ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสุจิต บุญบงการ คณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา รับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองระบุว่าได้มีการส่งหนังสือไปยัง ครม. เพื่อแจ้งมติกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าในเรื่องการตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวว่า ยังไม่มีการส่งหนังสือไปยัง ครม. เพราะเมื่อ ครม. ทำหนังสือถึงตนในฐานะทีเป็นประธานกรรมการสถาบันฯตนก็ต้องเป็นคนตอบ ซึ่งขั้นตอนตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะส่งหนังสือไป ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะไม่ส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการด้วยนั้น ต้องหารือร่วมกันกับทุกฝ่าย เพราะการทำงานครั้งนี้จะใช้คำว่าปฎิรูปไม่ได้เพราะไม่เกิดผล เราใช้คำนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่มาถึงวันนี้ก็ไม่สามารถปฏิรูปได้ ดังนั้นต้องใช้คำว่าพัฒนาประชาธิปไตย โดยต้องศึกษาระบบการเมือง สภาพปัญหาโดยละเอียด
นายชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการสรรหาผู้มาเป็นคณะกรรมการในส่วนของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถเสนอชื่อได้ 1 คนนั้น
ภายหลังจากรัฐบาลมีหนังสือตอบกลับในมติของสภาสถาบันที่ตั้งคณะกรรมการ ตนจะถามที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพราะในสภาฯมีหลายพรรคการเมือง จึงต้องที่ประชุมเลือกกันเข้ามา ซึ่งตนเห็นว่าองค์ประกอบของกรรมการต้องมีทั้งส.ส.และส.ว.เข้าไปร่วมกลุ่มละ 1 คน แต่ไม่ใช่เอาไปมากมายเป็น 108 เหมือนที่ผ่านมา ส่วนตำแหน่งในกรรมการก็อยู่ที่ 50 คนจะเลือกว่าใครจะทำหน้าที่ประธาน หรือจะเป็นนายสุจิต เหมือนเดิมก็แล้วแต่
สำหรับปัญหาที่กลุ่ม นปช. และฝ่ายค้านไม่ยอมรับการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องพยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
แต่หากยืนยันว่าไม่ต้องการเข้ามาร่วม แสดงว่าเขาไม่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามหากมีการประสานงานพูดคุยกันตนก็พร้อมที่จะเป็นตัวประสานงานให้มาพูดคุยกันได้ สำหรับกระบวนการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดคร่าวๆไว้ 2 ระยะคือ 5 เดือนแรก เป็นการตั้งคณะกรรมการและสำรวจสภาพปัญหา ศึกษาแนวที่จะพัฒนาประชาธิปไตย ส่วน 3 เดือนหลังจะมาสรุปผลเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนจะสำเร็จได้หรือไม่ อยู่ที่ฟ้าดินจะโปรด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นักวิชาการที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ นายชัย กล่าวว่า ตอนนี้ก็หนีหน้ากันไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.50)หรือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวถูกด่าไม่ขอร่วมเป็นกรรมการแต่ให้แนวคิดต่างๆได้ เมื่อถามว่า ยังมีกระแสคัดค้านจากฝ่ายค้านที่ไม่ยอมรับตัวนายสุจิต ที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ นายชัยกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ เมื่อนายสุจิตเป็นประธานสภาพัฒนาการเมืองอยู่เหมือกับเรามีครูใหญ่ในโรงเรียนถ้าไม่ใช้ครูใหญ่ทำงานแล้วจะใช้ใคร
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ กับการทำงานครั้งนี้ นายชัย กล่าวว่า ตอนนี้ตนกำลังอยู่ท่ามกลางเผือกร้อน แต่ตนจะไม่โยนให้ใคร จะพยายามให้มีเมฆหมอกมาปกคลุมเพื่อให้เกิดฝนตก
ทำให้เกิดน้ำแข็งลงมาชโลมให้ความร้อนหายไป วันนี้ตนได้คุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีท่านก็อยากปลดแอกตัวเอง ตอนนี้ห่วงเรื่องสมานฉันท์ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง ไม่อยากออกไปทำงานแล้วเจอเสื้อแดงขับไล่ ตนเห็นว่าท่านมีความเสียสละ ทำงานเพื่อบ้านเมืองและพัฒนาประชาธิปไตย ท่านเป็นคนหนุ่มที่มีพลังในการทำงานอย่างแข็งแกร่ง
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกมาระบุว่าการตั้งคณะกรรมการอิสระฯเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด นายชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากปี 40 มารัฐธรรมนูญปี 50 แล้วยอมรับกันหรือไม่
อย่างไรก็ตามนักการเมืองที่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะไม่อยากถูกรังแก โดยเฉพาะ มาตรา 237 ที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคเพื่อได้ทุ่มเทหาเสียงกันอย่างหนัก แต่ตนก็สงสัยว่าพอมาอยู่ในสภาฯทำไมไม่อยากมาร่วมประชุมกัน อย่างไรก็ตามสำหรับนายบรรหาร ควรเข้ามาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เพราะเคยเป็นผู้ริเริ่มในการปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ซึ่งตนอยากเชิญให้นายบรรหารเข้ามาร่วมด้วย และในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนกับรถยนต์ที่โช๊คอัพเสียก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการมองดูปัญหาทั้งระบบไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.