กรุงเทพธุรกิจ
30 กรกฎาคม 2549 15:30 น.
เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 84.3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 15 ต.ค. และมีถึงร้อยละ 29.2 จะกาช่องไม่ลงคะแนน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 84.3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 15 ต.ค. และมีถึงร้อยละ 29.2 จะกาช่องไม่ลงคะแนน พบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกแยกของคนในสังคม ลดทอนความนิยมของรัฐบาลเป็นอันดับแรก
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลการสำรวจเพื่อการหยั่งเสียงสาธารณชนเบื้องต้นว่าด้วยสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งว่า ได้ศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 33 จังหวัด ทุกภาคของประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,091 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 53.9 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 27.1 ติดตาม 1 - 2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 13.2 ติดตามน้อยกว่า 1 วัน ต่อสัปดาห์ หรือบางสัปดาห์ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 5.8 ที่ไม่ได้ติดตามเลย
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่ลดทอนความนิยมต่อรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 หรือร้อยละ 27.8 ระบุเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของ คนในสังคม อันดับ 2 หรือร้อยละ 17.4 เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสินค้าราคาสูงขึ้น ร้อยละ 15.1 ระบุเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 13.2 เป็นเรื่องปัญหาความสงสัยคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นเรื่องการไม่ระมัดระวังคำพูดของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 6.4 เป็นเรื่องปัญหาด้านคุณธรรมของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 5.7 เป็นเรื่องการไม่ได้ทำตามนโยบายปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 5.2 ระบุเรื่องการกล่าวพาดพิงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และร้อยละ 4.9 ระบุเป็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผลงานของรัฐบาลที่ประชาชนให้ความนิยม อันดับ 1 ร้อยละ 33.3 ได้แก่ การแก้ปัญหายาเสพติด รองลงมาคือ ร้อยละ 30.3 การปราบปรามผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 21.1 ได้แก่ การแก้ปัญหาความยากจน ร้อยละ 12.8 เป็นผลงานที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร้อยละ 8.2 เป็นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 5.6 ได้แก่ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ร้อยละ 4.2 ได้แก่ การเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และ 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ ผลงานด้านการศึกษา การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการส่งเสริมคุณภาพเยาวชนไทย ได้ร้อยละ 3.5 เท่ากัน
ความตั้งใจที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่าประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึง 37,946,238 คน คิดเป็นร้อยละ 84.3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ในจำนวนนี้ร้อยละ 29.2 ระบุจะกาช่องไม่ลงคะแนน ขณะที่ร้อยละ 70.8 ระบุจะเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่จะไม่ไปเลือกตั้งประมาณ 5 ล้านคน หรือร้อยละ 10.3 และไม่แน่ใจ 2.4 ล้านคน หรือร้อยละ 5.4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อไปยังมีถึงร้อยละ 48.7 หรือ 13,091,453 คน ขณะที่ร้อยละ 42.5 หรือ 11,421,818 คน สนับสนุนอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่มีอยู่ร้อยละ 8.8 หรือ 2,352,667 คน ที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองอื่น ๆ
สำหรับเหตุผลที่ประชาชนใช้ในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง ร้อยละ 56.8 ใช้ผลงานที่ผ่านมา เช่น ผลงานแก้ปัญหาให้ประชาชน และการตรวจสอบรัฐบาลเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาชนใช้ในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง รองลงมาร้อยละ 50.9 ดูนโยบายว่ามีดี เป็นรูปธรรม ตรงความต้องการ ร้อยละ 47.2 ดูที่ตัวบุคคล เช่น ทำงานดี เข้าถึงชาวบ้าน ร้อยละ 28.5 ดูที่อนาคตหลังเลือกตั้งว่าจะวุ่นวายอีกหรือไม่ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ และการยอมรับได้ของทุกฝ่าย ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ตั้งใจจะกาช่องไม่ลงคะแนน เพราะยังไม่มีตัวเลือกที่ดี ยังไม่เห็นนโยบายชัดเจน และเลือกไปก็ทะเลาะกันอีก