สมคิดเตือนรมว.คลังเจอศึกหนักหากศก.สหรัฐฯไม่ฟื้น

เวลา 19.30 น. วันที่ 13 มีนาคม ที่ห้องประชุมเจริญศรี โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล เทศบาลนครอุดรธานี ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหอการค้า จ.อุดรธานี การเลือกตั้งกรรมการหอการค้า จ.อุดรธานี และฉลองครบรอบ 25 ปีหอการค้า จ.อุดรธานี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รับเชิญบรรยายพิเศษเรื่อง
เศรษฐกิจประเทศไทย โดยมีนายอำนาจ ผการัตน์ ผวจ.อุดรธานี และนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รักษาการประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นำสมาชิกหอการค้า จ.อุดรธานี ร่วมรับฟังมากกว่า 300
คน นายสมคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไปที่ไหนก็มักจะได้ยินสองคำถาม หนึ่งมันจะแย่ไปกว่านี้อีกไหม สองเมื่อไหร่มันจะเริ่มดีขึ้น สองคำถามนี้เหมือนเคยได้ยินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 แต่สองครั้งมีความแตกต่างค่อนข้างมาก เมื่อท่านทราบความแตกต่าง ท่านจะได้เตรียมตัวให้ได้ถูก ในปี 40 วิกฤตการณ์เกิดขึ้นภายในประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ขณะนั้นมันเป็นวิกฤตฟองสบู่ ที่เราเปิดเสรีทางการเงินเร็วเกินไป และไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ทำให้ภาครัฐและเอกชนเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ค่อยข้างง่าย สามารถกู้เงินได้ง่าย และอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เงินที่ได้ไปลงทุนเก๋งกำไร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น

ซึ่งเหมือนฟองสบู่ที่ถูกฉีดเข้าไปแล้วก็ลอยขึ้นมา ขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอ่อนแอ ขณะนั้นการส่งออกเริ่มแย่ลง เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงประมาณร้อยละ 8 ของ จีดีพี มาถึงจุดหนึ่งฟองสบู่เริ่มแตก

อุปสงค์ในตลาดไม่สามารถรองรับสินค้าที่ผลิตออกมาได้ เอ็นพีแอล ของแบงก์เริ่มขยายตัวมากขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นเริ่มลดลงมาเหลือไม่เท่าไหร่ ธุรกิจส่วนใหญ่กู้หนี้ยืมสินจากแบงก์เริ่มล้มละลาย เอ็นพีแอลแบงก์เพิ่มมหาศาล ขณะเดียวกันภาครัฐบาลก็กู้หนี้ยืมสินจำนวนมาก นี่คือจุดเริ่มต้นวิกฤติปี
40 แต่ขณะนี้สถานการณ์ต่างกัน ปัญหาเริ่มจากงบประมาณ 2-3
ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยว การลงทุนเริ่มชะลอตัวลง ขณะภาวะจากภายนอกเริ่มจาก ธนาคารสหรัฐเริ่มล้มลง จากการปล่อยสินเชื่อเครดิตต่ำ จนกระทั่งหนี้มีปัญหาเอ็นพีแอลแบงก์เพิ่มสูงขึ้น ประมาณเดือนกันยายน ตุลาคมปีที่แล้ว มีผู้ใหญ่บางท่านในประเทศไทยบอกว่า การล้มลงของสถาบันการเงินนั้นไม่เป็นไร มันเกิดขึ้นที่อเมริกาไม่น่าจะมีผลถึงเมืองไทย

นายสมคิด กล่าวอีกว่า แต่ประสบการณ์ปี 40 ทำให้เห็นว่าภัยกำลังมา แต่ปริมาณจะต่างกับปี 40 เพราะ

1.นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นขณะนั้น ไม่ทราบว่ามันแทรกซึมในสถาบันการเงินแห่งไหนบ้างขณะนี้ ทางการตามไม่ทัน มันก็พร้อมจะระเบิดขึ้นมาทุกจุดในโลก ,

2.
โดยปกติเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา มันก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีปัญหาตามมาทันที เมื่อแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้เศรษฐกิจจริงกลัวมีปัญหา เอ็นพีแอล กำลังจะตามมา

