พรรคร่วมเชียร์นิรโทษฯ


"มาร์ค"ปัดข้อเสนอเจรจา"แม้ว" ย้ำนิรโทษกรรมทางการเมือง ไม่เกี่ยวความผิดทางอาญา พร้อมเปิดฟังความเห็นแก้รธน.-นิรโทษกรรมจากทุกฝ่าย รวมถึงสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 แย้มสุดท้ายต้องทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นประชาชน

ส่วนเรื่อง "ยุบสภา"ยังตอบล่วงหน้าไม่ได้ "พรรคร่วม"เรียงหน้าขานรับนายกฯ เปิดทางแก้รธน. หนุนออกกฎหมายนิรโทษกรรม ชุบชีวิตนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ เพื่อไทยเสนอให้เอารธน.ฉบับปี"40 กลับมาใช้ แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ส.ส.ห่วงแก้รธน.ยิ่งทำให้สถานการณ์ขัดแย้งบานปลาย ปชป.ประเมินประชุมร่วม 2 สภาเดือดแน่

แต่วางแผนรับมือฝ่ายค้านไว้แล้ว "กอร์ปศักดิ์"ประกาศพร้อมถูกปรับออก แจงข่าวขัดแย้ง "พรทิวา" นายกฯโดดป้อง ยันไม่คิดปรับครม.ตอนนี้

มาร์คปัดข้อเสนอเจรจาแม้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้ผู้มีบารมีเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อยุติความขัดแย้งและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ว่า ขณะนี้กำลังคลี่คลายเหตุการณ์ไปตามลำดับ ข้อเสนอที่จะให้เดินหน้าเพื่อสร้างความปรองดองก็จะดำเนินการต่อไปบนความถูกต้อง ยังไม่ทราบว่าที่เสนอให้มีการเจรจานั้นเป็นอย่างไร แต่หลักการที่ตนพูดไปชัดเจนว่าจะไปลบล้างคดีอาญานั้น ทำไม่ได้และไม่ควรทำ

สำหรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็น 1 ในแผนการสร้างความปรองดองด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในแง่ความผิดทางการเมืองอยู่ในกรอบที่สามารถเสนอมาเพื่อพิจารณาได้ แต่ต้องดูถึงความเหมาะสม รูปแบบ วิธีการ เหตุและผลของมัน แต่คดีอาญาคงไม่ได้ เมื่อถามว่านายกฯ ยอมจะเจรจากับพ.ต.ท. ทักษิณใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะยังไม่ทราบว่าจะไปเจรจาเรื่องอะไร เพราะส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณมีปัญหาเป็นเรื่องคดีอาญาทั้งนั้น ยังนึกไม่ออกว่ากรอบการเจรจากันนั้นคืออะไร แต่ยืนยันว่าจะคุยกับคนที่ต้องการเรียกร้องอยู่ในกรอบ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง

เมื่อถามว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ว่าคนทำความผิดและสร้างความปั่นป่วนอาจไม่ต้องรับโทษ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เรื่องคดีอาญาทำไม่ได้ ส่วนความผิดทางการเมืองก็ต้องมาดูว่ามีอะไรบ้าง รูปแบบที่จะทำนั้นทำได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อตนเริ่มต้นกระบวน การดังกล่าวก็ต้องเปิดกว้างพอสมควร หากไปขีดเส้นไม่พูดเรื่องเหล่านี้เลยก็คงพูดกันยาก จึงต้องมาดูกันว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหนอย่างไร

ย้ำไม่นิรโทษความผิดอาญา

ส่วนที่มีข่าวพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้เจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในกรอบใดบ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคร่วมยังไม่มีการเสนอเข้ามา เมื่อถามย้ำว่าตอนนี้นายกฯ ถูกพรรคร่วมรัฐบาลบีบอยู่ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ ตนมีอะไรก็ปรึกษาหารือทุกพรรค แต่ละพรรคก็ต้องมีจุดยืนและเสนอเข้ามา ตรงบ้างไม่ตรงบ้างเป็นเรื่องปกติ จากนั้นต้องหาทางออกร่วมกัน

