คนเดียว แล้วก็ยังไปก่อเหตุที่พัทยาอีก คดีที่ 2 ก็ต้องไปขอศาลพัทยาอีก จากนั้นนายอริสมันต์กลับมาประกาศชัยชนะที่เวทีหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดวันที่ 12 เม.ย.ตำรวจจึงเข้าจับกุมตัว โดยให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปค่ายค่ายนเรศวร เพราะเห็นพฤติกรรมแย่งชิงผู้ต้องหา จึงต้องพาไปไกล ผบช.น.ก็ประกาศให้รู้ว่าจับตัวไว้ที่ไหน ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ตนยังสงสัยถามว่าทำไมต้องประกาศ แต่ท่านบอกว่าเป็นเรื่อองที่กฎหมายบังคับไว้ ขณะที่นำตัวไป ทนายและญาติที่อ้างตัวก็ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปด้วย


"นายอริสมันต์ ยังล็อคคอนักบินจนต้องนำเครื่องลงจอดระหว่างทาง และต้องใส่กุญแจมือ เพื่อนำตัวไปค่ายนเรศวร แต่การกระทำไม่ได้เกินเลยจากที่กฎหมายให้อำนาจ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เราได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่กฤษฎีกา ที่ปรึกษาครม. แล้ว"

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทำรุนแรงนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มือเปื้อนเลือด ยืนยันว่า การแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว

นายกฯ ไม่ใช่มือเปื้อนเลือดตามที่กล่าวหา ส่วนเรื่องจิกหัวผู้หญิงแล้วลากออกไป ตนเห็นภาพนั้นแล้ว มีการนำไปแสดงตามที่ต่างๆ ผู้ชายคนนี้ทะเลาะกับผู้หญิงใส่เสื้อแดง เขาตบตี กระชาก เรื่องเกิดห่างจากเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเรื่องของพลเรือนด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับทหารและตำรวจ จากนั้นทหารก็เข้ามาช่วยแยกให้ สำหรับประเด็นบอกว่า ที่เกิดเหตุดินแดง เจ้าหน้าที่กดดันเพื่อเปิดการจราจร โดยจับ 12 คน ตอนตี 4 ร.ต.อ.เฉลิม พยายามพูดให้เห็นว่า รัฐบาลทำผิด ก่อนที่จะดำเนินการ เราปรึกษากันแล้ว ฝ่ายกฎหมายบอกว่า เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า จับได้ จึงจับกุมแล้วนำไปขังที่สระบุรี ไม่ต้องการให้ปัญหาใหญ่โต เพื่อไม่ให้มวลชนแย่งผู้ต้องหาจนปะทะตำรวจไปด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นการลุแก่อำนาจอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวหา

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์