3. ปัญหาทางการเงินมันไม่มีพรมแดน เกิดปัญหาในอเมริกาทำให้ยุโรปล้มได้ แต่ไม่มีใครประเมินได้ว่ามากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ลามไปยุโรป เอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มิติทางการเงินก็แพร่ตามมา อเมริกาเป็นตลาดใหญ่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ประเทศไทยที่ส่งสินค้าออกก็รับผลกระทบไทย เดือนมกราคมติดลบ 25 เปอร์เซ็นต์ ลามจากแฟคเตอร์หนึ่งไปยังอีกแฟคเตอร์หนึ่ง ขึ้นอยู่กับแฟคเตอร์ไหนกระทบจากอเมริกามากกว่าใคร โรงงานเริ่มทยอยปิดกิจการ คนงานก็เริ่มว่างงาน มันค่อยๆเข้ามา เหมือนเขื่อนพังทีละเขื่อน บางคนไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า นักธุรกิจตัวเบิ้มๆขณะนี้หายใจไม่ออก มันต่างกับปี 40 ที่เกิดขึ้นภายในทันที ครั้งนี้ข้างในมันไม่มีปัญหา แต่มันมาจากนอกประเทศผ่านการส่งออก แล้วถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ภายในประเทศ ที่เกิดการชะลอตัวการบริโภค การท่องเที่ยว เมื่อ 2-3
ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว นักลงทุนที่จะลงทุนก็กำลังย่ำแย่ นักลงทุนระยะยาวจากต่างประเทศ บอกว่าขอบายพาตประเทศไทยชั่วคราว ขอดูก่อนว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะดีขึ้น การบริโภคภายในประเทศจึงเป็นหลักใหญ่ เพราะไม่สามารถหวังส่งออกได้

ขณะที่การบริโภค
6 เดือนในประเทศไทย มีแต่ข่าวร้ายทั้งนั้น ผู้บริโภคมีเงินเริ่มกลัวการซื้อ ไม่เคยเห็นสินค้าประเภทบะหมี่สำเร็จรูป-เครื่องดื่มชูกำลัง
ยอดขายตก

นักธุรกิจต้องประหยัดค่าใช้จ่าย โฆษณาไม่จำเป็นไม่โฆษณา ปรับเปลี่ยนใช้วิธีอื่น ทุกคนตั้งการ์ดรับสภาพ ในบรรดาเครื่องยนต์ผลักดันเศรษฐกิจ ส่งออก ลงทุน บริโภคภายใน เหลืออยู่ตัวเดียวที่พอกระตุ้นได้คือ
การท่องเที่ยว จากปลายปีแล้วแล้วเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ถ้ารายได้ตัวนี้ขับเคลื่อนได้ดีพอ อย่างน้อยก็ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เผาเกินไป ที่ผ่านมาทำไมไตรมาศ 4 จีดีพี. เหลือแต่ติดลบ 4.3 เปอร์เซ็นต์ 
  

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ถามว่าแล้วปีนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าอเมริกาไม่ดีขึ้น อย่าหวังว่าส่งออกจะดีขึ้น ฝันลมๆแล้งๆเลย เพราะอเมริกาเหมือนเราตอนปี
40 หนี้เสียในแบงก์อเมริกายังไปไม่ถึงไหน ของเราปี 43-44 ตั้ง บสท.เอาหนี้เน่าเข้าไปไว้ แบงก์จึงเดินได้ ปล่อยสินเชื่อได้ อเมริกามีสภาพเหมือนประเทศไทยปี 40
ถ้าอเมริกาแก้ไม่ได้ รัฐมนตรีคลังตายแน่นอน