ต่อข้อถามถึงการเปิดประชุมร่วม 2 สภา แต่แนวโน้มดูจะมีแต่ความขัดแย้งมากกว่าการสร้างความปรองดอง นายกฯ กล่าวว่า ความตั้งใจของตนคือต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก รวมทั้งความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ หรือการตัดสินใจของรัฐบาล เขาสามารถนำเสนอและตรวจสอบเพื่อที่รัฐบาลจะได้ชี้แจง ประเด็นต่อมาคือการเดินไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรที่ทุกฝ่ายจะมาช่วยกันหาทางออก เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ได้บอกกับทุกพรรคให้ไปบอกกับลูกพรรคแล้วว่าทำอย่างไรให้เวทีนี้ไม่เติมความขัดแย้ง

เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งเงื่อนไขว่าหากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องคืนพรรคไทยรักไทยมาด้วย นายกฯ กล่าวว่า ใครคิดจะเสนออะไรก็เสนอมา จะได้ทราบความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายว่าคืออะไร ต่อข้อถามว่ากฎหมายนิรโทษกรรมในความหมายของนายกฯ คืออะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนี้เรากำลังพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง แต่ยังไม่มีการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้ายังมีใครติดใจเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองที่ผ่านมาก็เสนอมาได้ แต่ตนขีดเส้นไว้ว่าความผิดทางอาญาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการไขปัญหาตรงนี้ได้

แย้มเปิดทำประชาพิจารณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ไม่ได้มีความผิดทางอาญามีสิทธิ์เสนอเข้ามาได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์เสนอมาได้ทั้งหมด ส่วนข้อยุติจะเป็นอย่างไรต้องมาทำความเข้าใจ เหตุผลและหลักการ ข้อกฎหมายก็มาคุยกันอีกครั้ง ส่วนกรณีนายพีรพันธ์ พาลุสุข ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอว่าควรยกเลิกเรื่องต่างๆ ทั้งหมดเพราะหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งหมด ทั้งเรื่องของ คตส. หรือคดีความต่างๆ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงไปสรุปอย่างนั้นไม่ได้

เมื่อถามว่าในส่วนของคนเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงที่มีคดีอาญาทั้งสองฝ่ายจะปรองดองกันได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า กรอบต้องเอาตัวระบบเป็นหลักก่อน ถ้ามาแก้ไขเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มบุคคล แต่ไม่ทำให้ระบบดีขึ้นก็คงไม่ทำ ดังนั้น ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าระบบดีขึ้นอย่างไร และเป็นไปได้ว่าในที่สุดก็ต้องกลับไปถามประชาชน เพราะมีการพูดกันว่าในประเด็นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันสูงก็ต้องใช้กระบวนการไปสอบถามประชาชน ส่วนจะทำในรูปแบบใดนั้นยังไม่ลงรายละเอียด ตอนนี้ต้องเปิดกว้างเอาทุกข้อเสนอมาวางบนโต๊ะ ยืนยันว่าจะไม่ยึดประโยชน์ของกลุ่มคนแต่จะยึดประโยชน์ของส่วนรวม และทุกอย่างที่จะทำต้องมีเหตุผลและตอบคำถามได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ควรทำ สิ่งที่ต้องการในขณะนี้คือข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับระบบและการปฏิรูปการเมืองก็สามารถเสนอมาได้ จะได้นำมาพิจารณากันบนโต๊ะ ไม่ไปพูดในลักษณะคนละทีแล้วเก็บไปเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง

