โปรดเกล้าฯพรฏ.เลือกตั้ง15ตุลา พระราชประสงค์สงบ-ยุติธรรม

คม-ชัด-ลึก

โปรดเกล้าฯพรฏ.เลือกตั้ง15ตุลา พระราชประสงค์"สงบ-ยุติธรรม"
โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง 15 ต.ค.แล้ว เผยในหลวงมีพระประสงค์อยากเห็นประเทศสงบ-เลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม "ทักษิณ" ได้ทีจี้สรรหา 2 กกต.เพิ่ม ขณะที่ศาลฎีกาย้ำ กกต.ต้องลาออกก่อนจึงจะสรรหาใหม่ ด้านฝ่ายค้านประกาศพร้อมลงเลือกตั้ง ส่วนพันธมิตรชี้หาก "ทักษิณ" ลงเลือกตั้งก็ยังเดินหน้าไล่ต่อ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 กำหนดให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ต่อมามีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า การดำเนินการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรมไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 มาตรา 3 มาตร 104 วรรคสาม และมาตรา 144 และเมื่อกำหนดเวลาที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ได้ล่วงพ้น 60 วันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ไปแล้ว จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ต่อไป

บัดนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งว่า ได้หารือพรรคการเมืองแล้ว จึงเสนอให้วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมและเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งมีเวลาเพียงพอในการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างทัดเทียมกัน และให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ สมควรตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงระยะเวลาที่แน่นอนในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยทั่วกัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 116 มาตรา 221 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549"

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2549 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ทรงพระประสงค์จะเห็นประเทศสงบ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายรองพล เจริญพันธุ์ รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีวันเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม โดยทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ก่อนเสด็จฯ เข้ารับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในบ่ายวันเดียวกัน

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว อนึ่ง ในการนี้ได้มีหนังสือของนายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ อัญเชิญพระราชกระแสประกอบพระราชกฤษฎีกามาด้วย ตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น ที่ได้เชิญพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปแล้วนั้น ในการนี้ได้มีพระราชกระแสประกอบพระราชกฤษฎีกา ความว่า เหตุผลที่ทรงพระปรมาภิไธย คือ 1.มีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประเทศชาติกลับสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว 2.มีพระราชประสงค์ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง

เมื่อถามว่าศาลฎีกาเคยชี้ว่า กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งต่อไปได้อีก น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนการประกาศพระราชกฤษฎีกาก็ต้องเป็นไปตามที่ประกาศในวันนี้ ส่วนเรื่องอื่นให้เป็นเรื่องที่ว่าไปตามกระบวนการ เรายังไม่สามารถคาดได้ หมายความว่าขบวนการดังกล่าวจะมีผลออกมาในทางใด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้

รัฐบาลโล่งอกหาทางออกได้

เมื่อถามว่า เป็นกระแสพระราชดำรัสถึงรักษาการนายกฯ โดยตรงใช่หรือไม่ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นพระราชกระแสที่ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญมาให้รักษาการนายกฯ ส่วนกฎหมายเลือกตั้งก็จะต้องดำเนินการต่อไป แต่ที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยทำให้เดินหน้าต่อไปเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเลือกตั้งครั้งใหม่ และ กกต.ชุดเดิมดำเนินการ สังคมก็ไม่ยอมรับอีก น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในพระราชกฤษฎีกาให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ ดังนั้น กกต.ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องอื่นๆ เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะเรื่องยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีโปรดเกล้าฯ ลงมา รัฐบาลโล่งอกเลยใช่หรือไม่ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาล มองว่าทุกฝ่ายอยากเห็นทางออกของบ้านเมืองอยู่ที่ใด ในการที่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็ถือว่าทำให้บ้านเมืองมีทางออก ทุกฝ่ายจะเห็นว่าเรากำลังเดินไปสู่ทางออกที่เป็นไปตามประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งวันที่ 15 ตุลาคม

ด้านนายรองพล เจริญพันธุ์ รักษาการเลขาฯ ครม.กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้ว สำนักงานเลขาธิการ ครม.ก็ได้ลงในประกาศพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะแจ้งให้สภา และ กกต.รับทราบ และดำเนินการต่อไป

