บัญญัติชี้ญัตติซักฟอกมุ่งดิสเครดิตนายกฯ หวังผลให้ยุบสภา

คมชัดลึก : “บัญญัติ” ย้ำญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องเก่าและให้เวลารัฐบาลทำงานน้อยมาก เชื่อมุ่งดิสเครดิตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยุบสภาก่อนกำหนด พร้อมยืนยันไม่หนักใจกรณีมีญัตติซักฟอก “ประดิษฐ์” กรณีเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจชี้แจงได้


 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 5 คนว่า เป็นญัตติที่สุด ๆ ใน 2 เรื่อง คือนำเรื่องที่เก่ามากมาเป็นญัตติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เรื่องหลีกเลี่ยงการเป็นทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อ 20 ปีมาแล้ว และเป็นญัตติที่ให้เวลารัฐบาลน้อยที่สุดคือ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งปกติจะให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างน้อย 5-6 เดือน อีกทั้งเนื้อหาสาระของญัตติก็ไม่ค่อยมีอะไร และไม่น่าจะตรงจุดมุ่งหมายของญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อดูญัตติแล้วคิดว่า มุ่งที่จะทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลทำงานไม่ได้และยุบสภาก่อนกำหนด

 “ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ยิ่งมาประกอบกับ 3 ยุทธศาสตร์ คือ ใช้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมทำกิจกรรม ต่อต้านและประท้วงไปเรื่อย ๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ และกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อขยายผล จึงไม่มีทางวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากมุ่งทำลายเครดิตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอ ทำงานไม่ได้ และบอกว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ประกาศบ่อยครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ผมคิดว่าทั้งหมดมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์นั้น”นายบัญญัติ กล่าว

 ส่วนที่มีการยื่นอภิปรายนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ด้วยนั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า คงเป็นเรื่องเงินบริจาค 258 ล้านบาท ซึ่งได้ชี้แจงมาหลายครั้งแล้วว่า เป็นการนำ 2 เรื่องมาปนกัน คือ เรื่องที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปว่าจ้างบริษัทแมสไซอะ ให้ประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ ซึ่งบริษัทได้ออกมาแถลงชัดเจน ว่า เป็นการประชาสัมพันธ์ของบริษัทโดยตรง ไม่เกี่ยวกับการบริจาคเงินให้พรรค และหากบริษัทเสียหายก็จะฟ้องร้อง จากนั้นเสียงวิจารณ์เรื่อง 258 ล้านบาทก็หายไป เหลือเพียง 23 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดวงเงินที่พรรคประชาธิปัตย์จ้างบริษัทแมสไซอะ ทำแผ่นป้ายโฆษณาทั้งใหญ่และเล็กจากงบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่มีการนำ 2 เรื่องนี้มาปนกัน และยังมีข่าวด้วยว่า รายงานที่ส่งไปยัง กกต.ลงชื่อนายอภิสิทธิ์ ทั้งที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อแพ้เลือกตั้งจึงลาออก และนายอภิสิทธิ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพอดี จึงมาลงนามในรายงานที่ทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

 “ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะ กกต.ออกมาให้ข่าวว่า ไปตรวจสอบหมดแล้ว ไม่ปรากฎว่า บริษัทนี้ได้บริจาคเงินให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงเชื่อว่า นายประดิษฐ์ ชี้แจงได้อยู่แล้ว แต่หากการอภิปรายครั้งนี้มีการพาดพิงมาถึงผม ก็คงต้องขอใช้สิทธิพาดพิงชี้แจง”กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
 ต่อกรณีที่มองกันว่า การยื่นญัตติเรื่องดังกล่าว หวังผลถึงการยุบพรรคนั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า เรื่องยุบพรรคคงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ที่กังวลคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไปตรวจสอบเรื่องบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีนักเลงไปซื้อพยานเพียง 1-2 คนว่า ให้ช่วยเบิกความพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสังคมอาจตื่นเต้นได้ เพราะฟังดูน่าเชื่อถือ แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีจะทราบดีว่า ลำพังพยานปากหนึ่งปากใด ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างสรุปตามนั้น จึงไม่ค่อยวิตกกังวล และเชื่อว่า จะไม่มีการหักหลังกัน

 “ครั้งนี้เขาคงอภิปรายสนุก เพราะที่นั่นมีพนักงานสอบสวนอยู่หลายคน แต่ถ้าเรามั่นใจว่า เราไม่มีอะไร เราสุจริต ก็เท่านั้นเอง ดังนั้นผมคิดว่า ไม่น่าจะมีอะไรมากกว่าที่คุณสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย นำมาอ่านในสภาฯ และที่คนเสื้อแดงเอามาอ่านหลายครั้งหลายหน หรือถ้ามากไปกว่านั้น อาจจะมีการเตี๊ยมพยานเพิ่มเติมไปอีก 1-2 คน ไปให้การเพิ่มเติมที่ดีเอสไอในภายหลัง ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ เพราะเราไม่ได้แทรกแซงการทำงานของเขา แต่ผมคิดว่า มันหักล้างได้ เพราะอะไรที่ไม่มีอยู่จริงมาทำให้มีอยู่จริง ก็เป็นภาวะชั่วคราว เราไม่ได้ปรามาสฝีมือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่ผมมั่นใจในความสุจริตคนของพรรค ส่วนเขาเองก็มีสิทธิจินตนาการ เพราะคนเป็นพนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่จินตนาการ”นายบัญญัติ กล่าว

 เมื่อถามว่าจะรับรองรัฐมนตรีพรรคอื่นด้วยหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า ยังเชื่อว่ารัฐมนตรีเกือบทุกคนในวันนี้ยังไม่มีอะไรผิดพลาด เพราะเวลาที่เข้ามาบริหารนั้นยังสั้นมาก และช่วงหลังคิดว่า คนที่มาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ทราบดีว่า เป็นการทำงานภายใต้การเอาแพ้เอาชนะระหว่างกัน การจ้องจับผิดมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะทำอะไรต้องดูว่ามีอำนาจตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ และช่วงเวลาแค่นี้ คิดว่าฝ่ายค้านใจร้อน แต่อย่างที่ตั้งข้อสังเกตคือ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้แล้วว่า ต้องทำเช่นนี้ เพราะถ้าไม่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะต้องรอไปอีก 1 ปี เนื่องจากสมัยประชุมหน้าจะยื่นญัตติดังกล่าวไม่ได้แล้ว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์