เรื่องยุบสภายังตอบไม่ได้

เมื่อถามว่าได้กำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะได้ใช้เวลาเท่าไหร่กระบวนการจึงจะสำเร็จ นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่คุยกันไว้ 2 สัปดาห์ ก็ควรต้องพร้อม จากนั้นก็มาดูว่าหลังจากนั้นประเด็นมีความซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน และกระบวนการควรเป็นอย่างไรต่อไป ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามให้องค์กรที่มีความเป็นกลางดำเนินการแต่ไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตามในส่วนของสถาบันพระปกเกล้าที่จะให้มาเป็นตัวกลางในกระบวนการปฏิรูปการเมืองก็ยังไม่ได้ตัดทิ้งไป เมื่อเช้าก็เพิ่งคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาสถาบันพระปกเกล้าว่ายังไม่ได้ทิ้งไป เพียงแต่ตอนนี้ได้เร่งให้พรรคการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาอย่างไร

ต่อข้อถามว่าในทางกลับกันระหว่างที่นายกฯ ต้องการสร้างความสมานฉันท์แต่ทั้งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และโฆษกหัวหน้าพรรคกลับมีท่าทีตรงข้าม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การประชุมพรรควันนี้จะพูดกันอีกครั้ง และเพิ่งโทรศัพท์ไปบอกว่าให้ระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ เมื่อถามว่าถ้าทุกอย่างเรียบร้อยจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว วันนี้ต้องมาดูกระบวนการกันก่อนว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องการยุบสภาจะให้ตอบล่วงหน้าไม่ได้ เพราะเป้าหมายคือการมาแก้ไขที่ตัวระบบ จึงต้องเอาเรื่องนี้เป็นหลักก่อน จากนั้นจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปั๊มซีดีล้านแผ่นชี้แจงปชช.

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเชิญนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์และความจำเป็นที่ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ทั้งพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี กทม. และปริมณฑล และชี้แจงขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ เห็นว่ารัฐบาลตัดสินใจถูกต้อง เป็นที่ยอมรับ ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุก เฉินอย่างถูกต้อง วิปรัฐบาลให้กำลังใจนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่ประสานหน่วยราชการต่างๆ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) รัฐบาลดำเนินการต่างๆ ด้วยความเสมอภาคยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน รัฐบาลจะจัดทำซีดี 1 ล้านแผ่น ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอความร่วมมือหาทางออกแก้ไขปัญหา

ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย. วิปรัฐบาลหวังจะฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เสนอทางออกคลี่คลายสถานการณ์ของประเทศ แต่เป็นห่วงฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาโจมตี ทั้งนี้ รัฐบาลตรวจสอบข้อมูลกับฝ่ายกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว พบว่ารัฐบาลสามารถประกาศการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

ถกกติกาประชุมร่วม 2 สภา

นายชินวรณ์กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีมติประชุมรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย. เวลา 10.00-22.00 น. รวม 2 วัน 24 ชั่วโมง วิปทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา จะหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมอีกครั้งวันที่ 21 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เบื้องต้นเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ (สทท.11 ) พร้อมเชิญชวนสถานีวิทยุอื่นๆ ร่วมเป็นเครือข่ายถ่ายทอดสัญญาณเสียงด้วย และให้ส.ส.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนั้นยังแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อกำหนด ติดตาม นำเสนอทางออกให้รัฐบาลนำไปแก้ไขได้อย่างมีเหตุผล และมอบหมายให้แต่ละพรรคกลับไปปรึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมืองภายใน 2 สัปดาห์เพื่อนำมาหารือกันอีกครั้ง

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถนำประเด็นเรื่องการใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน แกนนำนปช.มาดำเนินการได้ กระบวนการขอเอกสิทธิ์คุ้มครองจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้ขอหมายศาล ศาลจึงจะร้องขอมายังสภา หากบุคคลนั้นเป็นส.ส.และอยู่ในสมัยประชุม แต่กรณีของนายจตุพรนั้นดำเนินการผิดตามกฎหมายอาญาแผ่นดิน นายจตุพรควรแสดงความสง่างามและความรับผิดชอบในฐานะแกนนำ ด้วยการไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ และไม่ควรอ้างเอกสิทธิ์ในการแถลงข่าว

