ธงทองเตือนนักการเมือง-รบ.อย่านำพระราชอำนาจฯอ้างสาธารณะ เลขาฯป.ป.ท.แนะเพิ่มโทษใช้สถาบันฯหาประโยชน์


"ธงทอง" เตือนนักการเมือง-รัฐบาล ไม่ควรนำพระราชอำนาจที่ทรงแนะนำ-ตักเตือน อ้างต่อสาธารณะ จะทำให้สถาบันถูกวิพากษ์วิจารณ์ เลขาฯป.ป.ท.เสนอเพิ่มโทษ กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุนำสถาบันไปใช้หาประโยชน์ใส่ตัว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มีนาคม ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพŽ โดยในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายในหัวข้อสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย

ทั้งนี้ นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีทั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชทานอภัยโทษหรือยับยั้งตัวกฎหมาย และพระราชอำนาจที่เป็นไปตามจารีตประเพณีตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ทรงใช้พระราชอำนาจตามที่มีผู้กราบบังคมทูลแนะนำ ขณะที่พระราชอำนาจที่ทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะมีจำกัดมาก

นายธงทองกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำแนะนำตักเตือน ซึ่งเป็นไปโดยประเพณีในระบอบประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในสากล ขณะที่ตามตำรา เป็นพระราชอำนาจที่แยกย่อยได้เป็น 3 อย่าง คือ พระราชอำนาจที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล พระราชอำนาจที่จะทรงสนับสนุนหรือให้กำลังใจรัฐบาล และพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือน รัฐบาลนั้นอาจอยู่ในฐานะที่จะได้รับคำติชมจากประชาชนเป็นปกติวิสัย เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลกราบบังคมทูลขอคำปรึกษาหารือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องถือเป็นการภายใน

"รัฐบาลไม่พึงบอกหรือส่งสัญญาณใดๆ ถือเป็นธรรมะของการเป็นรัฐบาล และไม่พึงกระทำหรือสื่อความหมายใดๆ ให้เข้าใจว่าการตัดสินใจทางการเมืองที่ล่อแหลมนั้นมีความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็แปลกที่หลายครั้งที่เมื่อรัฐบาลทำความดีความชอบอะไรก็มักบอกว่าอยู่ภายใต้การนำของคนนั้นคนนี้ พอท่าทางล่อแหลมก็มักจะบอกว่าเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกรัฐบาลต้องระมัดระวังว่า มีทั้งคนชอบคนชัง อย่าหวังพึ่งหรือหวังพิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะจะทำให้ความชอบความชังนั้นพลอยเปื้อนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย"นายธงทองกล่าว

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า มีการแบ่งพื้นที่ทางสังคมระหว่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งคิดว่าในไทยยังไม่บรรลุเส้นแบ่งที่พอดีระหว่างพื้นที่ทั้งสอง หลัง พ.ศ.2490 เป็นต้นมา มีการขยับขยายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกไปเรื่อยๆ จนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แนวโน้มนี้กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในไทย เพราะเมื่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขยายออกไปก็เท่ากับผลักในทางความเข้าใจและความรู้สึกของคนให้สถาบันต้องมารับผิดกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม

"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในอดีตรวมไปถึงเสนาบดีที่ทำตามพระบรมราชโองการด้วย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างคลุมเครือ เลยเปิดโอกาสให้เสนาบดีไปหลบอยู่ข้างหลังกฎหมาย แล้วปล่อยให้การโจมตีไปตกอยู่ที่สถาบัน พูดง่ายๆ คือ หลบอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ แล้วปล่อยให้ราชบัลลังก์ถูกโจมตีแทนตัวเอง ซึ่งเหมือนสมัยปัจจุบัน คนที่ควรจะออกมารับการโจมตีแทนก็ไม่ออกมา กลับไปอ้างหรือดึงเอาสถาบันมาปกป้อง" นายนิธิกล่าว

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการล้มเจ้าจากภาพที่คนเห็น มีจุดร่วมเดียวกันคือ ต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่ใช้สถาบันกษัตริย์มารังแกศัตรูทางการเมือง

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 อยู่ที่ข้อความในตัวกฎหมาย ประการแรกคือถ้อยคำในตัวกฎหมายนั้นกว้าง ประการที่สองอยู่ที่ตัวของผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งอาจจะจงรักภักดีมากเกินพอดีจนแยกแยะไม่ถูกว่าคำพูดนั้นเป็นการชื่นชม หรือเป็นการประชดประชัน ดังนั้นหากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ตีความหมายอย่างตรงไปตรงมา และศาลกล้าหาญที่จะตัดสินใจ การใช้ตัวบทกฎหมายนี้ก็ไม่มีปัญหา

ต่อมาในช่วงบ่ายมีการอภิปรายในหัวข้อ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ" โดยนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตัวกฎหมายยังมีปัญหาคือ 1.คำที่มีปัญหาคือ "ดูหมิ่น"เพราะถูกตีความกว้างขวางโดยไม่ดูบริบท 2.ความรุนแรงของโทษคือ 3-15 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับความผิดเป็นกบฏ 3.ยังมีช่องโหว่ของการเป็นผู้เสียหาย และ 4.มีความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรม เช่น สิทธิในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ตัวกฎหมายมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไข คือ ให้มีองค์กรทำหน้าที่วินิจฉัย

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายกลุ่มบุคคลที่นำสถาบันกษัตริย์มาใช้ประโยชน์ ด้วยการสรรเสริญจนเกินงาม และใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามว่าไม่ดี เอาประโยชน์ใส่ตัว คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 จึงควรจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษในตัวบทกฎหมาย เพื่อให้คนเกรงกลัวมากขึ้น แต่ที่สำคัญกว่าคือการบังคับใช้ ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเสมอภาค เนื่องจากความผิดนี้อยู่คนละส่วนกับคดีหมิ่นประมาท

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์