สมานฉันท์จอมปลอม

กรุงเทพธุรกิจ

28 กรกฎาคม 2549 19:19 น.
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้แสดงบทในการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ หลังจากที่เกิดความแตกแยกความคิดเห็นและความขัดแย้งกันครั้งใหญ่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ซึ่งเป้าหมายสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณก็คือให้นายบรรหารเป็นตัวกลางในการเจรจากับพรรคการเมืองอื่น เพื่อหาแนวทางสมานฉันท์ และนำไปสู่ความปรองดองกัน แต่วิธีการและขั้นตอนนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยว่าจะทำกันอย่างไร เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นฟ้องร้องกันหลายคดีในขณะนี้ และส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องจากพ.ต.ท.ทักษิณกับคนอื่นๆ ที่ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความเห็นโจมตี ดังนั้น จึงน่าสงสัยว่าจะสมานฉันท์ได้อย่างไร

อันที่จริง การพบปะระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณและนายบรรหาร เพื่อหาแนวทางสมานฉันท์ระหว่างพรรคการเมืองในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยหารือกันมาแล้ว ทั้งโดยเปิดเผยและแบบลับๆ แต่ในที่สุด ความพยายามของทั้งสองคนก็ล้มเหลว แม้นายบรรหารจะพยายามตักเตือนผ่านสื่อเพื่อหาแนวทางให้พ.ต.ท.ทักษิณคลี่คลายสถานการณ์จากหนักเป็นเบา แต่ในที่สุด ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะพ.ต.ท.ทักษิณก็ยังเดินหน้าเล่นเกมการเมืองเช่นเดิม โดยพยายามทำทุกอย่างเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง จนนายบรรหารเอ่ยปากว่า "ถอยไม่จริง" พร้อมกับแนะให้เลิกเชื่อ "คนรอบข้าง" แต่ทุกอย่างก็เหลวและการเมืองดูเหมือนจะเลวร้ายลง จนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง

แต่อย่าลืมว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่เกิดจากนักการเมืองทะเลาะกันเอง แต่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งมีปัญหาในเกือบทุกจุดเพราะรัฐบาลบริหารงานแบ่งเขาแบ่งเรามาโดยตลอด หากใครที่ถูกหมายหัวว่าไม่ใช่พวกรัฐบาลเสียแล้ว ก็มักจะถูกปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรมด้วยการใช้อำนาจรัฐ หรือสั่งผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเราพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ได้โดยทั่วไป ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด จนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังมีปัญหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และไม่สามารถอธิบายให้สาธารณชนพึงพอใจได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เองเป็นต้นตอของวิกฤติ และเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งสังคม ไม่ใช่เรื่องพรรคการเมืองทะเลาะกัน

ดังนั้น จากวิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นักการเมืองต้องเข้าใจต่อสถานการณ์เสียใหม่ ว่า เป็นเพียงเรื่องของการทะเลาะกัน หรือการแย่งชิงผลประโยชน์กันดังที่เห็นทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการบริหารประเทศโดยส่วนรวม ซึ่งหากต้องการจะแก้วิกฤติของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นักการเมืองต้องหันมาคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้การบริหารงานของตัวเองเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่มานั่งคิดนั่งแก้กันเพียงคนสองคน ซึ่งหากนักการเมืองหันกลับมาคิดและเริ่มต้นใหม่ เพื่อปูพื้นฐานให้กับสังคมไทยจริง เราก็เชื่อแน่ว่าประชาชนจะให้การสนับสนุนแนวทางสมานฉันท์ หรือการปฏิรูปการเมือง แต่หากยังคิดถึงแต่อำนาจตัวเอง เราก็เชื่อว่าแม้จะแก้วิกฤติเฉพาะหน้าได้ แต่ก็รอจังหวะเวลาเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เราเห็นว่าที่ผ่านมา แนวทางสมานฉันท์ในสังคมเกิดขึ้นยาก ก็เนื่องจากนักการเมืองคิดแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ในขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องของคนทั้งสังคม เป็นเรื่องปัญหาทางจริยธรรมของนักการเมือง และเรื่องความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่าเพียงแค่เกมการเมืองที่เอาชนะกันด้วยผลการเลือกตั้งแบบธรรมดาๆ ทั่วไป ดังนั้น ความพยายามของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ต่างจากเดิมที่มองว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นมาจากคนที่เสียประโยชน์จากการบริหารประเทศ โดยมองไม่เห็นถึงต้นตอที่แท้จริง ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ เพราะยังคิดในกรอบการแสวงหาอำนาจส่วนตนมากกว่าคิดถึงสังคม และความสมานฉันท์เช่นนี้ไม่มีวันเป็นจริง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์