ไทยรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 ก.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,221 คน เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรที่จะมีการเลือกตั้ง 15 ต.ค.49ิ สำรวจระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2549 พบว่า ประชาชนร้อยละ 48.49 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่ามีรัฐบาลรักษาการมานานแล้ว ทำให้การทำงานบางอย่างต้องชะงัก ทำตามพระราชกฤษฎีกา ขณะที่ร้อยละ 24.89 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์การเมืองยังวุ่นวาย ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าใด ควรให้มีคำตัดสินเรื่องการยุบพรรคก่อน และร้อยละ 26.62 รู้สึกเฉย ๆ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนอยู่แล้ว เลือกตั้งทุกครั้งก็ยังเหมือนเดิม เบื่อการเลือกตั้ง
สำหรับกรณีที่มี กกต.เพียง 3 คนควรจะทำอย่างไรในการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.23 อยากให้ กกต.ลาออกทั้งหมดแล้วสรรหาใหม่ ขณะที่ร้อยละ 21.75 ให้สรรหา กกต.เพิ่มอีก 2 คนให้ครบ 5 คน และร้อยละ 11.57 ใช้ กกต.แค่ 3 คนที่มีอยู่
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สวนดุสิตโพลได้สอบถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ประชาชนคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรเว้นวรรคการเมืองหรือไม่ ปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 43.06 เห็นว่าควรเว้นวรรค โดยให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรีเคยประกาศเว้นวรรคไปแล้ว ก็ควรทำตามที่พูดไว้ สถานการณ์ทางการเมืองจะได้ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 28.41 เห็นว่าไม่ควรเว้นวรรค เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครที่จะเหมาะสมเท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ โครงการต่าง ๆ จะได้ดำเนินการต่อไป ไม่ต้องหยุดชะงัก และร้อยละ 28.53 รู้สึกเฉย ๆ โดยให้เหตุผลว่าเว้นหรือไม่เว้นก็มีค่าเท่ากัน และมองภาพรวมของพรรคมากกว่าหรือควรที่จะลาออกดีกว่า
ส่วนกรณีหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วคิดว่าบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรจะชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59 เห็นว่าไม่ควรชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง นักลงทุนไม่ค่อยกล้ามาลงทุนถ้าสถานการณ์ยังไม่สงบ มีเพียงร้อยละ 17.81 เห็นว่าควรชุมนุมต่อ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เว้นวรรค เป็นการให้ข้อมูลอีกด้าน และร้อยละ 23.19 รู้สึกเฉย ๆ โดยให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนมากกว่า อย่างไรก็ตามสวนดุสิตโพล ยังสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 46.44 ชอบพรรคไทยรักไทย ขณะที่ร้อยละ 39.56 ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.33 ชอบพรรคชาติไทย และร้อยละ 4.67 ชอบพรรคมหาชน