รัฐบาลส่งสัญญาณปรองดอง

ประธานวิปรัฐบาลกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังหารือข้อเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เห็นตรงกันว่าจะต้องแยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชัดเจน เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง และความผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือเหตุการณ์อื่น พรรคร่วมพร้อมพูดคุยเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ส่วนบุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา ความผิดที่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลนั้น รัฐบาลต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย วิปมีมติให้แต่ละพรรคนำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการชุมนุมที่เสนอโดยนายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กลับไปพิจารณา และนำกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา 1 ในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมว่า เห็นด้วย เพราะเป็นหนทางทำให้คนที่มีความเห็นแตกต่าง ความคิดคนละขั้วได้หันหน้ามาเจรจากันในสิ่งที่จะทำให้เกิดความรักความสามัคคีปรองดองอีกครั้ง วันนี้ถึงเวลาที่จะเริ่มได้แล้ว แต่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการของการแก้ไข เมื่อเสร็จแล้วจะเป็นผลประโยชน์ของชาติ จะได้เลิกกล่าวอ้างกันเสียทีว่าสองมาตรฐาน สำหรับการนิรโทษกรรมถ้าไม่ได้เป็นเรื่องคดีอาญาก็ทำไป เพราะบุคลากรที่สำคัญในบางสาขานั้นค่อนข้างหายาก และเราเสียเวลากับเรื่องน่าอับอายมามากแล้ว

ภท.หนุนปลดล็อก 111 คน

ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการนิรโทษกรรมนักการเมืองและพรรคการเมือง ว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่ไม่เกี่ยวของกับคดีอาญา เพราะนักการเมืองและพรรคไม่ได้กระทำผิด เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องหลักในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นอื่นๆ พรรคภูมิใจไทยจะประชุมเพื่อรวบรวมและเสนอภายใน 2 สัปดาห์ตามที่นายกฯระบุ เชื่อว่านายกฯและพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยกับประเด็นนิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเดินหน้าต่อไป ส่วนที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย พรรคคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยนั้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายบุญจง ไม่ใช่มติของพรรค เชื่อว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นกรรมการบริหารพรรคจะเห็นด้วยแน่นอน แต่ต้องนำเรื่องเข้าหารือที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก่อน

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม กลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองว่า ในหลักการเห็นด้วยกับนายกฯ เพราะการลงโทษผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองโดยเฉพาะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 นั้นไม่เป็นธรรม เป็นการลงโทษย้อนหลัง ส่วนรายละเอียดต้องหารือในพรรคก่อน เพราะนายกฯให้เวลาถึง 2 สัปดาห์เพื่อสรุปประเด็นปัญหา คาดว่าพรรคจะประชุมในวันที่ 21 เม.ย.

แนะให้เริ่มที่แก้รธน.ก่อน

นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เห็นว่าควรเริ่มที่การแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหัวใจหลักก่อนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ หากแก้รัฐ ธรรมนูญสามารถกระทำได้และสังคมยอมรับ ค่อยมาดูว่าการนิรโทษกรรมจะทำตามได้หรือไม่ หากเริ่มกระบวนการนิรโทษกรรมก่อนเชื่อว่าน่าเป็นห่วง เพราะสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวยและอาจนำมาสู่ความขัดแย้งอีกได้

นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร กลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งแสดงเจต นารมณ์ย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้คนดีมีความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศชาติได้ ปัจจุบันตัวเลือกคนที่มาเป็นรัฐมนตรีมีน้อย ที่สำคัญยังไม่มีความสามารถหรือเรียกว่ามือไม่ถึง วันนี้เราต้องหาวิธีทำให้บ้านเมืองสงบ อันไหนทำแล้วได้ประโยชน์ควรดำเนินการทันที และการนิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ปลดล็อกชนวนปัญหาได้ เนื่องจากฝ่ายค้านรู้สึกว่าผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกระทำสองมาตรฐานมาตลอด เรื่องนี้ต้องเจรจาให้เข้าใจกันทุกฝ่าย เพราะสงครามจะสงบได้ขึ้นอยู่กับการพูดคุยเป็นสำคัญ เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายรณฤทธิชัยกล่าวว่า อันไหนเคลียร์ได้ก็ควรกระทำ โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งโดยผู้มีอำนาจ แต่เรื่องที่เป็นคดีชัดเจนควรปล่อยไปตามกระบวน การกฎหมาย

"เพื่อแผ่นดิน"ขานรับทันที

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายกฯเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้นัดหารือกันที่บ้านนาย นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ และได้รับการบ้านกลับมาคือ ให้แต่ละพรรคไปรวบรวมความเห็นเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะแก้ไขคืนสิทธิ์ทางการเมืองให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตกรรมการบริหารพรรคอื่นๆ ที่ถูกตัดสิทธิ์ และต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรม นูญครั้งนี้ หลังจากพรรคเพื่อแผ่นดินเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เสร็จสิ้น จะเรียกประชุมกรรมการบริหารและส.ส.พรรคเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกรงหรือไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะไม่พอใจและออกมาประท้วงอีก นายชาญชัยกล่าวว่าเราเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่มีคนใดคนหนึ่งได้อภิสิทธิ์ เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอให้นายกฯเปิดเจรจากับพ.ต.ท. ทักษิณหรือไม่ นายชาญชัยกล่าวว่าคนในชาติต้องหันหน้ามาเจรจากันด้วยเหตุผล

ต่อข้อถามถึงข่าวพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจการทำงานของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ นายชาญชัยกล่าวว่าตนไม่มีปัญหากับใคร ส่วนจะมีการจะปรับครม. เร็วๆนี้หรือไม่ ยังไม่มีสัญญาณจากพรรคประชาธิปัตย์หรือนายกฯ

เพื่อไทยเสนอปัดฝุ่นรธน.40

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงนายอภิสิทธิ์เปิดให้ทุกพรรคการเมืองสรุปประเด็นปัญหาในรัฐธรรม นูญเพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอรัฐบาลให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ แต่จะนำมาทั้งฉบับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาของพรรคการเมืองทั้งหมด โดยพรรคยังยืนยันจะให้แก้ไข เช่น มาตรา 237 ที่ระบุโทษให้ยุบพรรค มาตรา 190 ที่ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เรื่องอำนาจองค์กรอิสระ รวมถึงระบบการเลือกตั้งด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้แก้ไขมาตรา 309 ด้วยหรือไม่ นายพีรพันธุ์กล่าวว่าต้องยกเลิกมาตรา 309 ที่รับรองการกระทำตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 แต่ที่นิรโทษกรรมแล้วก็ให้นิรโทษกรรมไป แม้จะยกเลิกมาตราดังกล่าวก็จะไม่มีผลลงโทษย้อนหลัง

นายพีรพันธุ์กล่าวถึงนายกฯ ส่งสัญญาการนิรโทษกรรมทางการเมืองว่า เชื่อว่าจะผ่อนคลายความตึงเครียดของบ้านเมืองลงได้ เพราะต้นตอปัญหามาจากเรื่องการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากยึดอำนาจมีการตั้งองค์กรเพื่อแก้ไขกฎหมายเอาผิดกับบุคคลกลุ่มตรงข้าม ซึ่งพรรคจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวพูดคุยพร้อมกับการแก้รัฐธรรมนูญในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมรัฐบาลวันที่ 22-23 เม.ย. พรรคจะเสนอให้รัฐบาลนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ จากนั้นให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเลือกตั้งใหม่

