กรุงเทพธุรกิจ
25 กรกฎาคม 2549 19:25 น.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * รายงาน
-----------------
ตามที่ศาลอาญาได้พิพากษาคดี นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
ทั้งนี้ ระบุว่าจำเลยทั้ง 3 ได้กระทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 และมาตรา 42 สืบเนื่องจากกรณีที่ กกต.มีมติร่วมกันจัดตั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตใหม่อีก 15 จังหวัด 38 เขต ในการเลือกตั้งเมื่อ 23 เมษายน 2549
โดยมีมติเปิดรับผู้สมัครส.ส.ใหม่ โดยไม่มีอำนาจและขัดต่อประกาศและระเบียบ กกต. รวมทั้งออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กกต.เขตเลือกตั้ง ให้เปิดรับสมัครผู้สมัครรายเดิมที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ลงสมัครในเขตเลือกตั้งใหม่ได้ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรายเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ20
ยิ่งกว่านั้น ศาลอาญาชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิจารณาไม่ยอมให้ผู้กระทำผิดประกันตัวแต่อย่างใด มีผลให้ทั้ง 3ต้องถูกจำคุกทันที
ไทยรักไทย´กลับลำ´รับสภาพ กกต.พ้นหน้าที่
ก่อนหน้านี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตผู้พิพากษา เคยให้ความเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141(4) ต้องได้รับโทษจำคุกให้ถึงที่สุด ทั้งนี้สามารถอุทธรณ์ได้ และถือว่ายังไม่พ้นจากตำแหน่ง
กระทั่งความชัดเจนเกิดขึ้น เมื่อศาลไม่ให้ประกันตัว จึงเสียงอ่อนลง ระบุว่าเป็นเรื่องของ นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ที่จะแจ้งต่อศาลฎีกา เพื่อเสนอชื่อบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเป็น กกต.ชุดใหม่ ซึ่งจะแจ้งให้ศาลฎีกาให้เสนอชื่อ 1 ขยัก หรือ 2 ขยัก
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ภายใน 30 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องเสนอชื่อมาจำนวนหนึ่ง และกรรมการสรรหาเสนอชื่ออีกจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าหลังจาก 30 วัน กรรมการสรรหาไม่สามารถเสนอรายชื่อได้ครบ ก็มีกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เสนอชื่อเพิ่มเติมภายใน 15 วัน
นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีต กกต.และอดีตประธานศาลฏีกา กล่าวถึงกรณีปัญหาการขาดคุณสมบัติของ กกต.ว่า หากภายในวันนี้ (25 ก.ค.) ศาลอาญาในชั้นอุทธรณ์ยังไม่อณุญาตให้ประกันตัว 3 กกต. ก็ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 106 (3) ของรัฐธรรมนูฯ คือต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย
กฤษฎีกาตอกย้ำ กกต.พ้นหน้าที่ชัด
ยิ่งกว่านั้น นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงต่อคำถามของคณะรัฐมนตรีในประเด็นคำสั่งศาลให้ กกต.ต้องโทษว่า เมื่อ กกต.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วุฒิสภาก็ต้องเร่งกระบวนการสรรหา แต่กระบวนการแรกคือ ให้ช่องทางของคณะกรรมการสรรหา แต่เนื่องจากไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองในสภา ดังนั้น เหลือเพียงช่องทางเดียว คือให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้สรรหา แล้วส่งรายชื่อไปให้วุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ศาลฎีกาเริ่มสรรหากกต.ชุดใหม่พรุ่งนี้
นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก กกต. ส่วนตัวมองว่า กกต.ทั้งสามคนได้พ้นสภาพ และไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ต่อได้ เพราะศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ถือว่าขาดคุณสมบัติทันที จึงต้องสรรหาผู้สมควรเป็น กกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน
ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานด้านวิชาการของศาลฎีกา ได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดแนวทาง และวางกรอบดำเนินการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต.ชุดใหม่ โดยในวันพรุ่งนี้(26ก.ค.) จะเริ่มประกาศรับสมัครบุคคลที่ประสงค์จะเป็น กกต.แสดงเจตจำนงเข้ามา
"เชื่อว่ากระบวนการสรรหาจะใช้เวลาเพียงแค่ 20 วัน และจะเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคมอย่างแน่นอน และมั่นใจว่า กกต.ชุดใหม่จะสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างมากที่สุด"
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ได้สรุปข้อกฎหมายที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก กกต.ให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา รับทราบแล้ว และจะดำเนินการบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่อย่างแน่นอน
นี่คือการตอกย้ำชัด มัดแน่นเกินกว่า กกต.จะดื้อด้านดิ้นอีกต่อไปได้แล้ว