เผยปชช.ไม่เห็นด้วยทักษิณโฟนอิน

คมชัดลึก :เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ในหัวข้อเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบ 73.4% ไม่เห็นด้วยกับการโฟนอินที่พาดพิงบุคคลสำคัญ และ 69.4% ไม่สบายใจ ห่วงขัดแย้งรุนแรงอีก "อุทัย"เสนอใช้กฎหมายแก้ความขัดแย้งทางการเมือง


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผล “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ในหัวข้อเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อ การโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ อ่างทอง สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ ยโสธร มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา สตูล และสุราษฎร์ธานี จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 1,154 ตัวอย่าง ในวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมาด้วยระบบเทคโนโลยีสื่อสารเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลและประมวลผลแบบเรียลไทม์ ผลสำรวจพบว่า

 ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ทราบข่าวการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ร้อยละ 4.5 ไม่ทราบข่าว แต่เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรีที่กล่าวพาดพิง บุคคลสำคัญของสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 15.6 เห็นด้วย และร้อยละ 11.0 ไม่มีความเห็น

 ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.4 รู้สึกไม่สบายใจ หลังทราบข่าวการโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวาย เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก ปัญหาเยอะมากพออยู่แล้ว มีการโจมตีผู้ใหญ่ในสังคม เกรงอดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับอันตราย และกลัวการปฏิวัติยึดอำนาจอีก เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 23.3 รู้สึกสบายใจ เพราะได้ยิน ได้เห็น พ.ต.ท.ทักษิณ และเห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ เป็นต้น และร้อยละ 7.3 ระบุไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับใคร ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตนเอง เป็นต้น

 ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.8 คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นอีกในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 10.9 ไม่คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอีก และร้อยละ 27.3 ไม่มีความเห็น

 สิ่งที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งในมุมมองของประชาชนที่ถูกศึกษา คือ ทางออกของปัญหาการเมืองที่อยากเห็น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 อยากให้คนไทยรักกัน รองลงมาคือ ร้อยละ 86.2 ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 83.5 หยุดการโต้ตอบกันไปมา ร้อยละ 67.9 นำวัฒนธรรม ประเพณีไทยมาแก้ปัญหาแตกแยก ร้อยละ 55.3 ระบุให้เร่งรัดคดีความต่างๆ ให้จบสิ้น ร้อยละ 52.2 ให้จับมือกันกับอดีตนายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาของประเทศ และร้อยละ 39.1 ให้นำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ ตามลำดับ

ดุสิตโพลพบคนส่วนใหญ่เชื่อม็อบเสื้อแดงไม่บานปลาย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 21 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,236 คน เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.25 เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย เพราะสถานการณ์ไม่สุกงอม และยังหวาดกลัวเหตุการณ์เมื่อครั้งม็อบพันธมิตรฯ อยู่ โดยมีเพียงร้อยละ 7.38 เท่านั้น ที่เชื่อว่าอาจจะบานปลาย ส่วนที่เหลือระบุว่าไม่แน่ใจ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ประชาชนกลัวว่าเหตุการณ์ประท้วงจะบานปลายและเกิดจลาจล อันดับ 1 คือ การโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 44.41 รองลงมา คือ การยั่วยุร้อยละ 28.46 และการหนุนหลังของผู้มีอิทธิพลทั้ง 2 ฝ่าย ร้อยละ 14.68 ตามลำดับ

 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 45.49 เห็นว่าสิ่งที่จะทำให้การชุมนุมประท้วงไม่รุนแรงบานปลาย คือ ยุติการตอบโต้ยั่วยุ ของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะการโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.04 เห็นว่าเหตุการณ์ประท้วงในวันนี้ สะท้อนภาพของการแย่งชิงอำนาจที่มุ่งเอาชนะคะคานจนไม่มีเหตุผล

"อุทัย"เสนอใช้กฎหมายแก้ความขัดแย้งทางการเมือง

 วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเสวนาเรื่องทางออกประเทศไทยในวิกฤตความขัดแย้งเหลือง-แดง โดยเชิญตัวแทนนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจและนักสื่อสารมวลชน มาแสดงความเห็นในการหาทางออกจากความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก

 นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เสนอให้ยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ยกเลิกการดำเนินคดีที่เป็นผลจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะหากดำเนินการตามข้อเสนอจะเกิดความวุ่นวายและยุ่งยากมากกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันมีการใช้สีมาเป็นสัญญลักษณ์ในการต่อสู้แบ่งข้างชัดเจน การยุติปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 สี ตนมองว่าเรื่องการสมานฉันท์คงต้องปิดประตูทิ้งไปได้เลย เพราขณะนี้เกินเวลาที่จะเจรจาสงบศึก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างถือว่าตนเองเป็นผู้ชนะจึงไม่มีทางจะสร้างความสมานฉันท์ได้

 “ผมมองว่าตัวต้นปัญหาเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งท่านสื่อคำพูดมาแต่ละครั้งไม่เคยพูดถึงปัญหาที่เกิดจากตัวเอง พูดแต่ปัญหาที่ตัวเองได้รับ ผมจึงมองว่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวปัญหาเริ่มแรก บอกให้พักเล่นการเมืองก็ไม่ยอมพัก เพราะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนตามมามากมาย จนสุดท้ายเกิดการปฏิวัติ จนถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ยอมจบและยังประกาศสู้ทุกวัน การใช้วิดีโอลิงก์ล่าสุดยังปลุกกระแสคนเสื้อแดงได้ในระดับหนึ่ง ผมมองว่านักการเมืองคือผู้เสียสละและต้องยอมเจ็บปวด จึงอยากถามว่าทักษิณน้องรักท่านเป็นนักการเมืองวันนี้ได้เสียสละและยอมเจ็บปวดแล้วหรือยัง หรืออยู่ในข่ายที่เจ็บปวดไม่ได้ ถ้าฉันเจ็บปวดคนอื่นก็ต้องเจ็บปวดด้วย ” นายอุทัย กล่าว

 นายอุทัย กล่าวว่าทางออกขณะนี้มีแต่ฝ่ายตุลาการเท่านั้นที่ยังเป็นความหวัง บังคับใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมาย ตำรวจ อัยการ ศาลต้องทำงานด้วยความตรงไปตรงมา บ้านเมืองแตกแยกจนเกินกว่าจะเรียกร้องความสมานฉันท์ด้วยวิธีอื่น ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น

 ด้านนายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการ กล่าวว่าตนมองว่าทางออกของประเทศคงหนีไม่พ้นการยุบสภา เพราะสาเหตุความแตกแยกมาจากบุคคล 2 กลุ่มที่ต่อสู้ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองถูกต้องและมีพลังทั้งคู่ โดยแต่ละฝ่ายถือเป็นภาคนอมินี โดยคนกลุ่มเสื้อแดงต้องการนิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่คนเสื้อเหลืองสมหวังกับการขับไล่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาแต่ยังเหลือเรื่องการเมืองใหม่

 อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่เป็นสุขได้ในทุกวันนี้อย่านึกว่าจะอยู่ได้นาน เพราะถ้าไม่ตอบสนองเรื่องการเมืองใหม่ให้กับกลุ่มคนเสื้อเหลือง พรรคประชาธิปัตย์อาจต้องเป็นศัตรูกับทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์เอาเรื่องการปฏิรูปการเมืองมาเป็นข้อต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ตนเองได้เป็นรัฐบาลนาน ๆ
 
 "ผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมให้ใครมาเป็นรัฐบาลต่อจากเขาอย่างแน่นอนดังนั้นการยุบสภาจึงเป็นทางออกสุดท้าย และขอให้จับตาดูว่าถ้ามีการตั้งพรรคเทียนแห่งธรรมเมื่อใดโอกาสการยุบสภาก็จะใกล้เข้ามาทุกทีเพราะเขามั่นใจว่าเขาชนะการเลือกตั้งแน่นอน” นายสุขุม กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์