จี้รบ.เอาผลศึกษาเดิมมาใช้

นายพายัพ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานภาคอีสาน กล่าวถึงนายกฯ ระบุพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจแก้ปัญหา และเอาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ใช้ความสามัคคีเป็นที่ตั้ง การจะนิรโทษกรรม ตั้งรัฐบาลใหม่ เลือกตั้งใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญก็น่าจะทำได้ แต่มีข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไม่เกิดประโยชน์

นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเห็นด้วยที่จะใช้สภาเป็นเวทีแก้ปัญหา มิฉะนั้นจะเดินไปไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลโกหกมาตลอด เพราะรู้อยู่แล้วว่าสภาผู้แทนราษฎรมีผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งมีหลายองค์กรที่ศึกษาสรุปประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลไม่กล้าหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูด

"ตอนนี้ไม่ใช่มาพูดว่าจะแก้อย่างไร เพราะปัญหาคือถ้ามาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ยอมรับความเสียหายจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ก็พูดไม่รู้เรื่อง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 เหมือนปฏิวัติไปอีก 10 ปีเพราะมีบทเฉพาะกาลเขียนล็อกไว้ในเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ 10 ปี" นายสงวนกล่าว

ห่วงแก้รธน.เพิ่มความขัดแย้ง

ต่อมาเวลา 14.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ภายหลังการประชุมเวลา 16.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา วิปวุฒิฯ กล่าวว่าที่ประชุมได้หารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองตามที่นายกฯ ขอเปิดประชุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ในวันที่ 22-23 เม.ย. ทางส.ว.ได้เตรียมผู้อภิปรายไว้ 22 คน จากคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาคณะละ 1 คน และส่งตัวแทน 5 คนเข้าไปหารือในการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่ายวันที่ 21 เม.ย.

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เบื้องต้นมีการจัดสรรเวลาให้วุฒิสภาเพียง 4 ชั่วโมง แต่วุฒิสภาจะขอเพิ่มเป็น 6 ชั่วโมง การอภิปรายจะอยู่ใน 3 ประเด็นคือ ปัญหาแนวทางการยุติปัญหา และการแก้ปัญหาในระยะยาว การอภิปรายสมาชิกจะมีอิสระเต็มที่ ขึ้นอยู่กับมุมมองในการแสดงความคิดเห็น ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมและการตัดสิทธิทางการเมือง วันนี้นายกฯ คิดไปไกลกว่าส.ว.แล้ว ยังไม่รู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรม นูญที่เกิดขึ้นจะสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ หรือจะกลายเป็นการทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น ในวุฒิสภาก็มีส.ว.ที่มีความเห็นว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ขณะที่ตนและส.ว.บางส่วนเห็นว่าควรแก้ไขเพราะมีหลายมาตราเป็นปัญหาและไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง หรือประเด็นที่ศาลมีอำนาจมากเกินไป

ปธ.วุฒิฯเชื่อมาร์คมาถูกทาง

ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงนายกฯ เปิดให้พรรคการเมืองเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นหนทางแก้ไขวิกฤตการเมือง เพราะทุกพรรคควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหา พรรคการ เมืองเป็นผู้รับฟังปัญหาจากประชาชนและทุกภาคส่วน ย่อมรู้ดีว่าประเด็นใดเป็นปัญหาและควรแก้ไขอย่างไร ข้อเสนอของนายกฯจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้วิกฤตคลี่คลายลงได้ ตนคาดหวังมาก เพราะดูแล้วทุกฝ่ายมีความจริงใจแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยใช้เวทีรัฐสภาแก้ไขวิกฤตการเมือง ไม่เล่นการเมืองนอกสภา เชื่อว่าทำได้โดยเฉพาะเมื่อตั้งกรอบเวลา 2 สัปดาห์ จะทำให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา คิดว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จ