"ทักษิณ" จี้สรรหา 2 กกต.เพิ่ม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549 ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ว่า ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน คิดว่าทางรัฐบาลเปิดกว้าง พร้อมที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย อย่างที่เคยพูดมาตลอดเวลา อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ กกต.ทั้ง 3 คนยังอยู่จัดการเลือกตั้ง อาจทำให้หลายฝ่ายไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า หวังว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจะตั้ง กกต.เพิ่มมาอีก 2 คน เพื่อให้ทันการเลือกตั้ง และจะเชิญชวนคนที่มาดูการเลือกตั้ง ที่เรียกว่าโพลล์ วอทช์ เพื่อมาดูการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ

ถามว่า ถ้า กกต.ทั้ง 3 คนยังอยู่ ฝ่ายค้านไม่ยอมรับจะทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมีปัญหาหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า "อย่าไปถ้า นี่ ! เป็นเวลาสมานฉันท์"

วีระชัยปัดออก-กกต.พร้อมลุยเลือกตั้ง

นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ว่า หลังทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็มีขั้นตอนของ กกต.อยู่แล้วที่จะเตรียมการ วางแผน จัดสรรงบประมาณ และจัดประชุม กกต.จังหวัด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ ซึ่ง กกต.สามารถเตรียมการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทัน

ส่วนที่ขณะนี้ปัญหาการพิจารณาเรื่องยุบพรรคการเมืองยังไม่จบจะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายวีระชัย กล่าวว่า การยุบพรรคเป็นเรื่องของการเมือง กกต.ไม่เกี่ยว เมื่อมีการลงพระปรมาภิไธยแล้ว กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งต่อไป ส่วนพรรคไหนจะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ใช่เรื่องของ กกต.

นายวีระชัย ยังกล่าวถึงการที่ขณะนี้ กกต.มีปัญหากับกระแสความศรัทธาจากพรรคการเมืองและสังคม จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดการยอมรับได้หรือไม่ว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของการเมือง แต่ กกต.ก็มีหน้าที่ทำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

เมื่อถามถึงกรณีว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่านายวีระชัยจะลาออก เมื่อมีพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว แสดงว่าจะไม่ลาออกแล้วหรือไม่ นายวีระชัย กล่าวว่า เรื่องลาออก ผมว่าเลิกพูดได้แล้ว

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าถ้าลาออกตอนนี้เกรงจะผิดกฎหมายหรือไม่ นายวีระชัย กล่าวว่า ผมไม่ได้บอกว่าผมจะลาออก และก็ไม่เห็นมีว่าใครจะลาออก

ด้าน พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่เห็นรายละเอียด

และเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาออกมาเช่นนี้ และมีผลบังคับใช้แล้ว กกต.ทั้ง 3 คน โดยเฉพาะประธาน กกต.ยังคิดที่จะลาออกหรือไม่ พล.ต.อ.วาสนา กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่มีความเห็น

ทรท.ปฏิเสธกดดันพระราชอำนาจ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยกดดันพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า กำหนดวันเลือกตั้งเป็นไปตามกลไกทุกอย่าง มีการประชุมหารือร่วมกับ กกต.เพื่อหาวันที่เหมาะสม และคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบแล้ว รวมทั้งยังเป็นไปตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้แก้ไขกำหนดการเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภา ซึ่งการที่พรรคไทยรักไทยยืนยันที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ก็เป็นไปตามนั้น โดยไม่ได้จะไปก้าวล่วง หรือกดดันอะไร

ศาลชี้ กกต.ต้องออกถึงจะสรรหาใหม่

นายวิรัตน์ ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า ถึงแม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคมนี้แล้ว โดยส่วนตัวเห็นว่าคงเป็นไปตามจุดยืนเดิมของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ปฏิเสธการสรรหา กกต.เพิ่มแทนตำแหน่ง กกต.ที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง โดยต้องการให้ กกต.ที่เหลืออยู่ทั้ง 3 คนลาออก แล้วที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงจะทำการสรรหา กกต.ชุดใหม่ทั้งชุด

"แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนไปเนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาแล้วก็ตาม แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่า เมื่อเคยมีมติของประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกมาแล้วในเรื่องนี้ว่า ต้องสรรหา กกต.ใหม่ยกชุด ไม่ใช่สรรหาเพิ่มเติมแทนตำแหน่งที่ว่าง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น กลับมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้แล้ว" เลขานุการศาลฎีกา กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์