ถ้าปีนี้ทั้งปีอเมริกาไม่พลิกนโยบาย อย่างรุนแรงและกล้าหาญ อเมริกายังไม่ฟื้นในปีนี้ และถ้าไม่ฟื้นยุโรปยิ่งหนักใหญ่ ฉะนั้นการส่งออกของไทยในปีนี้อ่วมแน่นอน มีโอกาสได้คุยกับอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก คาดว่าปีนี้จะลบ
20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบ เอสเอ็มอีกว่า 10,000 ราย จ้างงานเป็นแสนคน ฉะนั้นผลพวงทางสังคมมีสูงมาก เครื่องมือตัวที่สองการลงทุน อย่าฝันเฟื่องว่าปีนี้ จะมีผู้ลงทุนมหาศาลเป็นไปไม่ได้ ทุกคนถูกผลกระทบอันนี้ทั้งโลก การลงทุนจึงมีเพียงการต่อเนื่อง และประคองตัวเท่านั้นเอง การบริโภคในประเทศ หากสภาวะเป็นอย่างนี้ ก็คงจะไม่ต่างกับปีที่แล้ว คนไทยระดับบนมีเงินก็ไม่ใช้ เพราะไม่มั่นใจอนาคตข้างหน้า

คนชั้นกลางมีเงินก็ไม่กล้าใช้เพราะไม่แน่ใจว่าจะตกงานหรือไม่ รากหญ้าไม่ต้องพูดถึงถูกกระทบแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่โรงงาน พึ่งพาสินค้าเกษตร ซึ่งปีนี้ท่าทีราคาจะไม่ดี ท่องเที่ยวดีปลายปีจะดีขึ้น รายจ่ายภาครัฐคือความหวัง ถ้ารัฐบาลทำดีมีประสิทธิภาพ ผลักเงินออกไป ก็พอประคองไปได้ ปีนี้ยังคงติดลบแน่นอน ลบเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาล ว่าจะขับเคลื่อนได้ดีเพียงใด ถ้ายังไม่สามารถปั้มเงินออกมา งบลงทุน
4-5 แสนล้านบาทจะมีปัญหา เพราะถ้ามาอยู่ในรัฐบาลจะรู้ว่า ช่องทางราชการมันยาวมาก ถ้างบราชการไม่ออก ภาคเอกชนก็เชื่อมต่อไม่ได้ โครงการก่อสร้างทั้งหลาย เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งสิ้น ถ้าทำดีก็ติดลบอยู่ที่ 4 ถ้าทำไม่ได้ก็ตัวใครตัวมัน  
 

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า วันนี้เราต้องพูดความจริงกันก่อน เพื่อจะได้เคลียร์บ้านเมืองกันได้ ตนว่ารัฐบาลทำงานเต็มที่ หวังว่าสภาวะเศรษฐกิจ จะสามารถประคองตัวได้พอสมควร ถ้าปีหน้าอเมริกาดีขึ้น เราก็น่าจะส่งออกได้ดีขึ้น ข้อที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ


1.อย่าละเลยการส่งออก แม้ว่าจะขายได้ยาก อำนาจซื้อน้อย ถ้าเราไม่พยายามผลักดันการส่งออก แล้วมาตั้งรับภายในประเทศ เราจะเกิดภาวะการตกงาน และเมื่อเริ่มสต็อกใหม่เราจะเสียมาร์เก็ตแชร์ ,

2.ปัญหาการตกงานน่าเป็นห่วงมาก อย่าให้เกิดปัญหาสังคม จะยันอย่างไรที่โรงงาน ที่จังหวัด อำเภอ ไม่ใช่ไปยันที่กรมแรงงานอย่างเดียว ยันไม่ดีจะเกิดปัญหาสังคม รวมไปถึงนักศึกษาจบใหม่ปีละ 7-8 แสนคน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะลามเข้าส่วนกลาง ,

