โพลชี้กว่าร้อยละ70ศรัทธาอภิสิทธิ์ไม่ลดลง-ข้อมูลเฉลิมไม่น่าเชื่อถือ

เอแบคโพลสำรวจความเห็นประชาชนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่กระเทือน"อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์" กว่าร้อยละ 70 ศรัทธาไม่ลดลง ระบุข้อมูลของ"เฉลิม"ไม่น่าเชื่อถือ ต้องการให้"เพื่อไทย"เป็นฝ่ายค้านต่อ

ดร.นพดล  กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ถึงผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey)”  ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงเรื่อง ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ(1,135 ตัวอย่าง)  ในวันพฤหัสบดีที่ 19  มีนาคม 2552  ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  พบว่าประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่คือร้อยละ 76.7 ระบุไม่ได้ติดตามรับชม/ไม่ได้ติดตามรับฟังการถ่ายทอดสดการถ่ายทอดสดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเช้าที่ผ่านมา

ขณะที่ร้อยละ 17.0 ระบุติดตามบ้าง และร้อยละ 6.3 ระบุติดตามตลอด

เมื่อสอบถามถึงการติดตามรับชมรับฟังการอภิปรายจำแนกตามรายบุคคลนั้นพบว่า ร้อยละ 74.7 ระบุได้ติดตามรับชม/รับฟังการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขณะที่ร้อยละ 25.3  ระบุไม่ได้ติดตาม

สำหรับการอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีนั้นพบว่า ร้อยละ 69.0 ระบุได้ติดตาม  ในขณะที่ร้อยละ 31.0 ระบุไม่ได้ติดตาม

สำหรับความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำมาอภิปรายนั้น พบว่า  ร้อยละ 34.4 ระบุข้อมูลในการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม   มีความน่าเชื่อถือ  ร้อยละ 19.4 ระบุเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และร้อยละ 46.2 ระบุไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับข้อมูลในการอภิปรายของ นายอภิสิทธิ์  พบว่าร้อยละ 62.0 ระบุน่าเชื่อถือ  ร้อยละ 17.5 ระบุเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และร้อยละ 20.5 ระบุไม่น่าเชื่อถือ
 
ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความนิยมศรัทธาที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดย ร.ต.อ. เฉลิม  นั้น  พบว่า ร้อยละ 27.6 ระบุนิยมศรัทธาลดน้อยลง  ในขณะที่ร้อยละ 72.4 ระบุไม่ลดน้อยลง

เมื่อสอบถามถึงความนิยมศรัทธาที่มีต่อนายอภิสิทธิ์  ภายหลังการอภิปรายฯ นั้น  พบว่า ร้อยละ 29.4 ระบุนิยมศรัทธาลดน้อยลง  ในขณะที่ร้อยละ 70.6 ระบุไม่ลดน้อยลง 

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อพรรคเพื่อไทยกรณีควรเป็นฝ่ายค้านต่อไป หรือควรกลับมาเป็นรัฐบาลนั้น พบว่า ร้อยละ 73.1 ระบุพรรคเพื่อไทยควรเป็นฝ่ายค้านต่อไปก่อน  ในขณะที่ร้อยละ 26.9 ระบุควรให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล 

สำหรับความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ประธานสภาฯ นั้นพบว่า ร้อยละ 19.4 ระบุพอใจมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 48.3ระบุพอใจค่อนข้างมาก   ร้อยละ 24.1 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 8.2 ระบุน้อย-น้อยที่สุด 

เมื่อสอบถามถึงบรรยากาศในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเช้าวันที่ 19 มีนาคม ผ่านมานั้น พบว่า ร้อยละ 17.0 ระบุพอใจมาก-มากที่สุด  ร้อยละ 53.0 ระบุพอใจค่อนข้างมาก   ร้อยละ 23.9  ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 6.1  ระบุน้อย-น้อยที่สุด ตามลำดับ อนึ่ง ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 54.8  เป็นหญิง  ร้อยละ 45.2  เป็นชาย  ตัวอย่างร้อยละ 7.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี  ร้อยละ 25.0   อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 23.5  อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี และ ร้อยละ  21.1  อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 74.0  สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือร้อยละ 23.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.6  สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี 

ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป   ตัวอย่างร้อยละ 27.7  ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว   ร้อยละ 13.9  ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ  10.9 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7  เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ  ร้อยละ  5.8  เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 4.6 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ 

ตัวอย่างร้อยละ 22.0  ระบุมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ  20.9  ระบุมีรายได้ 5,001 – 10,000 บาท   ร้อยละ 13.6 ระบุมีรายได้ 10,001–15,000 บาท ร้อยละ 11.1  ระบุมีรายได้ 15,001–20,000 บาท ร้อยละ 14.8  ระบุมีรายได้ส่วนตัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน  และร้อยละ 17.6 ไม่ระบุรายได้ส่วนตัวต่อเดือน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์