เมื่อถามว่าแนวทางดังกล่าวครอบคลุมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิด้วย นายประสพสุขกล่าวว่าคงไม่เสียหายหากการนิรโทษกรรมจะทำให้ทุกฝ่ายสมานฉันท์กันได้ แต่สามารถทำได้เฉพาะการนิรโทษกรรมทางการเมือง "การนิรโทษกรรมทางการเมืองหากพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดก็กลับมาเล่นการเมืองได้ ส่วนคดีของพ.ต.ท.ทักษิณในส่วนคดีอาญาคงไม่เกี่ยวกัน เพราะนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นคนละส่วนกับคดีอาญาอยู่แล้ว" นายประสพสุขกล่าว

"กอร์ปศักดิ์"พร้อมถูกปรับออก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้นายกฯ ปรับตนเองออกจากครม. เนื่องจากแก้ปัญหาเศรษฐกิจล่าช้าว่า เป็นเพียงข่าว ตนยังไม่ได้ยินจากผู้ที่เป็นข่าว ไม่ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย หรือนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย จึงไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นพูดจริงมากน้อยแค่ไหน และยังไม่มีโอกาสพูดคุยกับนายกฯ รองนายกฯ เป็นตำแหน่งที่นายกฯ มอบหมาย งานทุกอย่างทำงานในนามของนายกฯ ตนพยายามทำงานให้ดีที่สุดและเป็นธรรมดาย่อมมีอุปสรรค แต่พยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด "ผมจะทำงานให้เต็มที่ต่อไป ไม่ได้ยึดติด หากนายกฯ จะมอบหมายให้คนอื่นมาทำงานแทน ก็ไม่มีปัญหา" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลระบุเป็นคนทำงานแบบชุนละเอียดและล่าช้า นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ชุนละเอียดแปลว่ารอบคอบ ตนมีหน้าที่ดูแลการใช้จ่ายของหลวงให้ละเอียด ว่าไม่มีการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์กับคนใด จึงต้องรอบ คอบ ตนดูแลสำนักงบประมาณ แต่ไม่ได้เข้าไปดูแลว่าเบิกจ่ายเงินล่าช้าหรือรวดเร็วเพราะเป็นเรื่องระบบราชการ ส่วนที่ว่าเอกสารต่างๆ มาค้างอยู่ที่ตนจำนวนมากนั้น ไม่เป็นความจริง งานเอกสารของตนน้อยมาก งานของรองนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกสาร

แจงข่าวปมขัดแย้ง"พรทิวา"

ต่อข้อถามว่าที่เกิดปัญหาลักษณะนี้เพราะไปขวางผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ และคนเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาทำงานในครม. ตนเลยไม่รู้ว่ามีปัญหาในครม. เพราะทุกเรื่องที่ทำงาน ครม.เป็นผู้มอบให้ทำ เช่น การแก้ปัญหาราคาข้าวโพด มันสำปะหลัง นม ถือเป็นมติครม.ทั้งสิ้น ทุกพรรคก็เห็นพ้องต้องกันที่จะให้ตนทำงาน หากเห็นว่าตนทำงานไม่ดีก็มีมติเปลี่ยนไปได้

ส่วนข่าวขัดแย้งกับนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เรื่องการนำสต๊อกข้าวโพดออกมาขาย นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำไป ตนคิดว่าอาจไม่อยู่ในอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ แต่กระทรวงพาณิชย์คิดว่าตัวเองมีอำนาจ ตนจึงเสนอให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะต้องหารือในข้อกฎหมายแต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการนำเข้าครม. ตนก็แปลกใจว่าทำไมจึงยังไม่นำเข้าครม. เพราะตนไม่มีอำนาจนำเข้าครม. เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์

ต่อข้อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลนำประเด็นดังกล่าวมาเป็นปัญหาอยู่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาอย่างอื่นมาก สิ่งที่เราควรทำคือช่วยทำงานให้บ้านเมืองพ้นวิกฤตมากกว่าจะมาบอกว่าตรงนี้เป็นผลประโยชน์ของใคร ตนถึงไม่เชื่อว่าทั้ง 3 ท่านพูดเรื่องนี้ เป็นเพียงกระแสข่าวแต่ถ้าเป็นเรื่องจริงและมาบอกด้วยตัวเอง จะพิจารณาด้วยตัวเอง