3.เตือนด้วยความหวังดีเรื่องสภาพคล่อง แบงก์จะไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่ก็โทษแบงก์ไม่ได้ ต้องหมั่นพูดกับนายแบงก์ ในฐานะนักธุรกิจหากอเมริกาไม่ดีขึ้น ให้ระวังเรื่องการใช้เงิน , สภาพคล่องสินเชื่อ และตามหนี้ เราต้องเตรียมตัวไว้ไม่ประมาท รัฐบาลว่าให้ช่วยอะไร เราก็ช่วยเต็มที่ เพราะเป็นความหวังประชาชน เขาทำไม่ดีเราก็ลากเร็วหน่อย พูดง่ายๆคือต้องดำน้ำนาน 2 ปี เราต้องพึ่งการส่งออก จีดีพี 60 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการส่งออก เพราะประเทศไทยคนจน ไม่มีกำลังซื้อ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาความจนจะมีปัญหา ช่องว่างรายได้ห่างออกทุกวัน ขณะที่สินค้าส่งออกเป็นสินค้าพื้นฐาน ไม่มีการพัฒนาเพิ่มมูลค่า จะมีปัญหาในอนาคต

นายสมคิด เสนอให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา หลังจากประสบการณ์บริหารประเทศ
6 ปี โดยจะต้องปฏิรูประบบการศึกษา หากไม่ทำอีก 10 ปีในจะทรุดเหมือนขั้นบันได

แต่การจะปฏิรูปได้การเมืองต้องแข็ง ถ้าการเมืองไม่แข็งทำไม่ได้ ทุกอย่างเดี๋ยวม็อบมาแล้ว สิงคโปร์บอกเอาคนเก่งมาเป็นครู คนที่ท็อปเท็นมาเป็นครู ให้รายได้สูงกว่าอาชีพอื่น เกาหลีใต้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด มีกระทรวงวิทยายาศาสตร์และการศึกษาเป็นอันเดียวกัน แต่ไทยเราครูมีหนี้สินเต็มตัว ยังคุยเรื่อง
12 ปี 15 ปี การศึกษาฟรีอยู่ ประชาธิปไตยทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่ต้องมีจิตสำนึก ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีประเทศไหนบ้างตั้งสามีไม่ได้ ตั้งภรรยามาเป็นรัฐมนตรีแทน มีประเทศไหนในโลกนี้บ้างที่ซื้อกัน 15 ล้าน 20 ล้าน แบ่งเป็นเกรด เกรด เอ.20 เกรด บี 15 เกรด ซี.10 เกรด ซี.ตนเองยังไม่ให้ การเมืองอย่างนี้จะปฏิรูปการเมือง อย่างจริงจังให้มีความทันสมัย ทำได้หรือไม่ คนมีคุณภาพอยู่ในภาคเอกชน แต่คนไทยบอกว่าค้าขาย การเมืองไม่เกี่ยว แต่การเมืองที่พัฒนาแล้ว

การเมืองเริ่มจากภาคเอกชน ผ่านหอการค้า สมาคมการค้า รวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ส่งคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ประเทศที่พัฒนาไปไกลๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพนักการเมือง ที่อยู่ในสภา ที่บริหารประเทศ

ถ้าเรามีบุคลากรเกรด ซี. ก็กำไรเกรด ซี. ถ้าท่านไม่มีบทบาททางการเมืองที่เข้มแข็ง อยากอยู่ข้างหลัง คิดอย่างเดียวมีโอกาส รู้จักนักการเมืองคนนั้นซะ เพื่อจะได้ช่วยเราอนาคตข้างหน้า ท่านคิดผิด เพราะท่านจะเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา หากท่านรวมกัน มีส่วนร่วม ท่านจะไม่ถูกกระทำ ท่านจะชี้นำว่าการเมืองไปอย่างไร
นายสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า เปรียบเทียบประเทศจากระบบเผด็จการ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้โดยการนำขอ บักจุกฮีและประเทศฟิลิปปินส์ นำโดย มาคอส พอแต่ละคนจากไปมีความแตกต่างกัน เกาหลีใต้มีความต่อเนื่อง เดินหน้าปฏิรูปตามรอยที่วางไว้ จนบ้านเมืองไปไกลมากแล้ว ต่างจากฟิลิปปินส์ ผู้นำต้านแรงนักการเมืองไม่ไหว คนหนึ่งลงคนหนึ่งขึ้น ปฏิรูปไม่สำเร็จ วันนี้ทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างไร เหมือนเมืองไทยขณะนี้ เราอยู่บนทาง 2 แพร่ง ถามว่าท่านอยากเป็นฟิลิปปินส์ หรือเกาหลีใต้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์