เมื่อม็อบเสื้อแดงเคลื่อนทัพประชิดทำเนียบ
สิ่งที่ขึงแนวรออยู่ ก็คือแถวทหารหลายพันนาย
ซึ่งต่างไปจากสมัยม็อบเสื้อเหลือง กำลังทหารไม่ได้ออกมาเผชิญหน้า
ออกมาก็เมื่อต้องการเป็นกันชน ไม่ให้เสื้อเหลืองปะทะกับเสื้อแดง
เวทีของม็อบเสื้อแดงหน้าทำเนียบเลยบ่นพึม ในความไม่มีเส้นของตัว
คนที่ซึ้งหนักกว่าใคร น่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เพราะเพื่อนร่วมรุ่น โตมาด้วยกันแท้ๆ อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
เลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้ามอย่างเห็นได้ชัด
จนมีคำอวยพรปีใหม่ (ที่เพิ่งเอามาเปิดโปงกัน) จากแม้วถึงป๊อก
"มึงยังจำกูได้ไหม"
ช่วงแรกตอนพล.อ.อนุพงษ์ขึ้นเป็นผบ.ทบ.ใหม่ๆ นับว่าเป็นคนที่ "อ่านยาก"
สีหน้านิ่งๆ พูดจานิ่มๆ สงวนท่าที
เคยตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เว้นแต่ละวัน
เมื่อพล.อ.อนุพงษ์ไม่ตกหลุมพรางการเมือง ตามพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ไม่ว่าใครจะเรียกร้องให้ปฏิวัติ ใครจะเยาะเย้ยเสียดสี
พล.อ.อนุพงษ์ย้ำแต่ว่าปฏิวัติทำได้แน่ แต่ทำแล้วประเทศชาติเสียหายเกินไป
ยิ่งไปเดินประคองมือให้นายสมัคร สุนทรเวช ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี
บิ๊กป๊อกยิ่งตกเป็นเป้าหมั่นไส้ จากฝ่ายที่เกลียด "หมัก-แม้ว"
บางคนจินตนาการถึงสายสัมพันธ์ตท.10 พ.ต.ท.ทักษิณอาจดึงพล.อ.อนุพงษ์ไปเป็นพวกสำเร็จ
ทั้งที่พล.อ.อนุพงษ์ได้รับการสนับสนุนขึ้นมาโดยคมช.
แต่แล้ว พล.อ.อนุพงษ์ก็แสดงท่าทีชัดเจนให้สังคมเห็น ว่าแท้จริงตัวเองอยู่ฝ่ายไหน
ทั้งที่เกมของรัฐบาลสมัคร ได้นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน
ยืมมือผบ.ทบ.ให้ปราบม็อบเสื้อเหลืองพ้นจากทำเนียบ
พล.อ.อนุพงษ์กลับไม่ตอบรับ และโยนกลับดื้อๆ คำเดียว
การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง!
หลังเกิดเหตุสลายม็อบ 7 ตุลาฯ
พล.อ.อนุพงษ์ออกโทรทัศน์กดดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเวลานั้น ให้ลาออก
แล้วในที่สุด ก็ปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวใน "ราบ 11" ตอนตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์
ตอนนี้เราก็จะเห็นถึงความเคลื่อนไหวอันคึกคักจากกองทัพ ในการรับมือม็อบเสื้อแดง
ก่อนม็อบชุมนุม 1 วัน ทหารนำลวดหนามไปขึงล้อมทำเนียบ
แม้คราวนี้ เสื้อแดงขู่จะชุมนุมยืดเยื้อ
แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ง่าย โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้ง
ม็อบเสื้อเหลืองมีกองทัพธรรม อยู่ใยงเฝ้าม็อบทั้งวันทั้งคืน
ไม่ว่าผู้ชุมนุมขาจร จะต้องแยกย้ายไปทำมาหากิน
แต่กองทัพธรรมที่ไม่กลัวร้อนกลัวฝน ปักหลักตลอด
เรื่องน่าตลกที่เป็นเหมือนกันหมดทั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลือง
ผู้นำม็อบต้องประกาศจำนวนคนหนักๆ เข้าไว้
หลักหมื่นต้นๆ กลายเป็นเกินแสนทุกที!