"เทพเทือก"อ้าง-แค่ข่าวลือ

เมื่อถามว่าคิดหรือไม่ว่านายกฯ อาจทนแรงเสียดทานไม่ไหวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะนายกฯ รับผิดชอบสูงสุด ตนไม่ยึดติด เชื่อว่านายกฯจะตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประเทศ "วันนี้ท่านเป็นผู้นำที่มีอายุน้อย ถ้าท่านเป็นผู้นำที่ดีประชาชนจะมีที่พึ่ง เรื่องการเมืองตอบยากเพราะสลับซับซ้อน บางอย่างที่เราอยากทำก็ทำไม่ได้ดั่งใจ แต่ขอให้มองในแง่ดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ ยืนยันว่าผมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราตั้งหลักว่าไม่โกงและจะทำงานให้ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ นอกจากนั้นจะทำงานที่ได้รับมอบหมาย"

เมื่อถามว่าได้สอบถามคนที่พูดว่าควรปรับเปลี่ยนตัวรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่เคยเจอบุคคลเหล่านั้น และคิดว่าถ้าไม่พอใจตรงไหนก็บอกมาได้ ยืนยันว่าตนทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้ปรับ ครม. อาทิ นายกอร์ปศักดิ์ ว่า ไม่มี ทุกอย่างเป็นข่าวลือ เมื่อถามว่าหารือกับนายกฯ ถึงเรื่องการออกพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติหรือไม่ เนื่องจากนายกฯ มีท่าทีเห็นชอบ นายสุเทพกล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้พูดอย่างนั้น ทั้งนี้ จากนี้ไปตนจะพูดให้น้อยลง ถือเป็นท่าทีใหม่ของตนเอง

มาร์คป้อง-ยันไม่ปรับออก

ต่อมาเมื่อเวลา 13.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลรุมตำหนิการทำหน้าที่ของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เนื่องจากแทรกแซงการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป ว่า ได้คุยกับนายกอร์ปศักดิ์แล้ว ก็เป็นธรรมดา เมื่อนายกอร์ปศักดิ์กำกับดูแลแล้วมีความกังวล มีความห่วงใย อยากจะดูให้เกิดความมั่นใจว่าทุกสิ่งเรียบร้อย บางครั้งอาจทำให้เห็นอะไรไม่ตรงกับผู้ปฏิบัติในระดับกระทรวงก็ต้องหาข้อยุติให้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยังไม่ปรับนายกอร์ปศักดิ์ออกจากครม.ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่ ไม่ล่ะครับ ยังไม่มีความคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวอะไร เพียงแต่ต้องมาพูดคุยกันว่าที่มันติดขัดกันอยู่ มันติดขัดตรงไหนอย่างไร" เมื่อถามย้ำว่านายกอร์ปศักดิ์จะยังเป็นรองนายกฯ อีกนานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "นาน"

เมื่อถามว่าในส่วนของรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องปรับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่สรุปอย่างนั้น ขอให้บริหารตรงนี้ให้เรียบร้อยแล้วก็มาทบทวนด้วยกันว่าที่ผ่านมามีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อนตรงไหน ส่วนจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใดนั้น ขอรอให้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนแล้วจะมานั่งคุยกัน ตนให้เกียรติคนทำงานทุกคน ทุกคนสามารถมาบอกได้ว่าปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหนอย่างไร

ปชป.ให้"หยัด"ศึกษาแก้รธน.

ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.พ.บุรณัชย์ สมุท รักษ์ โฆษกพรรคแถลงหลังการประชุมส.ส.ว่า นายกฯ กำชับให้ส.ส.ทุกคนใช้เวทีสภาลดปั

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์