จัดเลือกตั้งโมฆะ แต่ประมาทเลินล่อไม่ร้ายแรง กกต.ชุดพี่หนา ส่อไม่ต้องชดใช้1,700ล้าน แม้เจอคุก 4 ปี


3 กกต.ชุด "วาสนา เพิ่มลาภ"ที่ถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 4 ปี ส่อไม่ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 1,700 ล้านบาทกรณีจัดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้โมฆะ ลผสอบ คณะกรรมการการเลือกลั้ง กระทรวงการระบุ ประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 28 มีนาคมว่า บทบรรณาธิการ เว๊ปไซต์กฎหมายมหาชน www.pub-law.net ที่มี ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ ได้นำเสนอเรื่อง"ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549"  ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,772 ล้านบาทเศษ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเพราะการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ปรากฏว่า ผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนของกระทรวงการคลัง เห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา  เพิ่มลาภ เป็นประธาน เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง จึงเข้าข่ายไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549  ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

บทความของศ. ดร.นันทวัฒน์ระบุรายละเอียดว่า   เมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลอาญา ได้มีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ของ กกต. ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา  เพิ่มลาภ  เป็นประธาน มีรายละเอียดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สรุปความได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ในการจัดการเลือกตั้งและการดำเนินการของ กกต.เกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลการเลือกตั้ง

ส่วนศาลปกครอง มีคำพิพากษาที่ 607 – 608/2549 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ว่า การที่ กกต. มีมติกำหนดให้ดำเนินการปรับแผนผังที่เลือกตั้งโดยจัดเรียงคูหาเลือกตั้งจากเดิมที่ให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหลังให้ผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง มาเป็นให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง ทำให้การออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับทั้งในทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นเหตุให้การเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
 
จึงได้พิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดในทุกเขตเลือกตั้งและการกระทำต่อมาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

จากนั้นไม่นานศาลอาญามีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2343/2549 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พิพากษาว่า  กกต. 3 คน(พล.ต.อ.วาสนา  นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร) มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี(ต่อมาศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551)

ภายหลังคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น มีผู้ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการเรียกให้ กกต.ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา  เป็นประธานและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เนื่องจากทำให้ทางราชการต้องสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ปรากฏว่า การดำเนินการต่าง ๆ  ก็ยังไม่เสร็จสิ้นและยังมีปัญหาข้อกฎหมายตามมามากมาย เพราะเมื่อกระทรวงการคลังได้รับคำร้องดังกล่าวก็ได้ส่งคำร้องไปให้สำนักงาน กกต.ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ต่อมา สำนักงาน กกต.มีความเห็นแจ้งกลับไปที่กระทรวงการคลังว่า การจัดการเลือกตั้งโดย กกต.ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เป็นประธานไม่เข้าลักษณะกรณีเจ้าหน้าที่กระทำต่อเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
   
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังแจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า สำนักงาน กกต.ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายจึงมีหน้าที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะตอบได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดหรือเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  กกต.ชุดปัจจุบันจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงว่า เกิดความเสียหายหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด และเป็นการกระทำละเมิดในทางส่วนตัวหรือเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
    
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ทำงานอยู่ประมาณ 6 เดือนเศษซึ่งต่อมา กกต.เสียงข้างมากมีความเห็นว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา  เป็นประธาน เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรง

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานกลางด้านการเงินการคลังของรัฐได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งได้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนต่อประธาน กกต. สรุปความได้ว่า จากจำนวนของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนที่มีรวม 7 คนนั้น
 
มีกรรมการ 4 คนเห็นว่า การกระทำของ กกต. ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เป็นประธาน เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง ส่วนกรรมการอีก 2 คนเห็นว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และกรรมการอีก 1 คนเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับความเสียหาย

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีความเห็นตามกรรมการเสียงข้างมากคือ การกระทำของ กกต.ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เป็นประธาน เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง  ขณะนี้ เรื่องดังกล่าวถูกส่งมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเรียกค่าเสียหาย
 
ทั้งนี้ ต่มีข้อมูลน่าสนใจจากรายงานความเห็นของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนอยู่หลายประการ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 คือ 1,772 ล้านบาทเศษ การกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้นชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนประเด็นการจัดคูหาเลือกตั้งที่หันคนละด้านกับที่เคยทำมานั้น กรรมการเสียงข้างมากจำนวน 4 คนเห็นว่า การจัดคูหารูปแบบใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเจตนาโดยสุจริตและมุ่งหมายให้เกิดความเที่ยงธรรม จึงไม่อาจถือได้ว่า กกต.จงใจทำต่อสำนักงาน กกต.โดยผิดกฎหมายให้สำนักงาน กกต.ได้รับความเสียหาย

ขณะที่มาตรา 8 วรรคแรก แห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่บัญญัติไว้ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” 

แต่กรณีดังกล่าว คณะกรรมการของกระทรวงการคลังเห็นว่า การกระทำของ กกต.ชุดพล.ต.อ.วาสนา เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์